xs
xsm
sm
md
lg

“เคอร์ฟิว” กับความต้องการของฝ่ายการเมือง ใช้ดับหรือเติมเชื้อไฟใต้ / ไชยยงค์ มณีพิลึก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


 
คอลัมน์ : จุดคบไฟใต้
โดย...ไชยยงค์  มณีพิลึก
 
สถานการณ์การก่อการร้ายในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่เกิดขึ้นอย่างถี่ยิบ โดยมีเป้าหมายที่เจ้าหน้าที่รัฐ โดยเฉพาะทหารและประชาชนทั่วไป ซึ่งเริ่มตั้งแต่การยิงถล่มรถยนต์ของเกษตรกร จ.สิงห์บุรีที่เดินทางมาสอนวิธีการทำนาให้กับเกษตรกรในพื้นที่ จ.ปัตตานี เหตุเกิดที่ อ.ยะหริ่ง จ.ปัตตานี ทำให้มีผู้เสียชีวิต 2 ราย บาดเจ็บอีกจำนวนหนึ่ง ต่อด้วยการที่คนร้ายบุกเข้าจับตัวพ่อค้ารับซื้อลองกองจำนวน 4 คน ยิงทิ้งอย่างโหดเหี้ยม เหตุเกิดในพื้นที่ อ.กรงปีนัง จ.ยะลา รวมทั้งการยิงถล่มรถยนต์ของนายพิศาล อาแว นายอำเภอมายอ จ.ปัตตานี
 
ทั้ง 3 เหตุการณ์คือที่มาของคำว่า “เคอร์ฟิว” จาก ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะที่เป็น ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการขับเคลื่อนนโยบายและยุทธศาสตร์การแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ผอ.ศปก.กปต.) หลังสิ้นเสียงคำว่าจะประกาศเคอร์ฟิวในพื้นที่ที่มีเหตุความรุนแรง เสียงต้านจากคนในพื้นที่ รวมทั้งคนในรัฐบาลอย่าง พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต รมว.กลาโหมก็ไม่เห็นด้วย จนเกือบจะมีการการวิวาทะเกิดขึ้นในผู้ร่วมรัฐบาลเพื่อไทย
 
ต่อมาสถานการณ์การก่อการร้ายยิ่งรุนแรงขึ้น เมื่อเจ้าหน้าที่ทหาร 6 นายถูกลอบกัดด้วยคาร์บอมบ์ ก่อนถูกถล่มซ้ำด้วยอาวุธสงคราม เสียชีวิต 5 บาดเจ็บ 1 ที่ อ.รามัน จ.ยะลา ตามมาด้วยการระเบิดรถของทหารรบพิเศษ เจ็บอีก 4 นายที่ อ.ระแงะ จ.นราธิวาส ตามด้วยคนร้ายกราดยิงใส่ชุมชนชาวไทยพุทธที่บ้านโคกดีปรี อ.สายบุรี จ.ปัตตานี เหตุร้ายที่ต่อเนื่องและรุนแรงกลายเป็นเหตุผลที่ “ฝ่ายการเมือง” ต้องการที่จะใช้เครื่องมือที่เรียกว่า “เคอร์ฟิว” เข้าไปใช้เพื่อแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น
 

 
โดยข้อเท็จจริง สถานการณ์ความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้จะเกิดขึ้นถี่ยิบ หรือลดน้อยลงเพียงวันละ 2-3 เหตุการณ์นั้น ขึ้นอยู่กับขีดความสามารถในการควบคุมพื้นที่ของกำลังเจ้าหน้าที่ ซึ่งมี “กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า” เป็นเจ้าภาพ ถ้าการ รปภ.มีช่องโหว่หรือมีช่องว่างเกิดขึ้นมาก คนร้ายก็จะก่อการร้ายมากขึ้น แต่ถ้าช่องโหว่ช่องว่างของการ รปภ.น้อยลง การก่อการร้ายของ “แนวร่วม” ก็จะลดน้อยลง สถานการณ์ความรุนแรงของจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นอย่างนี้มาตลอดเวลา 9 ปีที่ผ่านพ้น ซึ่งเป็น 9 ปีที่มีการสูญเสียทั้งกำลังเจ้าหน้าที่และประชาชนในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง
 
จนกลายเป็นเรื่อง “ปกติ” ของคนในพื้นที่ เช่นเดียวกับเรื่อง “ปกติ” ของกองทัพ ตามที่ พล.ท.อุดมชัย ธรรมสาโรรัชต์ แม่ทัพภาคที่ 4 รวมทั้งเสนาธิการทหารบกได้ให้สัมภาษณ์สื่อว่า กองทัพยังควบคุมสถานการณ์ได้ ในขณะที่ตัวแทนครูซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายที่อ่อนแอ และเป็นเป้าหมายเชิงสัญลักษณ์ก็ยืนยันว่า สถานการณ์ ณ วันนี้ครูยังจัดการศึกษาได้ เพราะยัง “เอาอยู่” โดยที่ไม่ต้องให้ ครู ตชด.มาสอนแทนครูแต่อย่างใด ขอเพียงให้การ รปภ.ครูเป็นไปตามแผนที่ตกลงกันระหว่างครูกับกองกำลังในพื้นที่เท่านั้น
 

 
ปัญหาที่สำคัญที่ต้องพูดถึงคือ การใช้มาตรการเคอร์ฟิวในพื้นที่ที่มีเหตุรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ “สมควร” และ “เหมาะสม” แค่ไหน เพียงใด และมีการฟังความต้องการของคนในพื้นที่มากน้อยแค่ไหน และถ้ามีการประกาศใช้เคอร์ฟิวแล้วจะทำให้สถานการณ์ในพื้นที่เหล่านั้นลดความรุนแรงลงได้จริงหรือ
 
