ท่ามกลางสถานการณ์การเพิ่มขึ้นของคนพิการและคนที่มีภาวะพึ่งพา การเข้าถึงบริการทางการแพทย์และการฟื้นฟูสมรรถภาพของคนกลุ่มนี้ที่มีอยู่ร่วมสองล้านคนยังมีปัญหา ก่อให้เกิดช่องว่างและไม่เป็นธรรม ถือเป็นโจทย์ใหญ่ที่หลายฝ่ายกำลังร่วมผลักดันแก้ไข โดยเป้าหมายการลดความเหลื่อมล้ำและความไม่เป็นธรรมของคนพิการ ต้องทำควบคู่กันไปทั้งเรื่องความต้องการด้านบริการทางการแพทย์ การฟื้นฟูสมรรถภาพที่คนพิการอยากได้ โดยรัฐสามารถจัดหาให้ได้โดยไม่ส่งผลกระทบต่อระบบการคลังและการบริหารจัดการสุขภาพโดยรวมของประเทศ
***ครึ่งทศวรรษการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ
ประเทศไทยมีการจัดตั้งหน่วยงานเพื่อดูแล “คนพิการ” ในสังกัดของกรมประชาสงเคราะห์ มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2483 แต่เป็นหน่วยงานเล็กๆ ในฝ่ายสงเคราะห์คนไร้ที่พึ่ง กองสวัสดิการสงเคราะห์ เน้นการสงเคราะห์คนพิการ อีก 50 ปีต่อมาจึงมี ‘พระราชบัญญัติการฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการ พ.ศ. 2534’ มีการจัดตั้งสำนักงานคณะกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการขึ้นมา มีหน้าที่ในการสงเคราะห์ พัฒนา และฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการ และปัจจุบันมี ‘พระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. 2550’ ออกมาใช้แทน
สาระสำคัญของ พ.ร.บ.ฉบับนี้ก็คือ เพื่อปรับปรุงวิธีการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการให้มีความเหมาะสมยิ่งขึ้น กำหนดบทบัญญัติเพื่อคุ้มครองสิทธิคนพิการเพื่อมิให้มีการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมเพราะเหตุทางกายหรือสุขภาพ ให้คนพิการมีสิ่งอำนวยความสะดวกสาธารณะและความช่วยเหลืออื่นจากรัฐ ตลอดจนให้รัฐต้องสงเคราะห์คนพิการให้มีชีวิตที่ดีและพึ่งตนเองได้
นอกจากนี้ พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวยังกำหนดให้มีการแต่งตั้ง ‘คณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติ’ ขึ้นมา โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และมีการจัดตั้ง ‘สำนักงานส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติ’ อยู่ในสังกัดของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ มีฐานะเทียบเท่ากรม ทำหน้าที่ในการเสนอนโยบาย แผนหลัก และโครงการต่างๆ ที่เกี่ยวกับการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการเพื่อให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาเห็นชอบ และมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับไปดำเนินงานต่อไป รวมทั้งให้มีการจัดตั้งกองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการขึ้นมา
