xs
xsm
sm
md
lg

“สนามชัย” สนามคู่บ้านคู่เมืองภูเก็ต ถูกจัญไรรุกราน / ประเสริฐ เฟื่องฟู

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


 
คอลัมน์ : แกะสะเก็ด
โดย...ประเสริฐ  เฟื่องฟู
 
“สนามชัย” สนามคู่บ้านคู่เมืองภูเก็ต คนยุคใหม่อาจไม่รู้คุณค่า โดยเฉพาะผู้ที่มาจากต่างถิ่นที่เข้ามาขุดทอง ซึ่งก็เป็นส่วนใหญ่ของจังหวัดภูเก็ต ณ ปัจจุบัน และน่าจะเป็นพลเมืองแฝงเสียด้วยซ้ำ หมายถึงมาแล้ว แต่ไม่ได้ย้ายมาให้ถูกต้อง พวกร้อยพ่อพันแม่พวกนี้ไม่ต้องไปพูดถึง เป็นพวกเอาเปรียบสังคม เอาเปรียบคนท้องถิ่น รวมทั้งข้าราชการบางคนก็ไม่ย้ายเข้ามา ชาติชั่ว!
 


 
พื้นที่ “สนามชัย” นั้นมีอยู่กว่า 14 ไร่ เป็นสนามอเนกประสงค์ และสโมสรข้าราชการอีกส่วนหนึ่ง อยู่ติดถนนดำรง ฝั่งตรงข้ามกับศาลจังหวัดภูเก็ต น่าจะสร้างขึ้นมาในเวลาไล่เลี่ยกับศาลากลางจังหวัดในปี 2450 เศษๆ ยุคของท่านเจ้าพระยารัษฎานุประดิษฐ์
 
วัตถุประสงค์หลักก็เพื่อให้เป็นสนามอเนกประสงค์ที่ประชาชนในพื้นที่ใช้ร่วมกัน ส่วนสโมสรนั้นให้ข้าราชการใช้พักผ่อนเมื่อเลิกงาน ตอนแดดร่มลมตก เพราะสถานบันเทิงเริงรมย์ ผับ บาร์ ไม่มีในยุคนั้น
 
ตามประวัติ ลานสนามชัยแห่งนี้เป็นที่ตั้งกองลูกเสือป่า มณฑลภูเก็ต และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 เคยเสด็จประพาส พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี และทรงโปรดเกล้าฯ ให้ชาวภูเก็ตเข้าเฝ้าถวายพระพรชัย และชมพระบารมีอย่างใกล้ชิด ณ สนามชัยแห่งนี้
 

ภาพเหตุการณ์เมืองครั้งชาวภูเก็ตร่วมตัวออกมาต่อต้านคัดค้านการใช้สนามชัยเป็นที่สร้างอาคารศาลากลางหลังใหม่
 
เท่าที่จำความได้ 60 ปีที่ผ่านมา เมื่อสมัยยังเป็นเด็ก เคยใช้เป็นสนามเล่นว่าวของเด็กเล็กยันเด็กใหญ่ วัยรุ่น วิ่งเล่นสนุกกันเต็มที่ เป็นสนามแข่งขันกีฬาทั้งประชาชน และนักเรียน เป็นที่ชุมนุมวันลูกเสือ เป็นที่จัดงานกาชาด งานวันปีใหม่ โดยใช้สถานที่ต่อเนื่องข้ามฟากไปถึงบริเวณลานศาลากลางจังหวัด เดินกันเหนื่อยกว่าจะทั่วงาน

ฝั่งทิศเหนือด้านที่ติดกับถนนดำรง เดิมเป็นสโมสรข้าราชการ เป็นอาคารเรือนไม้ยกพื้นสูงกว้างใหญ่ ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ หรือคหบดีมีสตางค์ใช้เป็นสถานที่จัดเลี้ยงงานแต่งงานลูกหลาน งานเลี้ยงรับรอง และจัดงานสังสรรค์ บริเวณนี้ร่มรื่นไปด้วยร่มไม้ใหญ่ จำได้ว่ามีต้นฉำฉา ต้นประดู่ หรือน่าจะเป็นต้นมะฮอกกานีขนาดใหญ่ เหมือนที่โรงพยาบาลวชิระ
 
