xs
xsm
sm
md
lg

ชาวสวนยางเชียงรายฮือทวงหนี้รัฐบาล “ปู” ค้างหนี้ข้ามปี-จวก “ณัฐวุฒิ” ยับ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เชียงราย - ชาวสวนยางเมืองพ่อขุนฯ ฮือทวงเงินค่ายางพารา อสย.ค้างจ่ายนานกว่า 4 เดือน ถามแล้วบอกงบฯ หมด ถูกพ่อค้ากดราคาซ้ำจนยางก้อนเหลือแค่กิโลกรัมละ 30 บาท จวก “อำมาตย์เต้น” ดีแต่โม้ ขณะที่ สกย.ยัน รมช.เกษตรฯ คนใหม่เล็งขอ ครม.อีก 4.5 หมื่นล้าน คาดได้เงินสิ้นเดือนนี้

วันนี้ (11 ม.ค.) แกนนำกลุ่มเกษตรกรชาวสวนยางพาราจากหลายอำเภอใน จ.เชียงราย นำโดยนายสุวิทย์ ใหม่ธิ ประธานเครือข่ายเกษตรกรชาวสวนยาง จ.เชียงราย, นายสมพงษ์ กาญจนสุนทร ประธานกลุ่มสวนยางสำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง (สกย.) ดอยหลวงปงน้อย อ.ดอยหลวง, นายธงชัย ชำนาญกิจ หัวหน้ากลุ่มบ้านคีรีสุวรรณ ต.หนองป่าก่อ อ.ดอยหลวง ฯลฯ ได้ไปรวมตัวกันที่ศาลากลางจังหวัดฯ ชูป้ายเรียกร้องให้รัฐบาลได้ช่วยเหลือและใช้เครื่องกระจายเสียงปราศรัย พร้อมกับยื่นร้องทุกข์ต่อนายพงษ์ศักดิ์ วังเสมอ ผู้ว่าราชการ จ.เชียงราย ให้ช่วยเหลือกรณีขายยางพาราให้องค์การสวนยาง (อสย.) แล้วแต่กลับไม่ได้รับเงิน

กลุ่มผู้ชุมนุมได้จัดทำเป็นหนังสือยื่นต่อผู้ว่าราชการจังหวัด 1 ฉบับและส่งต่อไปยัง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี อีก 1 ฉบับ มีเนื้อหาว่า ขอให้รัฐบาลจ่ายเงินค่ายางพาราที่ติดค้างแก่สถาบันเกษตรกรทุกสถาบันภายในเดือน ม.ค. 56 นี้ และให้เปิดจุดรับซื้อยางพาราที่คงค้างภายในกลางเดือนเดียวกันนี้ ณ บ้านแม่ลอย ต.แม่ลอยไร่ อ.เทิง รวมทั้งให้ขยายโครงการออกไปอีกโดยให้จัดสรรงบประมาณให้ตรงเวลา พร้อมกับให้สร้างโรงงานแปรรูปผลิตภัณฑ์ยางพาราในพื้นที่ด้วย

นายสมพงษ์กล่าวว่า รัฐบาลทำโครงการรักษาเสถียรภาพราคายางพารา โดยให้เกษตรกรผู้ปลูกยางพาราไปจัดตั้งเป็นกลุ่มวิสาหกิจชาวสวนยาง, กลุ่มชาวสวนยาง, กลุ่มสหกรณ์ ฯลฯ และรับปากจะนำงบเข้าแทรกแซงจัดซื้อในราคาสูงผ่าน อสย.

ทำให้เกษตรกรในพื้นที่ซึ่งมีกว่า 10,000 ราย พื้นที่ปลูกไม่น้อยกว่า 10,000 ไร่ พากันไปจัดตั้งกลุ่ม รวมประมาณ 89 กลุ่ม แต่ปรากฏว่าตั้งแต่เดือน ต.ค. 55-ม.ค. 56 หรือกว่า 4 เดือนแล้ว อสย.ที่รับยางพาราจากเกษตรกรไปแล้วกลับไม่ได้จ่ายเงินให้ชาวบ้านเลย เนื่องจากมีมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้ระงับการซื้อยางเพราะไม่มีเงินทำให้เกษตรกรเดือดร้อนอย่างหนัก

“อยากให้จ่ายเงินค่าซื้อตามกำหนด เพราะกลุ่มเกษตรกรได้เก็บยางมาจากเกษตรกรแล้วแกนนำบางคนจ่ายเงินให้ชาวบ้านล่วงหน้าไปก่อน เมื่อไม่มีเงินจากรัฐบาลทำให้ถูกพ่อค้าคนกลางหรือเอกชนกดราคาหนักจนไม่มีอะไรจะกินกันแล้ว ยางก้อนก็กิโลกรัมละแค่ 30 บาท ยางแผ่น 80 บาท ส่วนน้ำยางขายไม่ได้เลย เพราะไม่มีโรงงานในพื้นที่”

