xs
xsm
sm
md
lg

วิเคราะห์นโยบายแก้ไขราคายางตกต่ำ “ยิ่งลักษณ์-อำมาตย์เต้น” มือสมัครเล่นทำพังพินาศ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ณัฐวุฒิ ไสยเกื้อ รมช.กระทรวงเกษตรฯ ถึงวันนี้การแก้ไขปัญหาราคายางตกต่ำของเขายังมีปัญหา
ASTVผู้จัดการออนไลน์ - คณะทำงานเศรษฐกิจมหภาค การเงิน การคลัง สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ที่มีนายอุทัย สอนหลักทรัพย์ ได้วิเคราะห์นโยบายแก้ไขปัญหาราคายางตกต่ำของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ที่ผิดพลาดตั้งแต่ก้าวแรกที่ส่ง “อำมาตย์เต้น” รัฐมนตรีมือสมัครเล่นเข้ามารับผิดชอบ ความไม่รู้ ไม่มีฝีมือ ทำให้ไม่สามารถแก้ปัญหาได้ทันการณ์ ขาดความรอบคอบ จนเกิดผลกระทบทั้งระบบ สร้างความเสียหายใหญ่หลวงต่อประเทศ เกษตรกร และผู้ประกอบการ สุดท้ายอำมาตย์เต้นก็เป็นได้แค่ตัวตลกของวงการยาง

ผิดพลาดมาตลอดสำหรับรัฐบาลที่มีนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของไทย กับนโยบายด้านยางพาราของประเทศ นับจากการส่งรัฐมนตรี คือ นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ รมช.กระทรวงเกษตรฯ ที่เข้าใจเฉพาะการนำมวลชนมาดูแลเรื่องยางพารา

ทั้งนี้ จะเห็นว่าในรอบเก้าเดือนที่ผ่านมามูลค่าการส่งออกยางพาราของไทยลดลงถึงร้อยละ 30 จากมกราคม-สิงหาคม 2554 มูลค่าส่งออกยาง 178,880 ล้านบาท ขณะที่ปี 2555 ในช่วงเดียวกันส่งออกได้เพียง 124,060 ล้านบาท ลดลงถึง 54,820 ล้านบาท เป็นสัญญาณอันตรายต่อ GDP โดยรวมของประเทศที่ต้องอาศัยรายได้จากการส่งออกโดยเฉพาะสินค้าเกษตรยางพารา ในขณะที่รัฐส่งเสริมให้ประชากรปลูกยางพารามากขึ้นเรื่อยๆ ในทุกๆ ภาคของประเทศไทย

ผลสุดท้ายความลำบากทั้งหลายคงตกลงมาที่เกษตรกรชาวสวนยางในอนาคต ซึ่งก็ต้องทำใจ เมื่อรัฐบาลเลือกคนมาดูแลด้านยางเป็นแค่มือสมัครเล่นเท่านั้น

อำมาตย์เต้น รมต.มือสมัครเล่น ไร้ฝีมือ

สัญญาณราคายางตกต่ำเริ่มมาตั้งแต่ปลายปี 2554 ซึ่งรัฐบาลก็รับทราบสัญญาณนี้เป็นอย่างดี อันเป็นที่มาของการอนุมัติเงินเพื่อรักษาเสถียรภาพราคายางอันเป็นโครงการแรกที่รัฐบาลนี้สัมผัสกับภาคยางพารา เมื่อวันที่ 24 มกราคม 2555 ภายใต้ชื่อโครงการพัฒนาศักยภาพสถาบันเกษตรกรเพื่อรักษาเสถียรภาพราคายาง อนุมัติวงเงินถึง 1.5 หมื่นล้านบาท