คิดว่าอีกไม่ช้า “มะฮอกกานี” อายุนับร้อยปีที่โรงพยาบาลวชิระภูเก็ต มีแนวโน้มว่าจะถูกโค่นทิ้งเหมือนกัน เพราะอาจไปขวางหูขวางตาผู้อำนวยการคนใดคนหนึ่งในอนาคต เป็นอันว่าต้นไม้ 3 คนโอบชนิดนี้มีสิทธิสูญพันธุ์จากภูเก็ตแน่
 


 
ความโดดเด่นของสนามชัยเริ่มปรากฏให้เห็นชัดอีกครั้งหนึ่ง เมื่อเกิดภัยพิบัติธรรมชาติคลื่นยักษ์ “สึนามิ” ที่สร้างความเสียหายให้ฝั่งอันดามันชนิดยับเยิน ได้ใช้เป็นสนามเฮลิคอปเตอร์ลำเลียงช่วยเหลือผู้บาดเจ็บ และปฏิบัติภารกิจบรรเทาสาธารณภัย บินขึ้น-ลงหลายลำ
 
ที่ทุกคนยอมรับ และเห็นด้วยก็คือ เป็นสถานที่หลบภัยธรรมชาติคลื่นยักษ์ และอุทกภัยที่อาจเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา เพราะบริเวณนี้อยู่บนเนินโต๊ะแซะ เป็นที่สูง ที่ผ่านมา เมื่อมีการแจ้งเตือนภัย ชาวบ้านย่านเกาะสิเหร่ ชุมชนหาดแสนสุข สะพานหิน และในตัวเมืองต่างเฮโลมาพึ่งสนามชัยทั้งสิ้น
 
ต้องขอชมเชยองค์การบริหารส่วนจังหวัด หรือ อบจ.ภูเก็ตยุคนี้ ที่ได้เห็นความสำคัญของสนามชัยอีกครั้งหนึ่ง ด้วยการรื้อฟื้นคืนวันเก่าๆ คืนชีวิตให้สนามชัย จัดกิจกรรม จัดงานเทศกาลต่างๆ ขึ้นบนสนามที่บรรพบุรุษสร้างไว้ให้ อย่างงานเคานต์ดาวน์วันปีใหม่ งานวันตรุษจีน เทศกาลอาหารฮาลาล และอื่นๆ ดีกว่าไปแย่งกันจัดที่เวทีกลางสะพานหิน ยังกับเล่นเก้าอี้ดนตรี
 
ดังนั้น สนามชัย สนามประวัติศาสตร์คู่บ้านคู่เมืองแห่งนี้ ซึ่งอยู่ในความดูแลของ อบจ.ภูเก็ต ผู้บริหาร รวมทั้งสมาชิกทุกท่านจะเป็นฝ่ายไหนก็ตาม ควรแสดงความกตัญญูต่อเสียงของประชาชนชาวภูเก็ตทุกเสียง ทุกพื้นที่ที่เลือกท่านเข้าไปในสภาฯ ต้องปกป้องสนามที่บรรพบุรุษสร้างไว้ให้อย่างเต็มที่สุดชีวิต ไม่ใช่เนรคุณต่อบรรพบุรุษของชาวภูเก็ต ไปสุมหัวกับข้าราชการจัญไรทำลายสนามชัยแห่งนี้
 


 
ทราบว่า ในการประชุมสภาจังหวัดวันจันทร์ที่ 18 มีนาคม 2556 นี้ มีการบรรจุเรื่องนี้เข้าสู่วาระด้วย และนายไมตรี อินทุสุต ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต จะเป็นผู้ตอบชี้แจงต่อสภาฯ ด้วยตนเอง ส่วนจะเป็นเทปม้วนเดียวกับที่ท่านแถลงกับสื่อ หรือจะเป็นเวอร์ชันใหม่ ขณะเดียวกัน ก็จะได้เห็นบทบาทของสภาจังหวัดชุดนี้ว่า มีความสามารถรักษามรดกที่บรรพบุรุษสร้างไว้ให้รอดพ้นจากมือพวกจัญไรหรือไม่
 
