xs
xsm
sm
md
lg

ไทย-พม่า ร่วมป้องกัน และควบคุมไข้เลือดออก และมาลาเรียช่วงแล้งนี้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ระนอง - ไทย-พม่า ร่วมวางมาตรการป้องกัน และควบคุมโรคไข้เลือดออก และโรคมาลาเรียในช่วงแล้งนี้

นายแพทย์สุริยะ รัตน์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดระนอง และ ดร.ซาน ซาน ติ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลเกาะสอง ประเทศพม่า และคณะทำงานที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมและป้องกันเกี่ยวกับพาหะนำโรคร่วมกัน ประชุมเพื่อสรุปสถานการณ์โรคไข้เลือดออก และโรคมาลาเรีย พร้อมหามาตรการการป้องกันร่วมกันเพื่อยับยั้งการระบาดของโรคนี้ในช่วงหน้าแล้ง ในเขตชุมชนที่อาศัยอยู่ตามแนวชายแดน โดยมียุงลายเป็นพาหะนำโรคไข้เลือดออก และยุงก้นปล่องเป็นพาหะนำโรคมาลาเรีย

โดยสถานการณ์การระบาดในจังหวัดระนองขณะนี้ สถิติผู้เข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาลประจำอำเภอระหว่างเดือน ม.ค.56 และ ก.พ.56 รวม 2 เดือนนี้ พบผู้ป่วยที่เป็นไข้เลือดออก จำนวน 15 ราย และผู้ป่วยไข้มาลาเรีย จำนวน 21 ราย ซึ่งในทุกๆ ปี อำเภอกระบุรี จังหวัดระนอง ซึ่งมีแนวพรมแดนติดกับประเทศพม่า จะมีผู้ป่วยสูงถึงจำนวน 70 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งการแพร่ระบาดในจังหวัดระนองยังอยู่ในสถานการณ์ที่สามารถควบคุมได้ และจำนวนผู้ป่วยลดลงมาก เนื่องจากสาธารณสุขอำเภอ และอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน ได้ร่วมกันรณรงค์ และกำจัดยุงในชุมชนอย่างต่อเนื่อง

นายแพทย์สุริยะ คูหะรัตน์ กล่าวว่า การแพร่ระบาดของโรคไข้เลือดออก และโรคมาลาเรีย โดยมียุงลาย และยุงก้นปล่องเป็นพาหะนำโรค ซึ่งพบมากในประเทศเขตร้อน หากไม่ได้รับการรักษาในทันทีสามารถส่งผลให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้ ส่วนการร่วมมือนั้นเนื่องจากจังหวัดระนองเป็นจังหวัดชายแดนติดกับประเทศพม่า ฝั่งจังหวัดเกาะสอง มีการเดินทางเข้าออกของกลุ่มผู้ใช้แรงงานจำนวนมาก ดังนั้น จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องหามาตรการป้องกันการระบาดร่วมกัน โดยการป้องกันโรคไข้เลือดออก การป้องกันที่ดีที่สุดก็คือ กำจัดหรือลดแหล่งเพาะพันธุ์ยุง และพยายามหาทางป้องกันไม่ให้ถูกยุงกัด ธรรมชาติยุงลายชอบออกหากินในเวลากลางวันตามบ้านเรือน ชอบวางไข่ตามภาชนะที่มีน้ำขัง

ดร.ซาน ซาน ติ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลเกาะสอง ประเทศพม่า กล่าวว่า เป็นเรื่องดียิ่งที่ได้มีการประชุมสรุปสถานการณ์ร่วมกันระหว่างจังหวัดเกาะสอง กับจังหวัดระนอง ประเทศไทย ซึ่งการป้องกันควบคุมไข้เลือดออก และไข้มาลาเรียแต่เนิ่นๆ พร้อมหามาตรการ แผนงาน ร่วมกันจะช่วยรักษาชีวิตของประชาชนได้ทั้งสองประเทศ

ซึ่งนโยบายของอธิบดีกรมควบคุมโรค ป้องกันโรคไข้เลือดออก 5 ป 1 ข ได้แก่ ปิด เปลี่ยน ปล่อย ปรับปรุง ปฏิบัติเป็นประจำ และขัดภาชนะที่มีคราบไข่ยุงเกาะอยู่ กล่าวคือ 1.ปิดฝาภาชนะกักเก็บน้ำ 2.เปลี่ยนถ่ายน้ำทุก 7 วัน เช่น แจกันดอกไม้ ถังเก็บน้ำสำหรับอาบ 3.ปล่อยปลาหางนกยูง หรือปลากินลูกน้ำลงในอ่างบัว หรือที่กักเก็บน้ำที่ไม่มีฝาปิด 4.ปรับปรุงสิ่งแวดล้อมไม่ให้มีน้ำขังในที่ต่างๆ โดยเฉพาะยางรถยนต์ 5.ปฏิบัติการดังกล่าวข้างต้นเป็นประจำทุกสัปดาห์ แต่ในช่วงฤดูร้อนต่อช่วงฤดูฝนต้องขอเพิ่ม 1 ข คือ ขัดภาชนะที่เคยใช้กักเก็บน้ำก่อนนำมารองรับน้ำครั้งใหม่ เพราะภายในภาชนะดังกล่าวอาจจะมีไข่ยุงเกาะติดอยู่ เมื่อมีน้ำมาหล่อเลี้ยงไข่ยุงจะสามารถฟักตัวเป็นลูกน้ำภายใน 20-60 นาที ไข่ยุงนี้จะมีอายุยืนเป็นปีแม้จะอยู่ในภาวะแห้งแล้ง
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น