xs
xsm
sm
md
lg

“น้องเดียว” ติงรัฐเจรจาแก้ไขปัญหา จชต. ตัวจริงหรือไม่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ตรัง - สาทิตย์ วงศ์หนองเตย แปลกใจเจรจาบีอาร์เอ็นแล้วทำไมความรุนแรงยังเกิดต่อเนื่อง ขณะที่เรื่องเขาพระวิหาร รัฐบาลไม่ได้เครดิต เพราะ หน.ทีมทนาย เคยถูกทนายส่วนตัวทักษิณ ไล่มาแล้ว

วันนี้ ( 22 เม.ย.) นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย ส.ส.ตรัง พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวที่บ้านพักจังหวัดตรังว่า มาถึงวันนี้หลายฝ่ายมีความวิตกกังวลว่า แนวทางเจรจาของรัฐบาลสุดท้ายแล้ว ให้ทางบวกกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นเพียงใด ถ้าสังเกตก่อนหน้านี้ ไม่มีใครคัดค้านแนวทางของการเจรจาอยู่แล้ว เพียงว่าการเจรจามีเงื่อนไขว่า ผู้ที่เจราจาเป็นใคร ครอบคลุมกลุ่มที่เป็นกองกำลังปฏิบัติการในพื้นที่ได้มากน้อยเพียงใด และเงื่อนไขในการเจราจาเป็นเงื่อนไขที่ส่งผลต่อสถานการณ์มาก ซึ่งในการเจราจาที่ผ่านมาทุกครั้ง มันมีข้อสังเกตอยู่ตลอดว่าผู้ที่เข้าเจรจาเป็นตัวจริงหรือไม่

ดังนั้น จึงมีข้อเท็จจริงออกมายืนยันว่า จริงๆ แล้วฝ่ายที่เข้าปฏิบัติการมีหลายฝ่ายมาก ซึ่งลำพังการเจราจากับทางกลุ่มเพียงอย่างเดียวไม่เพียงพอ ซึ่งที่สุดแล้วเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นมีความถี่มากขึ้น ความรุนแรงมากขึ้น จึงยืนยันสมมติฐานที่บอกว่า การเจราจาไม่ใช่เป็นหนทางที่ดีที่สุดในขณะนี้

ประจวบกับว่า การเจราจาก็ไม่ได้มีเงื่อนไขที่เกี่ยวกับการลดความรุนแรงในพื้นที่ด้วย ทำให้เหตุการณ์ยิ่งมีความรุนแรงบานปลายออกไป แต่ควรดำเนินการในเชิงของการวางนโยบายการแก้ไขปัญหาควบคู่กันไปด้วย เห็นได้ชัดจากการเกี่ยงกันไปเกี่ยงกันมา ระหว่างนายกฯ ยิ่งลักษณ์ กับรองนายกฯ เฉลิม จึงไม่อาจเชื่อมั่นได้ว่าเป็นแนวทางที่ถูกต้อง

นอกจากนั้น การลอบสังหารข้าราชการชั้นสูง โดยเฉพาะกรณีรองผู้ว่าราชการจังหวัด น่าจะเป็นคำตอบว่า ทิศทางของการก่อการร้ายมุ่งเป้าไปในทิศทางใด โดยต้องการสร้างให้เห็นว่ากองกำลังมีศักยภาพ และต้องการสร้างข่าวความหวาดกลัวในพื้นที่ ดังนั้น แนวทางของการลงไปคลุกคลีกับปัญหาของพื้นที่ของฝ่ายการเมืองระดับสูงของรัฐบาลอย่างแท้จริงเท่านั้น ที่เป็นทางออกที่ถูกต้องที่สุด

อย่างเช่นรัฐบาลในอดีต ที่นายกอภิสิทธิ์ ส่งนายถาวร เสนเนียม ไปประจำในพื้นที่ ซึ่งก็ทำให้สามารถเข้าใจปัญหาโดยถ่องแท้มากขึ้น ต่างกับรัฐบาลนี้ที่อยู่ที่กรุงเทพฯ แล้วไม่ได้ลงไปคลุกคลีกับพื้นที่ ก็เลยทำให้เหตุการณ์บานปลายมากขึ้น

ส่วนปัญหาปราสาทพระวิหาร เป็นปัญหาสืบเนื่องกันมาจากการที่กัมพูชา ไปยื่นให้มีการตีความคำวินิจฉัยของศาลโลก และเป็นปัญหาการเมืองมาตั้งแต่ต้น ตั้งแต่ในยุครับบาลชุดที่แล้ว เนื่องจากนายกฯ ฮุนเซน ต้องการจะสร้างคะแนนนิยมภายในประเทศ และยังเป็นความสัมพันธ์ลับๆ กันทางการเมืองกับ พ.ต.ท.ทักษิณ แต่ก็ยังดีที่รัฐบาลชุดที่แล้ววางทีมทนายไว้ค่อนข้างดี และหัวหน้าคณะที่ไปดำเนินการต่อสู้อย่าง นายวีรชัย ก็เป็นคนที่เคยโดน นายนพดล ปลดพ้นจากตำแหน่งมาแล้ว สมัยเป็นรัฐมนตรีต่างประเทศ

แต่ปัญหาชายแดนไทย-กัมพูชา ยังไม่จบ ตราบใดที่มีผลประโยชน์เข้ามาเกี่ยวข้อง ยิ่งเป็นคนของฝ่ายการเมืองระดับสูงของรัฐบาลเข้าไปเกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ด้วยแล้ว ปัญหายิ่งมีความทวีความซับซ้อนมากขึ้น

ความจริงแล้วในการแก้ไขปัญหาอย่าง MOU 43 ซึ่งเที่ยวนี้ดูเป็นเงื่อนไขสำคัญในการต่อสู้คดีในศาลโลกด้วย ก็น่าจะเป็นทางออกหนึ่ง ฉะนั้น เรื่องนี้จึงเป็นเรื่องของความจริงใจของฝ่ายรัฐบาลมากกว่าที่จะหยิบฉวยจับมาเป็นเรื่องของการเมือง หรือเรื่องผลประโยชน์ที่ได้แก่พรรคพวก หรือเป็นการเมืองที่ได้ดิสเครดิตกับฝ่ายตรงข้าม

แต่ใช้ความจริงใจในการแก้ไขปัญหาชายแดน อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้ก็อย่าเพิ่งวางใจ เพราะเดือนตุลาคมนี้ก็เป็นช่วงเดือนวินิจฉัย ซึ่งประเทศไทยก็ยังไม่รู้ว่าอะไรจะตามมาอีก ก็ได้แต่หวังว่ารัฐบาลของไทยจะไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อนในเรื่องนี้ และสร้างปัญหาซ้ำเติม หรือทับถมเพิ่มเติมขึ้นมาอีก

กำลังโหลดความคิดเห็น