สำหรับ “สนามเทนนิส” ที่กำลังถูกรุกรานยื้อแย่งเอาไปสร้างศาลากลางหลังใหม่หลังที่ 3 นั้น ที่จริงก็บุกรุกแย่งความร่มรื่นของสนามชัย และสโมสรข้าราชการมาก่อน ก็สมควรที่จะให้ย้ายออกไปนานแล้ว เพราะสปอตไลต์ของสนามส่องตาผู้ใช้ยวดยานบนถนนดำรง ที่มาจากทางด้านเรือนจำช่วงค่ำคืน
 
สถานที่เหมาะสมด้วยประการทั้งปวงที่ “สนามเทนนิส” จะไปตั้ง ก็น่าจะเป็นศูนย์กีฬาสะพานหิน อากาศก็ดี การกีฬาและท่องเที่ยว รวมทั้งเทศบาลนครภูเก็ตผู้ดูแลสถานที่ ตลอดจนเจ้าของพื้นที่อย่างเทศบาลตำบลวิชิตก็ไม่น่าจะขัดข้อง ไม่ใช่ย้ายไปสร้างใหม่ที่บริเวณสำนักพัฒนาอุตสาหกรรมเหมืองแร่ในอดีต
 
จังหวัดภูเก็ตมีแค่ 3 อำเภอ และน่าจะเป็นจังหวัดเดียวของประเทศที่มีศาลากลางจังหวัดถึง 3 หลัง รวมทั้งที่กำลังจะสร้างใหม่ หลังแรกสร้างมานับร้อยปี สองสามชั่วอายุคนแล้ว ได้รับการขึ้นทะเบียนอนุรักษ์เป็นปูชนียวัตถุ หรือปูชนียสถานของกรมศิลปากรถูกต้องตามกฎหมายเรียบร้อยแล้ว มีกฎหมายคุ้มครอง ไม่มีใครแตะต้องเปลี่ยนแปลงได้อีก ถ้านักการเมืองไม่เกิดตัณหาความอยากบีบแก้กฎหมายขึ้นมาใหม่
 

 
ชาวภูเก็ตทุกคนต่างก็ภาคภูมิใจที่ศาลากลางหลังนี้ได้รับการอนุรักษ์ไว้ชั่วลูกชั่วหลาน และได้อวดคนทั่วโลกให้เห็นศิลปวัฒนธรรมที่บรรพบุรุษของเราได้สร้างไว้ให้เป็นที่เชิดหน้าชูตา และให้บริษัททัวร์ หรือพวกไกด์ได้นำไปหากินเก็บเกี่ยวผลประโยชน์ไปอีกนานแสนนาน
 
ขณะเดียวกัน จังหวัดภูเก็ต ก็ได้รับงบประมาณสร้างศาลากลางหลังที่สองขึ้นมาทดแทน ถัดจากศาลากลางเก่าไปด้วยงบประมาณกว่า 80 ล้านบาท สร้างเสร็จนานแล้วพร้อมใช้งาน แต่ปรากฏว่า ไม่มีผู้ว่าฯ คนไหนยอมย้ายเข้าไป อาจไม่โก้หรู ไม่สมภาคภูมิ คงเปิดใช้แค่ห้องประชุม กับอีก 2 หน่วยราชการคือ สำนักงานออกหนังสือเดินทางของกระทรวงต่างประเทศ กับพัฒนาสังคมอยู่ชั้นล่างเท่านั้น
 
บัดนี้ ข้าราชการขี้ครอกนักการเมือง 5-6 คน ทั้งที่เสียเงินวิ่งเต้น และมาตามใบสั่งเส้นสายให้มาสร้างฐานเสียง รวมทั้งไอ้ข้าราชการที่มีเชื้อสายคนภูเก็ตเนรคุณแผ่นดิน เกิดสุมหัวกันจะฮุบสนามชัย และพื้นที่ที่สนามเทนนิสบุกรุกล่วงหน้าไปแล้ว จำนวน 4 ไร่ เอาไปสร้างศาลากลางหลังที่สาม เพื่อเป็นผลงานเอาหน้าเอาตาอย่างหน้าด้านๆ และอาจจะได้เปอร์เซ็นต์ หรือมีผลประโยชน์ด้วยวิธีการใดวิธีการหนึ่งตามธรรมเนียมจากผู้รับเหมา เหมือนกับการประมูลงานทั่วไปของทางราชการ
 