งบประมาณดังกล่าวถือว่ามากกว่ารัฐบาลที่ผ่านๆ มามากทีเดียว แต่ด้วยความเป็นมือสมัครเล่นของรัฐมนตรีที่รับผิดชอบ ทำให้การดำเนินการไม่ได้ผล คงเหมือนกับหมอที่ขาดประสบการณ์ หรืออาจจะยังเป็นหมอฝึกหัดมารับหน้าที่รักษาคนไข้ ทั้งที่เครื่องมือแพทย์ทันสมัยพร้อม บุคลากรพยาบาลชำนาญพร้อม และงบประมาณพร้อม แต่หมอขาดความรู้ความสามารถ ขาดประสบการณ์และไม่เป็นมืออาชีพ ทำการรักษาโรคที่คิดว่าน่าจะง่ายต่อการรักษาให้หายในระยะสั้นๆ ได้ และเป็นโรคที่ไม่อันตรายง่ายต่อการเยียวยา กลับดื้อยาและอาการรุนแรงเรื้อรัง และยากต่อการรักษาในที่สุด

ทำนองเดียวกับการแก้ไขปัญหาเรื่องยางพาราของรัฐบาลนี้ จะเห็นว่าช่วงเดือนมกราคม 2555 ราคายางแผ่นรมควันชั้น 3 FOB อยู่ที่ประมาณ 115 บาท/กก. แต่เพราะความไม่เอาใจใส่และขาดความรู้ ความสามารถของผู้รับผิดชอบที่จะสามารถเยียวยาและป้องกันไม่ให้ราคาดิ่งลงไปในที่สุดได้

แนวทางที่จะช่วยเหลือเกษตรกรของรัฐบาลมีเจตนาที่ดี แต่เลือกรัฐมนตรีที่มารับผิดชอบผิดพลาด จะเห็นว่ากว่าที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จะขับเคลื่อนเรื่องนี้เพื่อให้เกิดผลในทางปฏิบัติก็ปาเข้าไปเกือบ 4 เดือน คือ ต้นเดือนพฤษภาคม 2555 จึงเริ่มเดินตามนโยบายอย่างทุลักทุเล โดยการเข้าซื้อยางชี้นำราคายางขององค์การสวนยาง ทำให้ราคายางแผ่นรมควันชั้น 3 FOB ปรับขึ้นมาเล็กน้อย

และมีเสียงเรียกร้องจากเกษตรกรเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จากการรับปากของรัฐมนตรีที่จะผลักดันราคาให้ถึง 120 บาท/กก. โดยมีเหตุผลทางการเมืองอย่างเดียวโดยไม่ได้หันไปมองภาวะเศรษฐกิจของโลกว่าเป็นอย่างไร ยุโรป อเมริกามีปัญหา เพื่อจะได้ปรับเปลี่ยนนโยบายและอธิบายให้ผู้เกี่ยวข้องได้เข้าใจ
ตลาดซื้อขายยางพารายังปั่นป่วน แม้รัฐบาลจะออกมาตรการพยุงราคาแล้วก็ตาม
ล่าช้าไม่ทันการณ์ ขาดความรอบคอบ เปิดช่องโกง

ซ้ำหนักเข้าไปอีก นโยบายที่กำหนดไว้ก็ขาดความรอบคอบ เป็นเหตุให้องค์การสวนยาง ทำงานด้วยความยากลำบากเพราะกลัวว่าตัวเองจะต้องมารับผิดชอบความเสี่ยงที่จะขาดทุนตามโครงการในอนาคตได้ จึงมีการเข้าซื้อชี้นำราคาเพียงเล็กๆ น้อยๆ เพื่อลดกระแสเท่านั้น

จนล่วงเลยมาถึงเดือนกรกฎาคม 2555 นับจากวันอนุมัติโครงการเป็นเวลา 6 เดือนเศษ คณะรัฐมนตรีจึงออกมติมาใหม่เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2555 ให้ชดเชยผลขาดทุนจากโครงการฯ ให้องค์การสวนยางได้ แต่ก็สายเกินไป เพราะราคายางปรับตัวลงมาต่ำกว่า 100 บาท/กก. การประกาศ 120 บาทของรัฐมนตรีจึงเป็นเรื่องตลก