ประเด็นแรกที่ต้องพิจารณาคือ การใช้มาตรการเคอร์ฟิวคือการให้ประชาชนอยู่ในเคหะสถานตามที่ทางทหารกำหนดนั้น ผู้ที่ได้รับผลกระทบในทันทีคือประชาชนในพื้นที่ อย่างน้อยมีผลกระทบ 2 เรื่อง ประกอบด้วย 1.คือการทำมาหากิน เพราะคนส่วนหนึ่งมีอาชีพในการทำสวนยาง ซึ่งจำเป็นต้องออกไปกรีดยางในเวลาหลังเที่ยงคืน และค่อนรุ่ง 2.กระทบการประกอบศาสนกิจ เพราะประชาชนในพื้นที่ต้องออกจากเคหะสถานไปละหมาดที่มัสยิดในเวลาที่กำหนดเอาไว้ ซึ่งเป็นเวลากลางคืนที่ถูกเคอร์ฟิวกำหนดว่า ห้ามออกจากเคหะสถาน
 
แค่ 2 ประเด็นนี้ก็เพียงพอที่จะให้ผู้ประกาศเคอร์ฟิวติดลบในสายตาของประชาชนในพื้นที่แล้ว
 


 
ส่วนประเด็นที่สำคัญได้แก่ เคอร์ฟิวไม่ได้เป็น “อุปสรรค” ในการเคลื่อนไหวของ “แนวร่วม” ในพื้นที่ เพราะขนาดมี พ.ร.ก.ฉุกเฉิน มีกฎอัยการศึก ที่ให้อำนาจกับเจ้าหน้าที่อย่างล้นเหลือในการตรวจค้น จับกุม ควบคุมตัวผู้ต้องสงสัยได้ถึง 30 วัน มีการติดกล้อง CCTV เป็นจำนวนมาก แต่ “แนวร่วม” ไม่เคยหวาดกลัว พ.ร.ก.และกฎอัยการศึก เพราะยังคงปฏิบัติการก่อเหตุร้ายได้อย่างดี โดยที่เจ้าหน้าที่ไม่สามารถสกัดกั้นหรือจับกุมในขณะเกิดเหตุ หรืออยู่ระหว่างหลบหนี หลังการก่อเหตุที่จับได้ก็เป็นการจับหลังจากผ่านการสืบสวนสอบสวนและออกหมายจับตาม พ.ร.ก. โดยไปปิดล้ม ตรวจค้น จับกุมในภายหลังแล้วเกือบทุกร้าย
 
และที่สำคัญที่สุดคือ เจ้าหน้าที่ต้องกลับไปกางแผนที่ตรวจสอบ วัน ว. เวลา น. ที่เป็นการลงมือปฏิบัติการของ “แนวร่วม” ที่เป็นเหตุใหญ่ เช่น วางระเบิดคาร์บอมบ์รถยนต์ของทหาร การวางระเบิดข้าราชการ การปิดพื้นที่ยิงเจ้าหน้าที่รัฐ การฆ่ารายวันที่มีเป้าหมายต่อประชาชน เกิดขึ้นในเวลาไหนมากที่สุด หรือคาร์บอมบ์ในเขตเศรษฐกิจไม่ว่าจะเป็นที่นราธิวาส ที่หาดใหญ่ ที่ยะลา เกิดขึ้นในเวลา “กลางวัน” หรือ “กลางคืน”
 
ถ้าตรวจสอบให้ละเอียดจะพบว่า ล้วนเกิดเวลากลางวัน ส่วนเหตุที่เกิดกลางคืนส่วนใหญ่เป็นยิงรบกวนฐานทหาร ปล้นฐานทหารหรือฐานของเจ้าหน้าที่หน่วยต่างๆ
 

 
นี่คือเหตุผลที่คนในพื้นที่เขาสะท้อนความเห็นออกมาว่า วันนี้รัฐบาลกำลัง “เกาผิดที่” คือเกาไม่ถูกที่คัน ใช้วิธีการแก้ปัญหาที่ไม่ตอบโจทย์ของความรุนแรงที่เกิดขึ้น และรัฐบาลกำลังจะ “หลงป่า” นำประเทศและประชาชนเข้ารกเข้าพงเหมือนกับ “คนตาบอด จูงคนตาดี” ซึ่งไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ในการแก้ปัญหาความไม่สงบของจังหวัดชายแดนภาคใต้
 
ดังนั้น หากรัฐบาลประกาศเคอร์ฟิวในพื้นที่ซึ่งเกิดเหตุรุนแรง จึงไม่ใช่ทางออกในการแก้ปัญหาที่ถูกต้อง เพราะไม่ตอบโจทย์ของการหยุดสถานการณ์ความรุนแรง แต่จะเป็นการ “เข้าทาง” ของขบวนการแบ่งแยกดินแดน ที่ต้องการให้มีการประกาศเคอร์ฟิว เพื่อนำไปขยายสถานการณ์ในสังคมโลกให้เห็นถึงความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ และให้เห็นถึงการที่รัฐจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชน
 


 
การประกาศเคอร์ฟิวจึงเป็นการเพิ่มความรุนแรง และความหวาดกลัวให้เกิดขึ้น ดังนั้น “ศปก.กปต.” จึงต้องคิดให้รอบคอบ ก่อนที่จะตัดสินใจประกาศเคอร์ฟิวในครั้งนี้.
 


กำลังโหลดความคิดเห็น