นครศรีธรรมราช - สถาบันเกษตรกรเกือบร้อยแห่งของนครศรีธรรมราชป่วน หลัง อสย.ชะลอรับซื้อยางโครงการพัฒนาศักยภาพสถาบันเกษตรกร 1.5 หมื่นล้านกลางคัน อ้างมีเงินไม่พอซื้อ ขณะที่สถาบันเกษตรกรรับซื้อมาในราคาแทรกแซงส่อขาดทุนยับ
วันนี้ (29 มี.ค.) ที่สำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยางนครศรีธรรมราช อ.เมือง จ.นครศรีธรรมราช ตัวแทนกลุ่มสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางกว่า 30 คน นำโดย นายประสิทธิ์ ธรรมรงค์รักษ์ ประธานเครือข่ายกองทุนสวนยางเมืองนครศรีธรรมราช เขต 1 ได้เข้าพบ นายสมคิด พัฒนไทยานนท์ ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยางจังหวัดนครศรีธรรมราช เขต 1 เพื่อติดตามทวงถามการรับซื้อยางจากสถาบันเกษตรกรในพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราช
เนื่องจากกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง ที่มีหน้าที่รับซื้อยางจากสถาบันเกษตรกร โดยมีองค์การสวนยางเป็นผู้อนุมัติจ่ายเงิน มีคำสั่งให้ชะลอการรับซื้อยางจากสถาบันเกษตรกรในโครงการพัฒนาศักยภาพสถาบันเกษตรกร เพื่อรักษาเสถียรภาพราคายาง ลงนามโดย นายชนะชัย เปล่งศิริวัธน์ ผู้อำนวยการองค์การสวนยาง โดยมีเหตุผลคือ วงเงินที่เหลืออยู่นั้นไม่เพียงพอต่อการรับซื้อยาง และองค์การสวนยางยังไม่ได้รับอนุมัติเงินกู้จาก ครม.ในงวดที่ 3 วงเงิน 5 พันล้านบาท หนังสือฉบับนี้ออกมาเมื่อวันที่ 19 มีนาคมที่ผ่านมา แม้ว่าตามโครงการนี้จะหมดสิ้นในวันที่ 31 มีนาคม 2556 ก็ตาม
นายประสิทธิ์ ธรรมรงค์รักษ์ ประธานเครือข่ายกองทุนสวนยางเมืองนครศรีธรรมราช เขต 1 เปิดเผยว่า สถาบันเกษตรกรได้รับผลกระทบอย่างมาก เนื่องจากมียางพาราในสถาบันเกษตรกรตกค้างอยู่กว่า 5 แสนกิโลกรัม ที่ไม่สามารถนำมาขายในโครงการนี้ได้ และต้องการให้รัฐบาลเร่งแก้ไขในส่วนนี้ ขณะเดียวกัน สถาบันเกษตรกรได้รับซื้อน้ำยางสดมาก่อนหน้านี้ ในราคา 85-90 บาทต่อกิโลกรัม และมาบวกกับค่าบริหารจัดการอีก 3 บาท เป็น 93 บาท ผลิตออกมาเป็นยางแผ่นรมควัน แต่ราคาในท้องตลาดอยู่แค่ 82 บาท สถาบันเกษตรกรอยู่ในภาวะขาดทุน
ขณะที่ นายสมคิด พัฒนไทยานนท์ ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยางจังหวัดนครศรีธรรมราช เขต 1 เปิดเผยว่า จังหวัดนครศรีธรรมราช ได้รับอนุมัติให้จัดซื้อยางพาราในโครงการนี้ จำนวน 6 พันตันเศษ และได้ซื้อไปเพียง 2.5 พันตันเศษเท่านั้น เมื่อตรวจสอบตัวเลขล่าสุดในขณะนี้ มีสถาบันเกษตรกรจำนวนกว่า 80 สถาบัน ที่มียางพาราตกค้างอยู่ประมาณ 1,500 ตัน ที่ไม่สามารถขายได้ ทางผู้ที่มีหน้าที่ซื้อคือ สกย. ต้องหยุดรับซื้อ หรือชะลอไปก่อน เนื่องจาก อสย.หรือองค์การสวนยางเป็นผู้จ่ายเงินผ่าน ธ.ก.ส.ยังไม่มีเงินมารองรับ โดยปัญหาที่เกิดขึ้นในขณะนี้เป็นปัญหาที่อยู่ในระดับนโยบาย