ความแตกต่างของราคาจริงกับราคาเข้าดำเนินการของรัฐบาลมีช่องว่างสูงมาก สูงกว่า 20 บาท/กก. เป็นสาเหตุของการทุจริตคอร์รัปชัน ทั้งเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติ กลุ่มเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการฯ โรงรมควันและโรงงานผลิตยางแท่ง เอส ที อาร์ 20 ที่องค์การสวนยางจัดจ้างรองรับไว้ ทำกันเป็นขบวนการสร้างความเสียหายให้แก่งบประมาณ พี่น้องเกษตรกรชาวสวนยางและกลไกตลาดอย่างมากมาย

วางกับดัก เก็บภาษี จำกัดส่งออก นโยบายขัดขากันเอง

ไม่เพียงแค่ที่กล่าว เมื่อราคายางไม่ปรับขึ้นตามที่ทางรัฐบาลตั้งสมมติฐานไว้ก็พยายามหามาตรการตามคำแนะนำของข้าราชการที่คิดแบบง่ายๆ โดยการออกมาตรการจำกัดปริมาณการส่งออกกับผู้ประกอบการส่งออก โดยอ้างความร่วมมือจากสภาความร่วมมือยางระหว่างประเทศที่มีไทย มาเลเซีย และอินโดนีเซีย เป็นสมาชิกที่เรียกว่า ITRC
(International Tripartite Rubber Council) โดยไม่ได้ดูว่าเหมาะสมแค่ไหนกับสภาวการณ์ที่เป็นเช่นนี้

กล่าวคือ การค้าขายเรื่องยางพาราในขณะนี้หาผู้ซื้อยากขึ้น แม้ราคาจะไม่สูงมากนักแต่ราคายางของประเทศไทยก็ยังสูงกว่าประเทศคู่แข่งอยู่มากจากการที่ประเทศไทยมีการเก็บเงินสงเคราะห์สวนยาง (CESS) จากการส่งออกยางที่สูงถึงกิโลกรัมละ 5 บาท

ดังนั้น การมาสร้างกับดักอีกชุดให้กับการส่งออกยางของไทยจึงเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้องที่จะดำเนินการมาตรการดังกล่าวนี้ ซึ่งมาตรการนี้จะทำให้ได้ผลดีก็ต่อเมื่อการค้าขายปกติ แต่ราคาตกต่ำไม่ขยับ การไปบล็อกหรือลดการส่งออกก็จะไม่เป็นผลดี

ภาวการณ์ที่เป็นอยู่ขณะนี้ทุกคนทราบว่าเป็นปัญหาทางด้านเศรษฐกิจที่ยุโรป อเมริกาจนส่งผลทางลูกโซ่การค้า (Business chain) มาถึงประเทศจีน ซึ่งเป็นผู้ผลิตสินค้าป้อนทั้ง 2 ภูมิภาคที่กล่าว เกิดการขาดตอนเพราะปลายทางมีปัญหา ดังนั้นการผลิตสินค้าที่ต้องใช้วัตถุดิบยางพาราก็มีปัญหาไปด้วย

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ดำเนินนโยบายด้านยางพาราโดยการจำกัดการส่งออก เป็นการขัดกับนโยบายหลักของรัฐบาลที่ต้องการส่งเสริมการส่งออกเพื่อเอาเงินเข้าประเทศ จึงเป็นนโยบายที่มาขัดขาตัวเองอีกรอบ
กลุ่มเครือข่ายสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางพาราในพื้นที่ภาคใต้ประมาณ 300 คน ชุมนุมประท้วง พร้อมเรียกร้องขอเข้ายื่นหนังสื่อต่อ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เพื่อขอให้เร่งรัดค่ายางพาราตามโครงการรักษาเสถียรภาพราคายาง และให้รัฐยกเลิกการแทรกแซงราคายางทันที บริเวณประตู 5 ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 9 ตุลาคมที่ผ่านมา
เตรียมรับมือความโกลาหล

ในการเสนอคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 18 กันยายน 2555 ขอวงเงินเข้าดำเนินการตามโครงการฯ อีกจำนวน 30,000 ล้านบาท ซึ่งกำหนดตัวเลขจำนวนยางที่จะดูดซับยางเข้าสต๊อกของรัฐบาลประมาณ 15% ของผลผลิตตั้งแต่ตุลาคม 2555-มีนาคม 2556 โดยใช้ตัวเลขปี 2554 เป็นเกณฑ์ในการคำนวณไว้ตั้งแต่กันยายน 2554-มีนาคม 2555 ผลผลิตรวม 2,251,030 ตัน รัฐบาลจะซื้อไว้ 15% ที่ 337,600 ตัน ใช้เงินรวม 35,785.6 ล้านบาท หรือเฉลี่ยประมาณ 5,000 ล้านบาท/เดือน เป็นที่มาของการอนุมัติของรัฐบาลที่ 30,000 ล้านบาท ให้ใช้ดำเนินการเดือนละ 5,000 ล้านบาท

แต่จะเห็นว่าเมื่อรัฐบาลจำกัดปริมาณการส่งออก โดยกำหนดโควตาให้บริษัทผู้ส่งออกต่างๆ ทำให้มียางส่วนที่ไม่คำนวณไว้อยู่ประมาณ 85% ที่ผู้ประกอบการจะต้องดำเนินการตามปกติ ดังนั้น เมื่อมีการกำหนดโควตาการส่งออกจึงทำให้ยางส่วนนี้จะเหลืออยู่ ในขณะที่รัฐบาลก็มีงบประมาณจำกัดที่เตรียมไว้แค่ 5,000 ล้านบาท/เดือนเท่านั้น

ความโกลาหลก็จะเกิดขึ้นแน่นอน ราคายาง ซึ่งแทนที่ราคายางจะปรับตัวสูงขึ้นอาจจะร่วงลงมาอีกและรัฐบาลก็ไม่มีเงินเพียงพอที่จะสนับสนุนโครงการฯ ผู้ที่เดือดร้อนก็คือเกษตรกรชาวสวนยาง ผู้ที่เสียหายหนักก็คือประเทศชาติและชาวไทยทุกคน ทำนองเดียวกับการดำเนินกรณีข้าวของรัฐบาล

ผลกระทบจากนโยบายรัฐบาล

จากการดำเนินการตามโครงการพัฒนาศักยภาพสถาบันเกษตรกรเพื่อรักษาเสถียรภาพราคายางของรัฐบาลตั้งแต่ 24 มกราคม 2555 มีผลกระทบหลายด้าน ดังนี้

1. ผลกระทบต่อรัฐบาล

1.1 ขัดกับนโยบายหลักของรัฐบาล ประเทศไทยมีความจำเป็นต้องพึ่งพารายได้จากการส่งออกสินค้าเป็นหลักเพื่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ โดยเฉพาะสินค้าเกษตร รัฐบาลจึงประกาศนโยบายการขยายการเจริญเติบโตของประเทศเป็นเรื่อสำคัญที่จะหารายได้ในทุกๆ ทาง จึงมีนโยบายส่งเสริมการส่งออกเต็มที่ ดังนั้น การที่กระทรวงเกษตรฯ ประกาศจำกัดการส่งออกยางพาราซึ่งเป็นสินค้าเกษตรหลักที่ทำรายได้ให้แก่ประเทศ เท่ากับเป็นการสวนทางกับนโยบายหลักของรัฐบาล

1.2 ประเทศไทยเสียตลาดยางพาราให้กับคู่แข่งจากการจำกัดการส่งออก เพราะกระทรวงเกษตรฯ ใช้ตัวเลขการส่งออกปี 2554 ซึ่งถือว่าน้อยกว่าความเป็นจริงเกือบทุกบริษัทเพราะการปรับขึ้นเงินสงเคราะห์ (CESS) ของรัฐบาลเมื่อปลายปี 2553 ทำให้มีต้นทุนส่งออกสูงกว่าประเทศเพื่อนบ้านและเสียตลาดบางส่วนไปในที่สุดให้แก่อินโดนีเซีย และเวียดนาม

