xs
xsm
sm
md
lg

อย.ห้ามผลิต นำเข้า ครอบครอง “สารลินเดน-น้ำมันตะไคร้หอม-ฟิโปรนีล-เอทีลีน”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


อย.ปรับระดับการควบคุมวัตถุอันตราย ทั้งสารลินเดน น้ำมันตะไคร้หอม ฟิโปรนีล เอทีลีน ฯลฯ มีผลบังคับใช้ 13 ธ.ค.55 เป็นต้นไป เตือนผู้ประกอบการแจ้งยกเลิก ยื่นคำขอ หรือแก้ไขใบสำคัญต่างๆ ให้สอดคล้องกับชนิดของวัตถุอันตรายที่ปรับปรุงแก้ไขใหม่

นพ.บุญชัย สมบูรณ์สุข เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวว่า ตามที่ อย.ได้ปรับปรุงบัญชีรายชื่อวัตถุอันตราย โดยพิจารณาจากข้อมูลผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม ความเสี่ยงของรูปแบบผลิตภัณฑ์และการนำไปใช้ รวมถึงการปฏิบัติตามพันธกรณีของอนุสัญญาที่ประเทศไทยเป็นภาคีสมาชิก ทำให้มีผลเปลี่ยนแปลงการจัดชนิดวัตถุอันตราย ดังนี้ 1.การห้ามใช้สารลินเดน (Lindane) ในผลิตภัณฑ์ป้องกันกำจัดแมลง โดยประกาศให้สารลินเดนเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 ห้ามผลิต นำเข้า ส่งออก หรือมีไว้ในครอบครอง ซึ่งเป็นการปฏิบัติตามพันธกรณีของอนุสัญญาสตอกโฮล์ม เกี่ยวกับสารมลพิษที่ตกค้างยาวนาน

2.การควบคุมน้ำมันตะไคร้หอม (Citronella oil) ในผลิตภัณฑ์ไล่ยุง หรือไล่แมลงจากเดิมเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 2 เปลี่ยนเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 1 เนื่องจากเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีรูปแบบความเสี่ยงต่ำ และเป็นการสนับสนุนการใช้ประโยชน์จากพืชสมุนไพร 3.การประกาศชื่อวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 เพิ่มเติมอีกจำนวน 4 รายการ ได้แก่ สารฟิโปรนิล (fipronil) ในผลิตภัณฑ์ป้องกันกำจัดแมลง สารเอทีลีน ไกลคอล เอ็นบิวทิล อีเทอร์ (ethyle ne glycol n-butyl ether) ในผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดพื้นผิว เครื่องสุขภัณฑ์และวัสดุอื่นๆ สารไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ (hydrogen peroxide) ในผลิตภัณฑ์ฆ่าเชื้อโรคและทำความสะอาดพื้นผิว เครื่องสุขภัณฑ์และวัสดุอื่นๆ และสารกลูตาราลดีไฮด์ (glutaraldehyde) ในผลิตภัณฑ์ฆ่าเชื้อโรคบนพื้นผิว เครื่องสุขภัณฑ์และวัสดุอื่นๆ

นพ.บุญชัย กล่าวด้วยว่า และ 4.การปรับแก้เงื่อนไขวัตถุอันตรายชนิดที่ 1 จำนวน 2 รายการ ให้มีความเหมาะสมชัดเจนมากขึ้น ได้แก่ สารลดแรงตึงผิวชนิดประจุลบ(anionic surfactants) และสารลดแรงตึงผิวชนิดไม่มีประจุยกเว้นโนนิลฟีนอลเอทอกซิเลต (nonionic surfactants ยกเว้นnonylphenol ethoxylates) ในผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดพื้นผิวเครื่องสุขภัณฑ์และวัสดุอื่นๆ รวมการปรับระดับการควบคุมวัตถุอันตรายฯทั้งสิ้นจำนวน 8 รายการ ซึ่งข้อเสนอดังกล่าวได้ผ่านกระบวนการการรับฟังความคิดเห็นจากผู้ที่เกี่ยวข้องและจากคณะกรรมการวัตถุอันตรายได้ให้ความเห็นชอบตามประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่องบัญชีรายชื่อวัตถุอันตราย (ฉบับที่ 8) พ.ศ.2555 โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 13 ธ.ค.55 เป็นต้นไป

