xs
xsm
sm
md
lg

กรมควบคุมโรคห่วงไข้เลือดออกระบาดใต้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ตรัง - รองอธิบดีกรมควบคุมโรค ห่วงการแพร่ระบาดของโรคไข้เลือดออกในหลายพื้นที่ของภาคใต้ โดยเฉพาะกลุ่มเด็กเล็กซึ่งพบผู้ป่วยมากที่สุด แนะใช้มาตรการ 5 ป. 1 ข. ลุยแก้ปัญหา

นายแพทย์นพพร ชื่นกลิ่น รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า เนื่องจากในช่วงขณะนี้สภาวะอากาศมีการเปลี่ยนแปลงบ่อยครั้ง ทำให้เกิดฝนตกชุกในหลายพื้นที่ของภาคใต้ จนส่งผลให้โรคไข้เลือดออกมีการแพร่ระบาดอย่างต่อเนื่อง ซึ่งข้อมูลตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2556 ถึง 22 กุมภาพันธ์ 2556 พบผู้ป่วยทั่วประเทศแล้ว 9,824 ราย เสียชีวิต 12 ราย ในจำนวนนี้ พบผู้ป่วยในภาคใต้ จำนวน 3,124 ราย เสียชีวิต 6 ราย สำหรับในพื้นที่เขต 12 หรือ 7 จังหวัดภาคใต้ตอนล่าง พบผู้ป่วย 1,712 ราย เสียชีวิต 4 ราย สูงสุดคือ จังหวัดสงขลา พบผู้ป่วย 1,093 ราย เสียชีวิต 2 ราย จังหวัดปัตตานี พบ 111 ราย เสียชีวิต 1 ราย และจังหวัดยะลา พบ 74 ราย เสียชีวิต 1 ราย

ในส่วนของจังหวัดตรัง จากข้อมูลรายงานเฝ้าระวังทางระบาดวิทยา ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2556 ถึง 4 มีนาคม 2556 สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดตรัง ได้รับรายงานผู้ป่วยด้วยโรคไข้เลือดออก จำนวน 136 ราย คิดเป็นอัตราป่วยเท่ากับ 21.70 ต่อแสนประชากร แต่ไม่มีรายงานผู้เสียชีวิต สูงสุดคือ อำเภอเมืองตรัง มีผู้ป่วย 68 ราย รองลงมา อำเภอกันตัง 16 นาย ส่วนอัตราป่วยด้วยโรคไข้เลือดออก จำแนกตามกลุ่มอายุของจังหวัดตรัง พบผู้ป่วยทุกกลุ่มอายุ โดยกลุ่มอายุที่มีอัตราป่วยสูงที่สุด คือ กลุ่มอายุ 15-24 ปี อัตราป่วย 49.15 ต่อประชากรแสนคน รองลงมาคือ กลุ่มอายุ 10-14 ปี อัตราป่วย 46.54 ต่อประชากรแสนคน และกลุ่มอายุ 5-9 ปี อัตราป่วย 34.04 ต่อประชากรแสนคน พบผู้ป่วยเพศชายมากกว่าเพศหญิง โดยพบเพศชาย 69 ราย เพศหญิง 67 ราย จำนวนผู้ป่วยสูงสุดคือ นักเรียน จำนวนผู้ป่วยเท่ากับ 73 ราย รองลงมาคือ อาชีพรับจ้าง 23 ราย

นายแพทย์นพพร ชื่นกลิ่น รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวเป็นห่วงกลุ่มเด็กเล็กมากที่สุดที่จะป่วยเป็นโรคไข้เลือดออก พร้อมเน้นย้ำให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขในพื้นที่ภาคใต้ และในจังหวัดตรัง เร่งรณรงค์ประชาสัมพันธ์ และร่วมกันกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลาย โดยใช้มาตรการ 5 ป. 1 ข. ซึ่ง 5 ป. ได้แก่ การปิดฝาภาชนะให้มิดชิด เพื่อป้องกันยุงลายวางไข่ การเปลี่ยนน้ำในแจกัน และถังเก็บน้ำทุก 7 วัน การปล่อยปลากินลูกน้ำในภาชนะ การปรับปรุงสิ่งแวดล้อม และการปฏิบัติเป็นประจำจนเป็นนิสัย ส่วน 1 ข. ได้แก่ การขัดล้างภาชนะที่อาจจะมีไข่ยุงลายเกาะติดอยู่ เนื่องจากไข่เหล่านี้สามารถอยู่ได้ 2 ปี และสามารถเป็นยุงลายได้ถึงร้อยละ 80

นอกจากนี้ ยังได้ให้นักเรียน อาสาสมัครสาธารณสุขประจำตำบล (อสม.) และเจ้าหน้าที่สำนักงานสาธารณสุข ดำเนินการการเดินรณรงค์ป้องกันการแพร่ระบาดของโรคไข้เลือดออกในบริเวณหมู่บ้านอีกด้วย


กำลังโหลดความคิดเห็น