1.3 รัฐมนตรีที่รับผิดชอบไม่ปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ยาง ปี พ.ศ. 2542 โดยการดำเนินการไปตกลงกับต่างประเทศ ทั้งมาเลเซียและ อินโดนีเซียในลักษณะข้อตกลงระหว่างประเทศ และการดำเนินการของสถาบันวิจัยยาง กรมวิชาการเกษตร ในเรื่องการกำหนดโควตาการส่งออก โดยอ้างการปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ยาง ในมาตรา 6(8) ซึ่งเป็นการกระทำการก่อนที่จะขอความเห็นจากคณะกรรมการควบคุมยางตามที่ระบุหน้าที่ไว้ในมาตรา 15(1), (6) ซึ่งเพิ่งจัดตั้งคณะกรรมการชุดนี้เมื่อวันที่ 25 กันยายน 2555 โดยเฉพาะผู้ทรงคุณวุฒิที่ รมต.มีอำนาจแต่งตั้งได้โละคนเก่าออก ตั้งคนของตัวเองแทน และเร่งประชุมกรรมการชุดนี้เมื่อวันที่ 28 กันยายน 2555 เพื่อรับรองการกระทำที่ดำเนินการไปแล้ว

1.4 เกิดความเสียหายต่อกิจกรรมของตลาดกลางยางพารา ตลาดกลางยางพาราที่จัดตั้งมาตั้งแต่ปี 2534 วัตถุประสงค์ในการจัดตั้งเพื่อต้องการแก้ไขปัญหาราคายางตกต่ำเป็นเครื่องมือที่สำคัญของทุกรัฐบาล เพราะมีความพร้อมทุกประการ ทั้งอาคารสถานที่ เครื่องมือ บุคลากร การสื่อสารข้อมูลราคายางและมีครอบคลุมถึง 6 ตลาด เมื่อรัฐกำหนดซื้อยางจากนอกตลาดทำให้กลไกตลาดเสียหาย ราคาที่ออกจากตลาดกลางเป็นราคาประมูลที่เป็นหน้าต่างราคาของประเทศไทย (Thai Rubber Window) ที่ทั่วโลกเชื่อถือ จะเห็นว่าราคาที่รัฐบาลดำเนินการตามโครงการพัฒนาศักยภาพสถาบันเกษตรกรเพื่อรักษาเสถียรภาพราคายางไม่ปรากฏให้ทั่วโลกทราบแต่อย่างใด ทำให้นโยบายไม่ประสบความสำเร็จทางด้านจิตวิทยา

2. ผลกระทบต่อเกษตรกร

2.1 เกษตรกรรายย่อยไม่สามารถเข้าถึงโครงการฯ เพราะผู้ที่สามารถนำมาขายได้ต้องเป็นสถาบันเกษตรกร ถ้าขอเข้าร่วมเป็นสมาชิกสมทบก็จะถูกหักค่าใช้จ่ายจึงไม่สามารถเข้าถึงราคาที่รัฐกำหนดให้ได้และมีความยุ่งยาก

2.2 เกษตรกรไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการดำเนินการของรัฐ จากข้อจำกัด

2.2.1 โรงรมยาง ที่มีจำกัดทำให้เป็นช่องว่างให้เจ้าหน้ารัฐที่รับผิดชอบร่วมกับโรงรมยางเรียกเก็บเงินเป็นค่าอำนวยความสะดวกจากสถาบันเกษตรกรโดยไม่เป็นธรรม เพราะถ้าไม่จ่ายก็จะอ้างยางเต็ม ยางไม่ได้คุณภาพ ฯลฯ จึงยอมจ่ายให้เพราะถ้าเอาไปขายในตลาดราคาจะต่ำกว่ามาก จึงเรียกขานเงินที่จ่ายนี้ว่า “เงินค่าปากหมา”