“ผู้ประกอบการจะต้องมาดำเนินการขอยกเลิก ยื่นคำขอ หรือแก้ไขใบสำคัญต่างๆ ให้สอดคล้องกับชนิดของวัตถุอันตรายที่ได้มีการปรับปรุงแก้ไขใหม่ โดยวัตถุอันตรายที่มีการเปลี่ยนแปลงการจัดชนิดเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 ต้องขอแก้ไขใบสำคัญการขึ้นทะเบียน แจ้งยกเลิกใบรับแจ้งที่ได้ดำเนินการไปก่อนหน้านี้ โดยต้องขออนุญาตเกี่ยวกับวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 ใหม่ ให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน นับตั้งแต่วันที่ประกาศมีผลบังคับใช้ สำหรับผู้ผลิตหรือผู้นำเข้าผลิตภัณฑ์ไล่ยุงหรือไล่แมลง ที่มีน้ำมันตะไคร้หอมเป็นสารสำคัญ ที่ได้ขึ้นทะเบียนไว้แล้ว ต้องขอยกเลิกใบสำคัญการขึ้นทะเบียนและแจ้งข้อเท็จจริงเกี่ยวกับวัตถุอันตราย ชนิดที่ 1 ให้แล้วเสร็จภายใน 90 วัน นับแต่วันที่ประกาศมีผลบังคับใช้ ส่วนสารลินเดน ซึ่งได้ประกาศเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 มีผลห้ามผลิต นำเข้า ส่งออกหรือมีไว้ในครอบครอง ตั้งแต่วันที่ 13 ธ.ค.55 เป็นต้นไป มิฉะนั้น จะมีความผิดตามพระราชบัญญัติวัตถุอันตรายฯ โดยผู้ประกอบการสามารถดูรายละเอียดที่ต้องดำเนินการทั้งหมดได้ที่เว็บไซต์ อย.http://www.fda.moph.go.th/psiond/index.htm” เลขาธิการ อย.กล่าว

สำหรับวัตถุอันตรายที่ใช้ในบ้านเรือนและสาธารณสุขได้รับการจัดแบ่งออกเป็น 4 ชนิด ตามระดับของความเป็นพิษหรืออันตราย คือ ชนิดที่ 1 เป็นวัตถุอันตรายที่มีพิษภัยหรืออันตรายไม่มากนัก ดังนั้น จึงไม่ต้องขอขึ้นทะเบียนและ ขออนุญาตในการผลิต นำเข้า ส่งออก หรือมีไว้ในครอบครองซึ่งวัตถุอันตรายประเภทนี้ แต่ทั้งนี้ จะต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดไว้ ชนิดที่ 2 เป็นวัตถุอันตรายที่มีพิษภัยหรือมีอันตรายมากกว่าวัตถุอันตรายชนิดที่ 1 จึงกำหนดให้ผู้ประกอบการที่จะดำเนินการผลิต นำเข้า ส่งออก หรือมีไว้ในครอบครองซึ่งวัตถุอันตรายชนิดนี้ ต้องดำเนินการขอขึ้นทะเบียนวัตถุอันตราย (ยกเว้นจะมีประกาศในรายชื่อที่ยกเว้นการขึ้นทะเบียน) และจะต้องแจ้งการดำเนินการให้พนักงานเจ้าหน้าที่ทราบก่อนที่จะประกอบการ ซึ่งผู้ประกอบการจะต้องปฏิบัติตามเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนดเกี่ยวกับสถานที่และ อุปกรณ์การใช้ การดำเนินการในลักษณะนี้มีทั้งการควบคุมและการกำกับดูแล

ชนิดที่ 3 เป็นวัตถุอันตรายที่มีความเป็นพิษภัยหรืออันตรายในระดับที่สูงขึ้น แต่ก็ยังสามารถอนุญาตให้มีการดำเนินการผลิต นำเข้า ส่งออกหรือมีไว้ในครอบครองได้ หากมีการควบคุมที่ดีพอ ซึ่งวัตถุอันตรายชนิดนี้ผู้ประกอบการจะต้องขอขึ้นทะเบียนวัตถุอันตราย และขออนุญาตก่อนเมื่อได้รับการขึ้นทะเบียนและใบอนุญาตแล้ว จึงจะดำเนินการหรือประกอบการได้ และชนิดที่ 4 เป็นวัตถุอันตรายที่มีพิษหรือความเป็นอันตรายมาก ต่อมนุษย์ สัตว์ หรือสิ่งแวดล้อม จนไม่สามารถอนุญาตให้นำมาใช้ได้ หรือประโยชน์ที่ได้รับไม่คุ้มค่ากับความเสี่ยงอันตรายที่เกิดขึ้น จึงห้ามการผลิต นำเข้า ส่งออก หรือมีไว้ครอบครองของวัตถุอันตรายดังกล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น