กระบี่ - เกษตรกรเลี้ยงปลากระชังกว่า 10 ราย ต.ไสไทย อ.เมือง จ.กระบี่ เริ่มเครียด หลังพบปลาที่เลี้ยงไว้ทยอยตายไม่หยุด สูญเงินนับแสนบาท ด้านเจ้าหน้าที่ประมงคาดสาเหตุการตายเกิดจากเชื้อแบคทีเรียแพร่ระบาด
เวลา 10.00 น. วันนี้ (30 เม.ย.) เจ้าหน้าที่ประมงอำเภอเมือง จ.กระบี่ และเจ้าหน้าที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงชายฝั่งกระบี่ ได้ลงสำรวจกระชังเลี้ยงปลาเก๋าเสือ และปลาเก๋าลูกผสม ซึ่งเป็นปลาทะเลของเกษตรกรบริเวณปากน้ำกระบี่ ในพื้นที่ หมู่ที่ 7 ต.ไสไทย อ.เมืองกระบี่ หลังจากที่ได้รับเรื่องร้องเรียนจากชาวบ้าน โดยได้ทำการเก็บตัวอย่างของน้ำ และปลาเพื่อนำไปตรวจพิสูจน์หาสาเหตุการตายของปลาอย่างละเอียดอีกครั้ง หลังพบปลาของเกษตรกรทยอยตายอย่างต่อเนื่อง โดยบางรายพบว่าปลาตายเกือบหมดกระชัง สร้างความเดือดร้อนให้เกษตรกรเป็นอย่างมาก เนื่องจากบางรายลงทุนในการเลี้ยงปลาไปแล้วหลายแสนบาท
นางกาญจนาพร ไมตรีจร อายุ 40 ปี เจ้าของกระชังปลากล่าวว่า ตั้งแต่ช่วงเทศกาลสงกรานต์เป็นต้นมาปลาที่ตนเลี้ยงไว้ในกระชัง ประกอบด้วย ปลาเก๋าเสือ ปลาเก๋าลูกผสม และปลากะพง รวมจำนวนกว่า 3,000 ตัว เริ่มทยอยตายอย่างต่อเนื่องโดยไม่ทราบสาเหตุ ประกอบกับยังพบว่าเกษตรกรที่เลี้ยงปลากระชังบริเวณปากแม่น้ำกระบี่นับ 10 ราย ปลาที่เลี้ยงไว้ต่างทยอยตายกันทุกราย ซึ่งก่อนหน้านี้ ทางเจ้าหน้าที่ประมงอำเภอเมือง และเจ้าหน้าที่จากศูนย์วิจัยฯ ได้ลงมาสำรวจเก็บตัวอย่างน้ำ และปลาไปตรวจพิสูจน์แล้วครั้งหนึ่ง พบมีเชื้อแบคทีเรียชนิดวิเวโอในท้องปลา จึงทำให้ท้องปลาบวม และตายในที่สุด
“ตนเองต้องทนเลี้ยงปลาต่อไปเพราะได้ลงทุนเลี้ยงไปแล้วกว่า 30 กระชัง ลงทุนไปแล้วกว่า 200,000 บาท และต้องรออีกหลายเดือนจึงจะสามารถจับขายได้ และที่น่าเป็นห่วงช่วงนี้อากาศแปรปรวนบางช่วงฝนตกหนัก และบางช่วงแล้งจัดอากาศร้อน ทำให้สภาพน้ำในแม่น้ำกระบี่เปลี่ยนไปด้วย จึงน่าจะเป็นสาเหตุทำให้มีการแพร่ระบาดของโรค และตอนนี้เริ่มเครียดมาก เพราะปลาที่เลี้ยงไว้ทยอยตายไม่มีท่าทีว่าจะหยุด ถึงแม้ว่าทางเจ้าหน้าที่ประมงจะแนะนำให้ใช้ยาปฏิชีวนะกลุ่มออกซีเตตร้าชัยคลิน ผสมในอาหารรักษาปลาแล้วก็ตาม” นางกาญจนาพรกล่าว
ด้าน นายไพบูลย์ บุญลิปตานนท์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงชายฝั่งกระบี่ กล่าวว่า จากการเก็บตัวอย่างของน้ำทะเลบริเวณกระชังเลี้ยงปลาของเกษตรกรในพื้นที่ ม.7 ต.ไสไทย มาตรวจพิสูจน์หาสาเหตุการตายของปลาในครั้งแรก เมื่อวันที่ 21 เมษายนที่ผ่านมา ซึ่งเป็นกระชังของ นางฉิ้วโห้ย เจริญหัตถกิจ พบว่า คุณภาพของน้ำอยู่ในเกณฑ์ปกติ ส่วนการตรวจโรคปลาพบเชื้อแบคทีเรียในกลุ่ม Vibrio บริเวณส่วนของสมอง ไตส่วนหน้า ตาและม้ามเป็นสาเหตุทำให้ปลาตาย และในส่วนการลงเก็บตัวอย่างของน้ำ และปลาในกระชังของ นางกาญจนาพร คาดว่า ช่วงเย็นวันนี้ (30 เม.ย.) ก็จะทราบผลว่าเกิดจากเชื้อแบคทีเรียชนิดเดียวกันหรือไม่