งานเคาท์ดาวน์ส่งท้ายปีเก่า-ต้อนรับปีใหม่ของชาวภูเก็ตที่จัดขึ้นบริเวณสนามชัย
 
ในรายงานการประชุมสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ตสมัยสามัญ ประจำปี 2554 สมัยแรก วันจันทร์ที่ 28 มีนาคม 2554 เวลา 10.00 น. ณ ห้องประชุมสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ต มีบันทึกไว้ชัดเจนว่า นายพีรบูรณ์ ทองศิริเศรษฐ์ หัวหน้าสำนักงานจังหวัดขณะนั้น ได้รับมอบหมายเป็นตัวแทนผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ตให้ชี้แจงต่อที่ประชุมสภาจังหวัด เกี่ยวกับการใช้พื้นที่สนามชัยสรุปได้ว่า
 
“สนามชัย อดีตเป็นสนามเสือป่า เป็นที่สวนสนามของเสือป่าที่ชาวภูเก็ตภาคภูมิใจ และสนามแห่งนี้เป็นจุดรวมพลเพื่อประกอบกิจกรรม หรือภารกิจสำคัญ โดยเฉพาะกิจกรรมเทิดพระเกียรติของสถาบันอันสูงสุด ถวายพระพรชัยฯ และได้ใช้ประกอบกิจกรรมมาอย่างต่อเนื่อง กระทั่งเมื่อปี 2547 เกิดภัยธรรมชาติคลื่นยักษ์ “สึนามิ” กองทัพภาคที่ 4 ได้ตั้งเป็นศูนย์ช่วยเหลือผู้ประสบภัยฝั่งอันดามันทั้งหมด ไม่ใช่เฉพาะจังหวัดภูเก็ตเพียงแห่งเดียว มีเฮลิคอปเตอร์บินขึ้นลงหลายต่อหลายเที่ยว และหลายลำ ทำการช่วยเหลือผู้ประสบภัย หากมีสิ่งปลูกสร้างขึ้นมาตรงจุดนั้น อนาคตหากเกิดเหตุฉุกเฉินขึ้นอีก ก็จะเป็นอุปสรรคต่อการขึ้นลง นอกจากนี้ ในปัจจุบันมีเยาวชนโรงเรียนอนุบาล โรงเรียนพิบูลสวัสดี ได้มาใช้พื้นที่ตรงนี้ทำกิจกรรม ทั้งเล่นกีฬา ออกกำลังกาย ฝึกการเดินแถว นอกจากนั้น ยังทราบว่าทางองค์การบริหารส่วนจังหวัดได้เสนอแผนงานปรับปรุงสนามชัยให้เป็นปอดของภูเก็ตอีกด้วย”
 
เป็นที่น่าสังเกตว่า ผู้เชี่ยวชาญ ผู้รอบรู้เกี่ยวกับเมืองภูเก็ต ทั้งในมหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต และนอกมหาวิทยาลัยที่เคยไปจ้อไปโอ่โอ้อวดตามงานต่างๆ ว่ารู้เรื่องเมืองภูเก็ตดี พอสถานที่สำคัญอย่าง “สนามชัย” กำลังถูกข้าราชการจัญไร รวมทั้งไอ้พวกเนรคุณแผ่นดินเกิดจะยึดเอาไปสร้างผลงานเอาหน้า กลับไม่ยอมโผล่หัวมาแสดงความคิดเห็น กลับทำเป็นเอาหูไปนา เอาตาไปไร่ มันช่างน่านับถือเสียนี่กระไร
 
การแข่งขันกีฬาต้านยาเสพติดที่สนามชัยชาวภูเก็ตก็ได้ประโยชน์กันทั่วหน้า
 
การสร้างศาลากลางหลังใหม่ หลังที่สาม ถ้าหากได้งบประมาณมาแล้ว อยากจะสร้างเพื่อเป็นการเชิดหน้าชูตาจังหวัด และเพื่อเป็นผลงานข้าราชการน้ำเน่าชุดนี้ หากเป็นที่อื่นที่ไม่ใช่บริเวณที่มีความสำคัญที่ผูกพันกับวิถีชีวิตชุมชน หรือเกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์ ก็ไม่น่าจะมีใครคัดค้าน
 
ไม่ใช่ถือเอาความคิดของลูกหลานเนรคุณภูเก็ต 2-3 คนที่เข้ามารับราชการสุมหัวกับขี้ครอกกระทรวงน้ำเน่าริมคลองหลอดอยู่ในขณะนี้ เห็นว่าเหมาะสมโดยไม่ต้องฟังความคิดเห็นของคนอื่น ไม่ต้องทำประชาพิจารณ์ ไม่ต้องศึกษาถึงผลกระทบ ทั้งๆ ที่เป็นลานประวัติศาสตร์ เป็นสถานที่ของประชาชนใช้ร่วมกัน
 
ขอให้ชาวภูเก็ตที่อยู่ทั่วประเทศ และทั่วโลกพิจารณากันดูเถอะว่า เหมาะสมหรือไม่?
 