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะมี พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว และรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 ได้คุ้มครองศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และความเสมอภาคของบุคคล รวมถึงการห้ามเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมเพราะเหตุแห่งความพิการ ตลอดจนการที่รัฐบาลไทยได้เข้าเป็นภาคีและยื่นสัตยาบันสารตาม “อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิคนพิการขององค์การสหประชาชาติ” เมื่อเดือนกรกฎาคม 2551 แล้วก็ตาม แต่ในทางปฏิบัติยังปรากฏ “ความเหลื่อมล้ำ ไม่เป็นธรรม” แก่คนพิการในหลายๆ ด้าน โดยเฉพาะการเข้าถึงบริการสุขภาพของคนพิการ
เช่น คนพิการต้องประสบความยากลำบากในการรับบริการทางการแพทย์ ทั้งในเรื่องค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ค่ารักษาพยาบาล และการรอรับการรักษาที่ต้องใช้เวลานาน ประกอบกับความยากจนของคนพิการและครอบครัว ทำให้ครอบครัวต้องดิ้นรนต่อสู้เพื่อความอยู่รอด คนพิการจึงต้องถูกทอดทิ้ง ขาดการปฏิบัติที่เหมาะสม ไม่สามารถเข้าถึงการฟื้นฟูสมรรถภาพ และถูกละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐาน
คนพิการต้องประสบปัญหาด้านสุขภาพ เนื่องจากขาดความรู้ในการดูแลรักษาสุขภาพที่ถูกต้องและถูกวิธี มีภาวะโภชนาการที่ส่งผลให้เกิดโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ เช่น โรคอ้วน ความดันโลหิตสูง ขาดสารอาหาร ไม่ออกกำลังกายหรือขาดคำแนะนำการออกกำลังที่ถูกวิธี เป็นผลให้เกิดโรคแทรกซ้อนหรือเกิดการเสื่อมสภาพของอวัยวะ
นอกจากนี้ หน่วยบริการขั้นต้นที่ให้บริการด้านสาธารณสุข เช่น สถานีอนามัย โรงพยาบาลชุมชน โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล ศูนย์บริการสาธารณสุขชุมชน ยังขาดแคลนเอกสารเพื่อเผยแพร่ข่าวสารด้านสุขภาพแก่คนพิการ ขาดแคลนอุปกรณ์เครื่องช่วยเหลือคนพิการ และไม่สามารถจัดสิ่งอำนวยความสะดวกขั้นพื้นฐานสำหรับคนพิการได้ เนื่องจากข้อจำกัดด้านงบประมาณและข้อจำกัดของสถานที่ เช่น ไม่มีห้องน้ำสำหรับคนพิการ เป็นต้น
*** ความเหลื่อมล้ำ ไม่เป็นธรรมที่ต้องเร่งขจัด
สถาบันสร้างเสริมสุขภาพคนพิการ (สสพ.) เครือสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) เป็นอีกองค์กรหนึ่งที่ทำงานด้านคนพิการมาอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2547 มีเป้าหมายหลักคือ เครือข่าย หรือ ‘ชุมชนผู้พิการ’ มีความเข้มแข็งยั่งยืน สังคมวงกว้างมีความรู้ ความเข้าใจชีวิตของผู้พิการ คนพิการมีสุขภาวะที่ดี และสังคมมีความร่มเย็นเป็นสุข
พญ.วัชรา ริ้วไพบูลย์ ผู้อำนวยการสถาบันสร้างเสริมสุขภาพคนพิการ (สสพ.) กล่าวถึงภาพรวมสถานการณ์ความไม่เป็นธรรมที่คนพิการเผชิญอยู่ในปัจจุบันว่า มีปัญหาด้านการให้ความช่วยเหลือด้านอุปกรณ์ผ่านกองทุนความช่วยเหลือต่างๆ ที่การจัดบริการยังมีความเหลื่อมล้ำ ส่วนด้านการศึกษาของคนพิการยังมีช่องว่าง เช่น การพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนที่ไม่ชัดเจนเช่นกัน
