xs
xsm
sm
md
lg

หนึ่งเดียวในอ่าวไทย...เก็บไว้ให้ลูกหลานเถอะ / บรรจง นะแส

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


 
คอลัมน์ : ฝ่าเกลียวคลื่น
 
โดย...บรรจง  นะแส 
 
เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2556 ที่ผ่านมา พล.ต.ท.วิเชียรโชติ สุกโชติรัตน์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงพลังงาน ได้ทำหน้าที่เป็นฝ่ายประชาสัมพันธ์ให้แก่โครงการด้านชุมชนสัมพันธ์ของกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ โดยได้เดินทางเป็นประธานเปิดโครงการวางก้อนปะการังเทียม โดยวางแท่งปูนซีเมนต์สี่เหลี่ยม จำนวน 1,000 ก้อน แนวบริเวณนอกชายฝั่งชุมชนชนประมงพื้นบ้านหัวถนน ต.มะเร็ต อ.เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี เพื่อเป็นการประชาสัมพันธ์โครงการขุดเจาะสำรวจน้ำมันในบริเวณดังกล่าว
 
ชาวประมงพื้นบ้านที่นั่นเป็นกลุ่มหนึ่งที่จะได้รับผลกระทบ และได้ลุกขึ้นมาคัดค้านโครงการดังกล่าวร่วมกับภาคประชาชนกลุ่มอื่นๆ ในเกาะสมุย เกาะพะงัน เกาะเต่า และบรรดานักท่องเที่ยวต่างชาติที่ประสานมือกันปกป้องพื้นที่ โดยจัดกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์กว่า 30,000 คน ในปี 2553 จนต้องยุติโครงการขุดเจาะสำรวจลงชั่วคราว เพราะไม่อาจทานกระแสคัดค้านของพลังมวลชนได้
 
3 ปีของการตั้งหลัก และทำการบ้านในการสลายพลังกลุ่มมวลชนต่างๆ ที่ลุกขึ้นมาคัดค้านในปี 2553 ถึงวันนี้ดูเหมือนการทำการบ้านในรอบ 3 ปีที่ผ่านมา และมีความมั่นใจของกลุ่มทุนธุรกิจพลังงานต่างชาติที่จะเดินหน้าโครงการต่อไปได้
 
เหตุการณ์เกิดขึ้นเมื่อปี 2550 โดยกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กระทรวงพลังงาน ได้อนุญาตแปลงสัมปทานโครงการขุดเจาะสำรวจปิโตรเลียมในอ่าวไทย ทั้งหมด 4 บริษัท ได้แก่ แปลงสัมปทาน G6/48 ของบริษัทเพิร์ลออย (อมตะ) ขอบแปลงห่าง 82 กิโลเมตรจากเกาะสมุย, แปลงสัมปทาน G4/50 ของบริษัทเชฟรอนฯ ขอบแปลงห่าง 3 กิโลเมตรจากเกาะสมุย และเกาะพะงัน, แปลงสัมปทาน B8/38 ของบริษัทซาลามานเดอร์ ขอบแปลงห่างประมาณ 60 กิโลเมตรจากเกาะเต่า และแปลงสัมปทาน G5/50  ของบริษัทนิสคอสตอล (CEC) ซึ่งมีขอบแปลงห่างประมาณ 30 กิโลเมตรจากเกาะสมุย
 
ซึ่งหากมีการดำเนินการขุดเจาะสำรวจ และก็จะตามมาด้วยการผลิต (ในกรณีที่พบแหล่งก๊าซ และน้ำมันจำนวนมากพอ) ก็จะส่งผลกระทบต่อพื้นที่ในบริเวณดังกล่าว ซึ่งเป็นพื้นที่ๆ สำคัญในการประกอบอาชีพของผู้คนคือ ชาวประมง และผู้ประกอบอาชีพที่สัมพันธ์กับการท่องเที่ยว เพราะสถานที่ในบริเวณดังกล่าวมีความเชื่อมโยงเกี่ยวข้องกัน ประกอบด้วยเกาะต่างๆ ที่สำคัญคือ เกาะสมุย เพาะพะงัน เกาะเต่า และอีกกว่า 40 เกาะที่อยู่ภายใต้การดูแลของอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะอ่างทอง ที่นับเป็นหนึ่งเดียวของอุทยานแห่งชาติทางทะเลในฝั่งอ่าวไทยที่มีพื้นที่มาก และมีความสวยงามติดอันดับต้นๆ ของโลก
 