ด้านนายธงชัย แกนนำอีกคน กล่าวว่า หลังจากรัฐบาลโดยกระทรวงเกษตรกรและสหกรณ์ที่มีนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ เคยเป็น รมช. ออกมารับปากกับชาวบ้านว่าจะผลักดันให้ยางแผ่นรมควันชั้น 3 มีราคากิโลกรัมละ 120 บาท โดยให้ชาวบ้านออกไปรวมเป็นกลุ่มต่างๆ แล้วจะจัดสรรงบประมาณกว่า 15,000 ล้านบาทไปสนับสนุน จากนั้นรัฐบาลมีการจัดสรรงบประมาณ 10,000 ล้านบาทให้ อสย.และอีก 5,000 ล้านบาทให้สถาบันเกษตรกรไปรับซื้อจากเกษตรกร ปรากฏว่าตั้งแต่เดือน ต.ค. 55 กลับไม่มีการรับซื้อยางจากสถาบัน/กลุ่มเกษตรกรเลย เมื่อไปสอบถามก็อ้างว่าไม่มีเงิน

“บอกให้เรารวมกลุ่มเราก็ทำ เมื่อทำแล้วก็ไม่จ่ายเงิน ทำให้พวกเราขาดเงินหมุนเวียนเพราะไม่ได้มีเงินเดือนเหมือนข้าราชการเขา กรีดยางก็มีต้นทุน เมื่อรวมกลุ่มชาวบ้านก็นำมารวมกันไว้แกนนำก็รับจะดำเนินการ แต่เมื่อไม่มีเงินก็เดือดร้อนกันไปหมด ผมเป็นคนเสื้อแดง เลือกรัฐบาลชุดนี้ให้เข้าไปทำงาน เมื่อเห็นว่ามีปัญหาช่วงแรกๆ ก็ยอมทนให้ทำงานไปก่อน คนเหนืออย่างเรามีความอดทนถ้าไม่ถึงที่สุดจะไม่ออกมา แต่นี่ผ่านมาหลายเดือนแล้วเงินก็ไม่ได้จึงเดือดร้อนมากๆ” นายธงชัยกล่าว

นายสุวิทย์ ใหม่ธิ ประธานเครือข่ายเกษตรกรฯ กล่าวว่า โครงการนี้ดำเนินการตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 55-มี.ค. 56 แต่ที่ผ่านมาจ่ายเงินให้กลุ่มเกษตรกรเฉพาะในเชียงรายในช่วงต้นโครงการประมาณ 90 ล้านบาท คงเหลือที่ไม่ได้จ่ายอีกประมาณ 260 ล้านบาท มียางพาราคงค้างทั้งที่ อสย.รับไปและที่อยู่กับเกษตรกรอีกมหาศาล เฉพาะที่ยางฯ ของ 22 กลุ่ม/สถาบันฯ จากทั้งหมด 89 กลุ่มที่จดบันทึกกันก็มียางพารากว่า 810 ตัน มูลค่าร่วม 68 ล้านบาทแล้ว

“เราไม่ได้รับเงินตามกำหนด ทำให้การกรีดยางหยุดชะงักทันที ขณะที่เกษตรกรก็แบกดอกเบี้ยเงินกู้กันหลังแอ่น”

ต่อมานายอนันต์ยศ แก้วคุ้มภัย ผอ.สกย.เชียงราย ได้เข้ารับเรื่องจากชาวบ้านแทนผู้ว่าราชการจังหวัด โดยให้ข้อมูลว่า ล่าสุดเมื่อวันที่ 8 ม.ค. 56 ได้เดินทางไปรับมอบนโยบายจากรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์คนใหม่แล้ว โดยยืนยันว่า 15 ม.ค. 56 จะขออนุมัติ ครม.เพื่อนำงบประมาณ 45,000 ล้านบาทให้ อสย.มาดำเนินการโครงการต่อ คาดว่าจะได้รับเงินภายใน 29 ม.ค. 56 นี้ และสามารถนำเงินออกมาจ่ายให้เกษตรกรทั่วประเทศในวันถัดไป (30 ม.ค. 56) และในพื้นที่เชียงรายจะเปิดจุดรับซื้อ ณ บ้านแม่ลอย ตามที่เกษตรกรเรียกร้องด้วย

อย่างไรก็ตาม แกนนำเกษตรกรยังต้องการให้มีหนังสือค้ำประกันว่าจะรับซื้ออย่างแน่นอน เพราะนอกจากระยะเวลาที่เรียกร้องจะถูกเลื่อนจากกลางเดือนเป็นปลายเดือนมกราคม 56 แล้วยังไม่มีหลักประกันว่าจะรับซื้อ

แต่นายอนันต์ยศระบุว่าไม่สามารถให้คำตอบได้เพราะต้องรอให้ผ่าน ครม.ก่อน และตนในฐานะเลขานุการโครงการระดับจังหวัดก็ต้องนำเข้าสู่ที่ประชุมก่อนด้วย ทำให้เกิดการตอบโต้กันอยู่พักใหญ่ ท้ายที่สุดแกนนำเกษตรกรก็ยินยอมให้เวลารัฐบาลตามที่ สกย.เสนอ แต่ขู่ว่าอาจจะมีการนัดชุมนุมใหญ่กันอีกครั้งหากไม่รับซื้อยางพาราที่คงค้าง และยางพาราใหม่จากเกษตรกร







กำลังโหลดความคิดเห็น