ตรัง - จังหวัดตรัง เตรียมเสนอแนวทางประกาศเขตพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อมทางทะเล เพื่อดูแลพื้นที่ และทรัพยากรทางทะเล หลังถูกภัยคุกคามทำลายอย่างหนักในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา
นายไพทูล แพนชัยภูมิ ผู้อำนวยการส่วนอนุรักษ์ และฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กล่าวว่า เนื่องจากจังหวัดตรัง มีทรัพยากรธรรมชาติทางทะเลและชายฝั่งที่มีความอุดมสมบูรณ์ และหลากหลาย รวมทั้งสัตว์ทะเลหายาก โดยเฉพาะแหล่งหญ้าทะเลที่อุดมสมบูรณ์ และมากที่สุดประมาณ 20,000 ไร่ หรือ 1 ใน 4 ของพื้นที่แหล่งหญ้าทะเลของประเทศไทย มีพะยูนมากกว่า 150 ตัว ที่สำคัญ แนวปะการังและธรรมชาติท้องทะเลที่สวยงามของจังหวัดตรัง ยังเป็นแหล่งที่นักท่องเที่ยวนิยมมาเที่ยว รองจาก จ.ภูเก็ต จ.กระบี่ จ.พังงา
อย่างไรก็ตาม พื้นที่และทรัพยากรทางทะเลของ จ.ตรัง ในช่วงระยะ 10 ปีที่ผ่านมา อยู่ในสภาพที่กำลังถูกภัยคุกคามทำลาย ทั้งจากปัจจัยภัยธรรมชาติ การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศของโลก อุณหภูมิของน้ำทะเลที่เพิ่มขึ้น และปัญหาที่เกิดจากกิจกรรมการใช้ประโยชน์ในพื้นที่ การทำประมง การท่องเที่ยว และผลกระทบจากการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่ง การขนส่งทางทะเล การสร้างท่าเทียบเรือ การขุดลอกร่องน้ำที่ขาดมาตรการ และแนวทางการจัดการดูแลอย่างเหมาะสม และทั่วถึง
ทั้งนี้ จ.ตรัง เคยประกาศเป็นเขตพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อม เมื่อปี พ.ศ.2549 ในพื้นที่ธรณีภัยพิบัติ และปัจจุบันหมดอายุการบังคับใช้ไปแล้ว แต่จากสถานการณ์ปัญหาและแนวโน้มผลกระทบที่เกิดขึ้น จากการขยายตัว และการพัฒนาชายฝั่งทะเลในพื้นที่ 6 จังหวัดอันดามัน เชื่อแน่ว่า จ.ตรัง จะต้องได้รับผลกระทบในไม่ช้า โดยเฉพาะการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน หากไม่มีมาตรการและแนวทางป้องกัน ฉะนั้น การประกาศเขตพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อมทางทะเลจึงเป็นอีกแนวทางหนึ่งที่จะใช้เป็นเครื่องมือทางกฎหมาย ซึ่งจะส่งผลให้การคุ้มครองดูแลรักษาทรัพยากรทางทะเลชายฝั่งอย่างมีประสิทธิภาพ ดังเช่นที่ดำเนินการใน จ.ภูเก็ต จ.พังงา จ.กระบี่ อย่างได้ผล
ขณะที่ นายธีระยุทธ เอี่ยมตระกูล ผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง กล่าวว่า จ.ตรัง ได้ให้ความสำคัญในการดูแลรักษาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ไม่ว่าจะเป็นป่าชายเลน แหล่งหญ้าทะเล แนวปะการัง พะยูน เต่าทะเล โลมา โดยเฉพาะพะยูนนั้น ถือเป็นสัตว์ทะเลคู่บ้านคู่เมือง และเป็นสัญลักษณ์ของจังหวัด ซึ่งปัญหาที่เกิดขึ้นในพื้นที่ที่ทำให้เกิดการเสียชีวิตของสัตว์ทะเลเหล่านี้ ส่วนหนึ่งมาจากการขาดเครื่องมือ และมาตรการทางกฎหมายในการดูแลที่เหมาะสมและทั่วถึง ทำให้ที่ผ่านมา จังหวัดเองไม่มีอำนาจเด็ดขาดเข้าไปจัดการได้ ดังนั้น การผลักดันมาตรการการประกาศเขตพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อมเข้ามาใช้จะช่วยให้การปฏิบัติเกิดมีผลเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น