xs
xsm
sm
md
lg

ชู “บ้านคำกั้ง” กาฬสินธุ์ ต้นแบบปราบลูกน้ำยุงลาย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ดร.นพ.พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค ลงพื้นที่ตรวจการป้องกันโรคไข้เลือดออกของสุขศาลาคำกั้ง
กาฬสินธุ์ - อธิบดีกรมควบคุมโรคลงพื้นที่ปราบลูกน้ำยุงลาย หลังพบผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกแล้วกว่า 6 พันราย และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น พร้อมชูสุขศาลาบ้านคำกั้ง ต.เหล่าใหญ่ อ.กุฉินารายณ์ เป็นต้นแบบการใช้สมุนไพรและภูมิปัญญาท้องถิ่น ป้องกันโรคไข้เลือดออก

วันนี้ (22 ก.พ.) ที่สุขศาลาบ้านคำกั้ง ต.เหล่าใหญ่ อ.กุฉินารายณ์ จ.กาฬสินธุ์ ดร.นพ.พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมการป้องกันควบคุมโรคไข้เลือดออกของสุขศาลาและชาวบ้านคำกั้ง พร้อมมอบนโยบายเจ้าหน้าที่สาธารณสุข (อสม.) ช่วยกันปราบลูกน้ำยุงลาย ป้องกันโรคไข้เลือดออก โดยมี นพ.พิสิทธิ์ เอื้อวงศ์กูล นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดกาฬสินธุ์ รายงานสถานการณ์ ซึ่งพบผู้ป่วยแล้ว 70 ราย แต่ยังไม่มีผู้เสียชีวิต

ดร.นพ.พรเทพกล่าวว่า สถานการณ์โรคไข้เลือดออกทั่วประเทศตั้งแต่วันที่ 1 มกราคมจนถึงปัจจุบัน พบผู้ป่วยกว่า 6,000 รายแล้ว ซึ่งสูงกว่าช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาถึง 10 เท่า มีผู้เสียชีวิต 4 ราย ซึ่งถือเป็นสัญญาณบ่งบอกได้ว่า หากไม่หาวิธีป้องกันทั่วประเทศจะพบกับศึกใหญ่ เพราะผู้ป่วยจะไม่ใช่เพิ่มแค่ 10 เท่า แต่จะเพิ่มเป็นหลายสิบเท่า คือ ทุกปีจะพบผู้ป่วยโรคไข้เลือกออกเฉลี่ย 60,000 ราย แต่หากปล่อยไว้อาจจะเพิ่มขึ้เป็น 600,000 ราย ซึ่งเป็นเรื่องน่ากลัว เพราะหากมีถึง 600,000 รายจริงจะมีผู้เสียชีวิตถึง 1,000 คนแน่นอน ดังนั้น ทุกภาคส่วนต้องร่วมกันจัดการกับลูกน้ำยุงลาย และไข่ยุงลายก่อนเข้าสู่ช่วงฤดูฝน ซึ่งเป็นช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโรคมากกว่าช่วงอื่น

“การดำเนินงานของสุขศาลาและชาวบ้านคำกั้ง ถือเป็นต้นแบบที่ดี ทุกคนมีส่วนร่วม เพราะไม่ต้องฉีดพ่นยา และไม่ใช้ทรายอะเบท แต่ใช้สมุนไพรพื้นที่บ้าน และภูมิปัญญาท้องถิ่นในการกำจัด ทั้งใช้ตะไคร้หอมไล่ยุง ใช้มะกรูด ถ่านไม้ไผ่ ปูนที่ใช้กินหมากแช่น้ำ ทำให้น้ำเป็นด่างไม่ให้ยุงวางไข่ ซึ่งประหยัดค่าใช้จ่าย ไม่มีผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกมาแล้ว 10 ปี ซึ่งจะนำไปขยายผลใช้กับพื้นที่อื่นเพื่อเพื่อลดจำนวนผู้ป่วยให้เหลือน้อยที่สุด และป้องกันการเสียชีวิตให้ได้มากที่สุด”

ดร.นพ.พรเทพกล่าวว่า วิธีการป้องกันและกำจัดลูกน้ำยุงลายจะต้องใช้มาตรการ 5 ป. และเพิ่มอีก 1 ข. คือ 1. ปิดภาชนะขังน้ำให้มิดชิด ป้องกันยุงลายลงไปวางไข่ 2. เปลี่ยนน้ำในแจกัน ถังเก็บน้ำทุก 7 วัน เพื่อตัดวงจรลูกน้ำที่จะกลายเป็นยุง 3. ปล่อยปลากินลูกน้ำในภาชนะใส่น้ำถาวร 4. ปรับปรุงสิ่งแวดล้อมให้ปลอดโปร่ง โล่งสะอาด ลมพัดผ่าน ไม่เป็นที่เกาะพักของยุงลาย 5. ปฏิบัติเป็นประจำจนเป็นนิสัย และลงมือทำทันที

และอีก 1. ข คือ ขัดล้างไข่ยุงลายที่อาจติดอยู่กับภาชนะที่ใช้ใส่น้ำ เช่น อ่างปลา แจกันดอกไม้ กระถางต้นไม้ อ่างน้ำ เพราะไข่ของยุงที่ติดอยู่กับขอบภาชนะจะเป็นเม็ดเล็ก สีดำ ถ้าไม่สังเกตอาจมองไม่เห็น บางภาชนะอาจมีไข่ยุงติดอยู่หลายพันจนถึงหมื่นฟอง ซึ่งไข่เหล่านี้อยู่ได้นานถึง 2 ปี ฟักตัวเป็นยุงลายได้ถึงร้อยละ 80 โดยเมื่อไข่ถูกน้ำท่วมถึงจะฟักตัวกลายเป็นลูกน้ำอย่างรวดเร็วภายในเวลา 20-60 นาที ดังนั้นต้องไม่ประมาท

มอบนโยบายให้อสม.ช่วยกันปราบลูกน้ำยุงลาย หลังพบผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกทั่วประเทศแล้วกว่า 6,000 ราย
กำลังโหลดความคิดเห็น