การที่กระทรวงพลังงานประกาศว่า ในเดือนเมษายน 2556 นี้จะเริ่มมีการขุดเจาะสำรวจปิโตรเลียมในแปลง G4/50 ของบริษัทซาลามานเดอร์ (Salamander) ซึ่งอยู่ห่างจากเกาะพะงันเพียง 36.7 กิโลเมตร และแปลง G5/50 ของบริษัทนิวคอสตอล CEC (NuCoasta) ห่างจากเกาะสมุยเพียง 40 กิโลเมตร นอกจากนี้ กรมพลังงานและเชื้อเพลิงยังได้มีการเปิดให้สัมปทานเพิ่มขึ้นมาอีก 1 แปลงคือ แปลง B6/27 ของบริษัท ปตท.สผ. ซึ่งห่างจากเกาะเต่า และอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะอ่างทองประมาณ 30-40 กิโลเมตร
 
ในทางวิชาการการขุดเจาะแหล่งก๊าซและน้ำมันในพื้นที่ใกล้ชายฝั่งจะมีผลกระทบสูง ในบางประเทศ เช่น ออสเตรเลีย แม้จะเป็นประเทศที่มีความก้าวหน้าในด้านการควบคุมผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่มีประสิทธิภาพ ก็ไม่อนุญาตให้มีการดำเนินกิจกรรมเช่นนี้ในพื้นที่ใกล้ชายฝั่ง
 
แล้วประเทศไทยจะมีหลักประกันอะไรให้แก่ประชาชนต่อผลกระทบที่จะเกิดขึ้น ตัวอย่างผลกระทบจากการขุดเจาะน้ำมันใกล้พื้นชายฝั่งในจังหวัดสงขลาของบริษัทนิวคอสตอล (CEC) ย่อมเป็นตัวอย่างที่เลว ที่ส่งผลกระทบต่ออาชีพประมงพื้นบ้านในพื้นที่อำเภอระโนด สทิงพระ สิงหนคร และใกล้เคียงให้ล่มสลายไปในปัจจุบัน
 
ที่สำคัญ ในพื้นที่ๆ จะมีการขุดเจาะสำรวจในครั้งนี้ เป็นที่ตั้งของอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะอ่างทอง ซึ่งมีพื้นที่ครอบคลุมพื้นที่ตำบลอ่างทอง อำเภอเกาะสมุย อยู่ห่างจากเกาะสมุย และเกาะพะงัน ไปทางทิศตะวันตกประมาณ 20 กิโลเมตร ประกอบด้วยเกาะต่างๆ ประมาณ 40 เกาะ ตามเกาะต่างๆ จะมีหาดทรายอยู่เกือบทุกเกาะ บางเกาะหาดทรายมีสีขาวสะอาดบริสุทธิ์ บางเกาะมีปะการังตามชายทะเลหลายชนิด สีสวยงามหลากสี อยู่ท่ามกลางความเงียบสงบ มีเนื้อที่ของอุทยานประมาณ 63,750 ไร่ หรือ 102 ตารางกิโลเมตร
 
นอกจากจะมีทิวทัศน์ที่สวยงามแล้ว ในพื้นที่อุทยานฯ ยังมีทะเลสาบ หน้าผา ถ้ำทะลุ เกาะรังนกนางแอ่น นกนานาชนิด และแนวปะการัง ที่เป็นแหล่งอาศัย และเพาะพันธุ์ปลานานาชนิด ปลาที่พบในทะเลบริเวณอุทยานฯ มีอยู่หลากหลายสายพันธุ์ เช่น ปลาทู ปลาลัง ปลาเก๋าแดง ปลาปากคม ปลาสีกุน กระเบนจุดขาว กระเบนจุดฟ้า ปลาทรายแดง ปลาหลังเขียว ปลาตะเพียนน้ำเค็ม ปลากะตักใหญ่ ปลาจวด ปลาตาหวานจุด ปลาอินทรี ปลาดาบเงินใหญ่ ปลาสาก อันดับปลาซีกเดียวปลาลิ้นหมา ส่วนปลาที่พบตามแนวปะการัง เช่น ปลาสลิดหินดำ ปลาสลิดหินเขียว ปลาสลิดทะเล ปลาข้าวเม่าน้ำลึก ปลาผีเสื้อลายแปดเส้น ปลาผีเสื้อปากยาว ปลาสินสมุทรลายน้ำเงิน ปลากระทุงเหว ปลานกแก้ว ปลาสร้อยนกเขา ปลาการ์ตูนอินเดียนแดง ปลาพยาบาล
 
