xs
xsm
sm
md
lg

คนไทยไม่ใช่ควาย...นะเจ้าสัว / บรรจง นะแส

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


 
คอลัมน์ : ฝ่าเกลียวคลื่น
โดย...บรรจง  นะแส
 
บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ ได้ซื้อหน้าหนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ ฉบับวันที่ 14-17 กุมภาพันธ์ 2556 เพื่อโฆษณาประชาสัมพันธ์กิจการของบริษัท โดยเฉพาะในส่วนของงานด้านความรับผิดชอบต่อสังคม และการพัฒนาอย่างยั่งยืน ที่มี นายวุฒิชัย สิทธิปรีดานันท์ รองคณะกรรมการผู้จัดการอาวุโสเป็นผู้รับผิดชอบ โดยกล่าวว่า ขณะนี้บริษัทได้ให้ความสำคัญกับ Green Supply Chain หรือห่วงโซ่การผลิตสีเขียว โดยจะผลักดันให้ซัปพลายเออร์ในห่วงโซ่การผลิตทั้งหมดมุ่งเน้นไปในทิศทางเดียวกัน เพื่อป้องกันผลกระทบต่างๆ และสร้างความเชื่อมั่นต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วน โดยต้องทำการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และไม่สร้างผลกระทบต่อสังคม ชุมชน ตลอดห่วงโซ่การผลิต ฟังดูแล้วทำให้เคลิบเคลิ้มกับทิศทาง และนโยบายดังกล่าวของบริษัท แต่อยากจะเรียนตรงๆ ว่า “คนไทยไม่ใช่ควาย” นะครับ
 
ที่จำเป็นต้องพูดตรงไปตรงมาอย่างนี้ก็เพราะว่า บริษัทยักษ์ใหญ่อย่างบริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ ที่ดำเนินธุรกิจไปเกี่ยวข้องกับเกษตรกรหลากหลายกลุ่ม ไม่ว่าชาวนา ชาวสวน หรือชาวประมง ตลอดเวลากว่า 50 ปี ที่มีการดำเนินธุรกิจเป็นที่แน่ชัดว่า ทางบริษัทได้มีส่วนทำลายการพึ่งตัวเองของชุมชนลงในหลายๆ มิติ ไม่ว่าการพึ่งตัวเองในเรื่องของภูมิปัญญาในการปลูกพืช เลี้ยงสัตว์ ตลอดไปถึงธุรกิจรายย่อยของผู้คนในสังคมไทยให้ล่มสลายลง และต้องตกไปอยู่ในอุ้งมือ ตกอยู่ภายใต้การควบคุมของบริษัทในเครือ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ อย่างเบ็ดเสร็จ
 
สิ่งที่ทางบริษัทพยายามจะโหมโฆษณาว่าทางบริษัทได้กระทำการบริหารอย่างรับผิด ชอบต่อสังคม และคู่ค้าของตัวเองเช่น “ภายใต้ธุรกิจสีเขียวในส่วนของ Feed นั้น บริษัทได้ส่งเสริมให้เกิดกระบวนการพัฒนาร่วมกันระหว่างผู้ผลิตสินค้า และวัตถุดิบกับบริษัท จะพัฒนาไปสู่ Code of Conduct ของกรอบการพัฒนาอย่างยั่งยืนตามแผนที่วางเอาไว้ เช่น การรับซื้อวัตถุดิบปลาป่นจากโรงงานผู้ผลิตปลาป่น ต้องเป็นโรงงานที่ได้มาตรฐานกรมโรงงานอุตสาหกรรม ต้องปฏิบัติอย่างถูกต้องตามกฎหมาย เพื่อให้ได้วัตถุดิบที่ดี อันจะนำไปสู่ผลิตภัณฑ์ของบริษัทที่มีคุณภาพสูงส่งมอบสู่เกษตรกร และผู้บริโภคต่อไป”.....“การคัดสรรวัตถุดิบอาหารสัตว์จะต้องมีคุณภาพสูง มีความสะอาด-ปลอดภัย ตรวจสอบย้อนกลับได้ ยังต้องคำนึงถึงแหล่งที่มาที่ไม่ทำลายทรัพยากรธรรมชาติ หรืออย่างน้อยคู่ค้า หรือผู้ผลิตวัตถุดิบต้องได้ รับการรับรอง หรือกำกับดูแลจากภาครัฐในการยืนยันแหล่งที่มาของวัตถุดิบ ไปจนถึงสินค้าสำเร็จรูปในมือผู้บริโภค ครอบคลุมธุรกิจต้นน้ำถึงปลายน้ำ หรือ Feed Farm และ Food ทั้งนี้ ซีพีเอฟวางกรอบสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนในปี 2556-2560 บริษัทวางเป้าหมายพัฒนาด้วยแนวทาง 3 ด้าน คือ อาหารมั่นคง สังคมพึ่งตน และดินน้ำป่าคงอยู่ ...”
 