เป็นเรื่องแปลกประหลาดที่ข้าราชการกลุ่มนี้ แม้กระทั่งนายไมตรี อินทุสุต ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต ได้แถลงในวันพบสื่อว่า เมื่อสร้างศาลากลางเสร็จแล้ว ประชาชนยังสามารถใช้สนามชัยได้เหมือนเดิม และคนต่อมาก็คือ นายจำเริญ ทิพญพงศ์ธาดา รองผู้ว่าฯ ก็ออกมาชี้แจงต่อประชาชนที่มาคัดค้านในทำนองเดียวกันอีก
 
เป็นข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ แต่ออกมาพูดพล่อยๆ แบบนักการเมืองน้ำเน่า ชนิดขายผ้าเอาหน้ารอด น่าจะมีสามัญสำนึก ผู้ที่ออกมาคัดค้านในวันนั้นล้วนเป็นปัญญาชนทั้งสิ้น ไม่ได้มีการจ้างมา หรือชักจูงมาสร้างความวุ่นวาย
 
สถานที่ราชการนั้น ประชาชนทุกคนต้องให้เกียรติ ต้องเคารพต่อสถานที่ จะเข้าไปเพ่นพ่านโดยพลการไม่ได้ ต้องมีรั้วรอบขอบชิด ต้องมี รปภ. ยิ่งขณะนี้ภัยก่อการร้ายคุกคามอยู่ทั่วโลก แม้กระทั่งในประเทศไทย หมายถึงภูเก็ต และเชียงใหม่ด้วย บริเวณสถานที่ราชการสำคัญๆ ต้องอารักขาอย่างเข้มงวด โดยเฉพาะศาลากลางจังหวัด ถ้าศาลากลางถูกยึด ก็เหมือนทำเนียบถูกยึด!
 
เมื่อเป็นอย่างนี้ ประชาชนจะเข้าไปทำกิจกรรม ไปชุมนุมโดยเสรีได้อย่างไร ลองพิจารณาดูสิครับ ข้าราชการที่ออกมาพูดพล่อยๆ แบบนี้มีมันสมองหรือเปล่า แล้วสมควรจะให้บริหารราชการแผ่นดินอยู่ได้อย่างไร?
 
ชาวภูเก็ตที่อยู่ทั่วประเทศ และทั่วโลก หรือคนไทยด้วยกัน ถ้าได้อ่านเรื่องนี้แล้ว ช่วยแสดงความคิดเห็นด้วยเถอะว่า พฤติกรรมอย่างนี้ วิธีการอย่างนี้ เหมาะสมหรือไม่ ฝาก ส.ส.ภูเก็ตทั้งสองท่านด้วย อย่านอนหลับไม่รู้ นอนคู้ไม่เห็น และต้องไม่ลืมว่า ทุกคะแนนเสียงที่มอบให้ท่านทั้งสองนั้น เพื่ออะไร คิดดูให้ดี!
 
พื้นที่สีเขียว อุทยานแห่งชาติ ทุ่งเลี้ยงสัตว์ ป่าชายเลน ที่สาธารณะประชาชนใช้ร่วมกัน ถูกข้าราชการบัดซบเอาไปให้นักลงทุนผุดป่าคอนกรีตเก็บเกี่ยวผลประโยชน์เกือบหมดสิ้นแล้ว ขณะนี้ “สนามชัย” สนามคู่บ้านคู่เมือง ที่ปูย่าตาทวดสร้างมาให้ใช้ร่วมกัน กำลังถูกข้าราชการตราตั้งทรราชกลุ่มหนึ่งรวมหัวกัน วางแผนที่จะเอาแท่งคอนกรีตใหญ่โต 4-5 ชั้นไปตั้งโด่เด่ไว้แทนที่อีก
 
“โคตรชั่ว”
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น