2.2.2 การจ่ายเงินล่าช้าทำให้เกิดความเดือดร้อน ตอนนี้องค์การสวนยางค้างจ่ายเกษตรกรมาตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2555 จนถึงปัจจุบัน จนมีการประท้วงหลายครั้ง

3. ผลกระทบต่อผู้ประกอบการ

3.1 สูญเสียตลาดต่างประเทศเพราะไม่สามารถแข่งขันราคากับรัฐบาลได้ อีกทั้งยังต้องรับภาระเงินสงเคราะห์การทำสวนยางที่ต้องจ่ายในการส่งออกยางสูงที่สุดในโลก กิโลกรัมละ 5 บาท

3.2 ถูกจำกัดการส่งออก โดยรัฐเป็นผู้กำหนดโควตา

3.2.1 การกำหนดโควตาให้แต่ละบริษัทโดยยึดตัวเลขการส่งออกปี 2554 เป็นเกณฑ์ในการคำนวณ ซึ่งทราบกันอยู่ดีแล้วว่าปี 2554 การส่งออกเกือบทุกบริษัทลดลงเพราะปัญหาเรื่องการเพิ่มเงินสงเคราะห์การทำสวนยาง (CESS) ยกเว้นบริษัทที่มีบริษัทลูกอยู่ต่างประเทศที่มียอดการส่งออกสูง ส่งผลต่อการสูญเสียตลาดให้คู่แข่งขณะที่อินโดนีเซียใช้ตัวเลขเฉลี่ย 3 ปี

3.2.2 มาเลเซีย และอินโดนีเซีย ไม่นำเอาน้ำยางข้นมาร่วมในโครงการเพราะยากต่อการเก็บรักษาทั้งที่เก็บและคุณภาพที่ปรับเปลี่ยนตามอายุในการเก็บรักษา แต่รัฐบาลไทยเอาน้ำยางข้นมาร่วมด้วยทำให้ไทยเสียเปรียบทั้งสองประเทศ ในที่นี้แม้ผู้ประกอบการจะทักท้วงไปแล้วก็ไม่รับฟัง

3.2.3 บริษัทที่เพิ่งจัดตั้งในปี 2555 ยังไม่มียอดการส่งออกในปี 2554 มีปัญหาไม่มีตัวเลขอ้างอิงจนถึงวันนี้รัฐก็ยังไม่ได้ให้ตัวเลขที่จะใช้ ขณะนี้มีบริษัทที่ต้องหยุดการส่งออกเพราะปัญหานี้แล้ว ถามไปยังผู้รับผิดชอบก็ไม่ได้ให้ความสะดวกอะไรทั้งสิ้นจึงเกิดความเสียหายมากขณะนี้

3.2.3 บริษัทที่ขยายกำลังผลิตจากปี 2554 ถูกกำหนดให้ส่งได้เพียงครึ่งเดียวจากกำลังผลิตจริง ทำให้เกิดความเสียหายต่อแผนการตลาดและความน่าเชื่อถือมาก

3.2.4 บริษัทที่ส่งออกน้อยในปี 2554 แต่ปี 2555 มีการปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ด้านการตลาดมากขึ้น มีการทำสัญญาระยะยาวและขยายตลาดเกิดความเสียหายเพราะไม่สามารถส่งยางออกได้ตามสัญญาที่ตกลงไว้

การวิเคราะห์นโยบายการแก้ไขปัญหายางพาราของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ที่สร้างผลกระทบมหาศาลทั้งระบบ จะช่วยเปิดโลกทัศน์ให้ผู้รับผิดชอบในคณะรัฐบาล โดยเฉพาะ “อำมาตย์เต้น” จัดการแก้ไขข้อผิดพลาดที่เกิดขึ้นอย่างเร่งด่วน ไม่เช่นนั้นรัฐมนตรีมือสมัครเล่นก็อาจเป็นได้แค่ตัวตลกอย่างที่ใครๆ เขาว่า
กำลังโหลดความคิดเห็น