แต่สิ่งที่สังคมไทยประสบตลอดมาอันเป็นผลจากการเจริญเติบโตของบริษัทในเครือ ซีพีก็คือ ความมั่นคงในเรื่องอาหารของสังคมในชนบทถูกทำลาย ไม่สามารถพึ่งตัวเองได้ ป่าถูกโค่นทำลายแปลงเป็นเกษตรเชิงเดี่ยว เช่น ปลูกข้าวโพด ถั่วเหลือง เพื่อป้อนให้แก่โรงงานผลิตอาหารสัตว์ของบริษัท ทะเลไทยก็ถูกทำลายพันธุ์สัตว์น้ำจากอุตสาหกรรมปลาป่น เพราะทางบริษัทใช้ปลาป่นประกอบอาหารสัตว์ และส่งขายให้แก่บริษัทลูกของตัวเองในต่างประเทศ ทำให้ความพยายามหยุดยั้งเครื่องมือทำลายล้างพันธุ์สัตว์น้ำอย่างเรืออวนลาก อวนรุน และเรือปั่นไฟในสังคมไทยไม่สามารถดำเนินการได้ เพราะบริษัทซีพีมีอำนาจใหญ่เหนือกว่าพรรคการเมือง นักการเมือง หรือบรรดาเหล่าข้าราชการประจำ
 
การใช้วาทกรรม “สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน” (Sustainable Development) มาใช้ในการโฆษณา ทำให้ดูเสมือนว่า บริษัทมีความก้าวหน้าเป็นธรรมาภิบาลเสียนี่กระไร อยากเรียนว่า คำว่า “การพัฒนาอย่างยั่งยืน” (Sustainable Development) นั้น โดยทั่วๆ ไปนั้นเขามีตัวชี้วัดที่สำคัญอยู่ 3 ประการคือ
 
1) จะต้องมีความเท่าเทียมกัน (Equity) มีความยุติธรรม (Fairness) การพัฒนาอย่างยั่งยืนต้องตอบสนองความต้องการของคนจน และประชากรผู้ด้อยโอกาส ความเท่าเทียมกัน และความยุติธรรมเป็นส่วนประกอบสำคัญในนิยามของ “การพัฒนาอย่างยั่งยืน” เพราะตั้งอยู่บนข้อเท็จจริงที่ว่า ถ้าเราละเลยผลกระทบจากการกระทำของเราต่อคนอื่นในโลกที่เกี่ยวโยงซึ่งกันและกัน เราก็ต้องยอมรับความเสี่ยงที่จะเกิดอันตรายขึ้นกับตัวเอง และเผ่าพันธุ์เราในอนาคตด้วย
 
2) จะต้องมีมุมมองระยะยาว (Long-Term View) แนวคิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน มีผู้เชี่ยวชาญเสนอว่า ตราบใดที่คนรุ่นหนึ่งคิดถึงคนรุ่นต่อไปอีกประมาณ 50 ปีได้ ก็แปลว่าทรัพยากร และคนทุกรุ่นจะได้รับการดูแล
 
3) จะต้องมีการคิดแบบเป็นระบบ (Systems Thinking) ซึ่งต้องอาศัยความเข้าใจในความเชื่อมโยงระหว่างสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ และสังคม เพราะโลกนี้เป็นระบบปิดที่มีทรัพยากรจำกัด โลกนี้ไม่มีทรัพยากรมากนัก เรามีโลกเพียงใบเดียว กิจกรรมทั้งหมดเป็นเพียงส่วนเสี้ยวเดียวของระบบธรรมชาติที่ยิ่งใหญ่ ต้องมองให้เห็นว่าระบบที่ดำเนินไปด้วยน้ำมือมนุษย์นั้น ทั้งหมดนั้นอยู่ภายในระบบนิเวศที่ใหญ่กว่า ก่อนที่จะสามารถสร้างความสัมพันธ์ที่ยั่งยืนกับสิ่งแวดล้อม เราจะต้องมั่นใจให้ได้ว่า เผ่าพันธุ์มนุษย์จะอยู่รอดต่อไปในอนาคตได้จริงหรือไม่อย่างไร
 
การนำวาทกรรม “สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน” (Sustainable Development) มาใช้ในการโฆษณาของบริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ จึงเป็นการหยิบยกเอามากล่าวอย่างหลอกลวง และไม่มีความรับผิดต่อสิ่งที่เกิดขึ้นในอดีต หรือกิจกรรมต่างๆ ที่กำลังดำเนินการอยู่ในปัจจุบัน ป่าไม้ที่ถูกโค่นทำลายเพื่อปลูกข้าวโพด ถั่วเหลือง การรับซื้อปลาป่นจากเรืออวนลากเพื่อป้อนให้แก่ธุรกิจอาหารสัตว์ของบริษัท การสร้างธุรกิจทางการเกษตรที่เรียกว่าเกษตรพันธสัญญา (Contrac Farming) ในพื้นที่ต่างๆ ที่ผูกมัดเกษตรกรให้ขึ้นต่อ ไม่ว่าเกษตรกรที่ปลูกพืช เลี้ยงสัตว์ ที่ผ่านการควบคุมสายพันธุ์ ควบคุมอาหาร ยาปฏิชีวนะ อุปกรณ์ ฯลฯ และสุดท้ายคือ การควบคุมราคาที่เกษตรกรเป็นเสมือนทาสในเรือนเบี้ยของบริษัท นี่หรือคือสิ่งที่ทางบริษัทกำลังโหมโฆษณาว่าจะกำหนดทิศทางของบริษัทให้สอดคล้องกับ “การพัฒนาที่ยั่งยืน” ...อยากบอกว่าคนไทยไม่ใช่ควายนะครับ
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น