xs
xsm
sm
md
lg

ผู้ผลิตน้ำยางสดร้องรัฐไม่เหลียวแลอุ้มยางแผ่นดิบห่างชั้นกว่า 30 บ.ชี้ต้องมีโรงรมรองรับ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - ผู้ผลิตน้ำยางสดกระอัก รัฐบาลไม่เหลียวแลจากโครงการ 15,000 ล้านบาท ขอหลักประกัน 85 บาท/กก. น้ำยางสดได้ราคากว่า 70 บาทมาตลอด ขณะนี้รายอื่นๆ ได้ราคา 100 บาท และ 104 บาท/กก.ห่างชั้นกันกว่า 30 บาท/กก. ส่งสัญญาณเตือนเก็บยางไม่เป็นระบบขาดทุนยับ

นายสมพงศ์ ราชสุวรรณ ประธานเครือข่ายชาวสวนยาง สกย.เขต 2 จังหวัดสงขลา เปิดเผยว่า จังหวัดสงขลา สตูล เป็นพื้นที่ผลิตยางพาราเป็นน้ำยางสดถึง 80 เปอร์เซ็นต์ นอกนั้นมีพื้นที่พัทลุง 50-60 เปอร์เซ็นต์ ตรัง 40 เปอร์เซ็นต์ นครศรีธรรมราช 50 เปอร์เซ็นต์ ส่วนจังหวัดยะลา ปัตตานี นราธิวาส ส่วนใหญ่จะเป็นยางคัพลัม หรือยางก้นถ้วยเป็นส่วนที่สูงสุด โดยกลุ่มนี้จะไม่ได้รับผลกระทบที่เป็นประโยชน์อย่างใดกับโครงการรักษาเสถียรภาพยาง 15,000 ล้านบาทที่ผ่านมา และโครงการถัดไปอีก 30,000 ล้านบาท

“รัฐบาลประกันรับซื้อยางแผ่นดิบกับยางรมควันเท่านั้น แต่กับกลุ่มน้ำยางสดรัฐบาลไม่ได้เข้ามาดูแลแต่อย่างใด โดยได้ราคาอยู่ที่กว่า 70 บาท/กก. ขณะที่ผู้ประกอบการยางแผ่น ยางรมควัน มีรายได้ 100 บาท/กก.และ 104 บาท/กก. ต่างกันถึงกว่า 30 บาท/กก. ผู้ประกอบการน้ำยางสดได้หันมาประกอบอาชีพนี้แล้ว จะหันไปประกอบอาชีพเป็นยางแผ่นดิบ และรมควันก็ไม่มีอุปกรณ์ และโรงรมแต่อย่างใด ขณะนี้รายได้แตกต่างกันมาก”

นายสมพงศ์ ยังกล่าวอีกว่า กลุ่มผู้ผลิตน้ำยางสดจึงขอเรียกร้องไปยังรัฐบาล ว่า 1.ต้องช่วยพยุงราคาน้ำยางสดให้อยู่ที่ 85 บาท/กก. ขณะนี้เกิดภาวะหวั่นวิตกกันทั่วไปกับนโยบายการส่งออกยางจำนวน 10 เปอร์เซ็นต์ ผู้ประกอบการยาง และชาวสวนยางต่างได้รับทราบว่า ทางบริษัทผู้รับซื้อยางจะลดการรับซื้อยาง โดยจะซื้อตามจำนวนที่ส่งออกจนกว่านโยบายนี้จะมีการเปลี่ยนแปลง และผู้ประกอบการยางชาวสวนยางไม่ทราบว่าจะเอายางน้ำยางสดไปขายให้แก่ใคร เมื่อไม่มีผู้รับซื้อราคาก็จะตกเป็นอย่างมาก และจะล้นสต๊อก

นายสมพงศ์ ยังกล่าวอีกว่า แนวทางอนาคตรัฐบาลจะต้องลงทุนสร้างโรงรมยาง เพื่อไว้รองรับในการผลิตยามยางเกิดภาวะผกผัน และเป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลที่รับซื้อ เพราะขณะนี้ รับซื้อแต่อย่างแผ่นดิบกับรมควัน ผู้ผลิตน้ำยางสดจึงไม่มีโอกาส และปรับตัวไม่ทัน อีกทั้งไม่มีอุปกรณ์ ถึงมีโรงรมก็มีรายขนาดย่อย ขนาด 3 ตัน และ 4 ตัน/วัน รองรับไม่เพียงพอต่อผลผลิตประมาณ 1,500 ตัน/วัน

นายเฉลิม แซ่ตั้ง ประธานชุมนุมกองทุนสวนยางจังหวัดสงขลา จำกัด และเหรัญญิกชุมนุมสหกรณ์ชาวสวนยางแห่งประเทศไทย จำกัด (ชสยท.) กล่าวว่า น่าหวั่นวิตกที่สุดกับนโยบายโครงการรักษาเสถียรราคายางของรัฐบาล เพราะยางทุกแผ่นจะมีการนำไปขายให้แก่รัฐบาล เงินโครงการ 15,000 ล้านบาทก็หมด และรัฐบาลอนุมัติอีกประมาณ 30,000 ล้านบาท และเงินนี้จะหมดภายในประมาณ 1 เดือนเท่านั้น

“ขณะเดียวกัน ยางที่รัฐบาลรับซื้อไปเก็บไว้ในโกดังก็ยิ่งมากขึ้นจนไม่มีที่เก็บ และที่เก็บไว้แล้วก็ตั้งซ้อนทับถมกันไม่เป็นระบบ เพราะไม่สามารถทยอยขายได้ ยิ่งล้าช้าอีกกว่านี้คุณภาพยางก็จะเกิดความเสียหาย ราคาก็จะถูกกดให้ลดลง โครงการนี้มีสารพัดปัญหาที่ผลกระทบมาก และยิ่งแก้ยิ่งดิ้นไม่หลุด ท้ายที่สุดรัฐบาลจะต้องประสบภาวะขาดทุนอีกระลอกใหญ่”

แหล่งข่าวจากเครือข่ายชาวสวนยาง สกย.เขต 2 เปิดเผยว่า ในการจัดตั้งโรงรมยางในเครือข่าย ทางสำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยางจังหวัด (สกย.) ก็ได้นำเสนอมาก่อนแล้วว่าให้มีการจัดตั้งโรงรมยางไว้รองรับในพื้นที่ผลิตน้ำยางสด โดยโรงรมลงทุนประมาณ 200 ล้านบาท โดยให้ลงทุนจังหวัดละ 1 โรง ไว้รองรับยางประมาณ 500 ตัน ขณะที่สถานการณ์ผกผันของยางแล้วก็สามารถขยายต่อได้

“โรงรมไว้รองรับยางยามภาวะผกผัน ประมาณ 200 ล้านบาท/โรง เป็นเงินจำนวนน้อยมาก จากที่รายได้จากการขายได้ถึง 680,000 ล้านบาท/ปี”


กำลังโหลดความคิดเห็น