นอกจากนั้น ในอุทยานหมู่เกาะอ่างทองยังพบสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ 5 ชนิด สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมอย่างน้อย 16 ชนิด เช่น ค่างแว่นถิ่นใต้ นากใหญ่จมูกขน วาฬชนิดต่างๆ พบนกอย่างน้อย 53 ชนิด โดยเป็นจำพวกนกเป็ดน้ำ และนกชายฝั่งประมาณ 10 ชนิด มีนกประจำถิ่น 32 ชนิด เช่น นกยางเขียว เหยี่ยวแดง และนกอพยพ 9 ชนิด เช่น นกยางดำ นกปากซ่อมดง นกเด้าดิน มีนกที่ใกล้สูญพันธุ์อยู่ 1 ชนิดคือ นกเงือกดำ และนกที่ใกล้จะสูญพันธุ์ได้แก่ นกออก นกลุมพูขาว นกลุมพูเขียว นกแอ่นกินรัง และเหยี่ยวแดง ความหลากหลายของพันธุ์สัตว์น้ำเช่นนี้คือ แหล่งรายได้ของชาวประมง และแหล่งท่องเที่ยวที่ใครจะเนรมิตขึ้นมาก็ไม่ได้
 
ความพยายามที่จะนำเอาแหล่งพลังงานตามธรรมชาติ โดยเฉพาะก๊าซและน้ำมันขึ้นมาใช้ประโยชน์ คิดว่าเป็นเรื่องที่คนไทยทุกหมู่เหล่ากำลังมีคำถามที่รัฐบาลยังไม่สามารถไขข้อข้องใจต่างๆ ของประชาชนได้ ไม่ว่าการผูกขาดการในธุรกิจพลังงาน การให้ต่างชาติได้สัมปทานพื้นที่แหล่งพลังงานของชาติไปในราคาถูกๆ ที่ให้ผลตอบแทนต่อรัฐเพียงน้อยนิด
 
พรรคการเมือง หรือนักการเมือง ก็ไม่ได้มีความพยายามที่จะแก้ปัญหาที่เป็นสาเหตุ เช่น ไม่มีแม้แต่พรรคเดียวที่จะพูดถึง พ.ร.บ.ปิโตรเลียมที่ทำให้เปิดช่องให้ต่างชาติเข้ามาเหมาเข่งแหล่งพลังงานของชาติไปในราคาถูกๆ การผลักดันเดินหน้าเพื่อกดดันมวลชนในพื้นที่ของนักธุรกิจพลังงานต่างชาติ โดยการสนับสนุนของหน่วยงานของรัฐ โดยเฉพาะกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กระทรวงพลังงาน
 
ในครั้งนี้จึงเป็นการท้าทายผู้คนของสังคมนี้ยิ่งนัก เรื่องสำคัญในบางเรื่องเราควรเก็บรักษาไว้ให้ลูกหลานได้ตัดสินใจกันบ้าง หรือคิดว่าเมื่อมีอำนาจแล้วจะทำทุกอย่างได้ตามใจชอบ ผมประเมินว่างานนี้บริษัทธุรกิจพลังงานต่างชาติ และรัฐบาลจะได้รับบทเรียนที่เจ็บปวดแน่นอน สังคมไทยจะไม่ยอมให้พวกท่านทำร้ายทำลายอนาคตของลูกหลานเขาต่อไปอีกแล้ว...ถ้าไม่เชื่อก็เชิญเดินหน้าได้เลย
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น