สำหรับในด้านสุขภาพ แม้ปัจจุบันจะมีระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าแล้วก็ตาม แต่ก็มีคนจำนวนหนึ่งที่มีหลักประกันยังไม่สามารถเข้าถึงสิทธิด้านสุขภาพอย่างที่ควรจะเป็น ซึ่งการเข้าไม่ถึงจะมีหลายแบบ
“ในกลุ่มคนพิการที่เห็นได้ชัดเจนที่สุดคือ การไม่มีบริการอย่างที่ต้องการในระบบบริการสุขภาพ แม้ว่าในกฎหมายหรือ พ.ร.บ.การส่งเสริมสุขภาพคนพิการ หรือ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพ มีสิทธิเขียนไว้ในกฎหมายชัดเจน แต่พอไปดูในระบบกลับไม่มี หรือว่ามีบริการอยู่ในสถานพยาบาลแต่ว่าเข้าไม่ถึงหรือมีไม่เพียงพอ เช่น มีบริการด้านสุขภาพให้กับคนพิการในระดับโรงพยาบาลศูนย์แต่ในโรงพยาบาลระดับชุมชนไม่มี ฉะนั้นการจะขอเข้ารับบริการของคนพิการจึงยังไม่มีอยู่ทั่วไป
รวมไปถึงข้อจำกัดอื่น ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องการเดินทาง เช่น จะเดินทางด้วยรถโดยสารก็พบว่ามีความลำบากในการมาช่วยอุ้มหรือยกรถเข็นวีลแชร์ บางรายไม่มีรถ ไม่มีเงิน โดยเฉพาะเรื่องที่สำคัญคือ ไม่มีคนไปด้วยหรือมาคอยดูแลเพราะจะต้องทำหน้าที่การงานของตนเอง เหล่านี้จึงทำให้เส้นทางของการเข้าถึงบริการดูมีความซับซ้อน หลายขั้นตอนมาก”
“ขณะที่การเข้าไม่ถึงยังมีความหลากหลายในเรื่องการมีหรือไม่มีบริการตามสิทธิในเรื่องการบริการพื้นฐานในการฟื้นฟูสมรรถภาพที่จำเป็นสำหรับคนพิการ เช่น คนหูหนวกไม่มีอุปกรณ์และการฝึกสื่อสารหลังการผ่าตัดรักษา หรือผู้ที่มีความพิการทางหูในภายหลังเข้ารับการผ่าตัดทำประสาทหูเทียมมาแล้วแต่บริการตามหลังเพื่อฝึกการสื่อสารกลับไม่มี บริการอีกด้านหนึ่งของอุปกรณ์เครื่องช่วยคนพิการ บางรายไม่สามารถกลับมาดำเนินชีวิตได้อย่างปกติได้ ต้องมีอุปกรณ์เสริม เช่น อัมพาต จะฝึกนั่งยืนอย่างเดียวไม่ได้ แต่จะต้องมีวีลแชร์ หรือคนขาพิการแม้จะหัดเดินก็จะต้องมีขาเทียมสนับสนุน เป็นตัวอย่างรูปแบบบริการที่จะต้องมีการพัฒนาบริการกันต่อไป ส่วนผู้พิการทางจิตทางด้านสติปัญญา ปัจจุบันสถานบริการมีความจำกัดมาก เช่น มีลูกในต่างจังหวัดโรงพยาบาลประจำอาจไม่มีบริการทางด้านนี้ ก็ต้องวิ่งเข้ามารับบริการจากโรงพยาบาลหรือสถาบันเฉพาะทางใน กทม.”
ขณะเดียวกันใน 3 กองทุนระบบสุขภาพของไทยยังพบความเหลื่อมล้ำอยู่ คือ กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กองทุนประกันสังคม และกองทุนสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ มีความแตกต่างกันในสิทธิและอัตราค่าบริการ แม้จะเป็นรายการเดียวกันแต่รายละเอียดไม่เท่าเทียมกัน เช่น อุปกรณ์ช่วยฟังของระบบกองทุนประกันสังคมให้ 7,000 บาท ส่วนในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติให้ 13,000 บาท
สำหรับเรื่องของการศึกษา ยังถือว่าเป็นนัยสำคัญของการเข้าไม่ถึงบริการสุขภาพ พญ.วัชรามองว่า บริการสุขภาพ จะต้องเริ่มต้นที่การรับรู้ข้อมูลด้วย เช่น คนพิการบางคนไม่รู้ว่าตนเองเป็นอะไร ฉะนั้นการเข้าถึงบริการสุขภาพจะเป็นไปได้ดีถ้าคนพิการมีฐานข้อมูลความรู้ที่เพียงพอ
“การเข้าถึงสิทธิ เข้าถึงความรู้ในบริการด้านสุขภาพมีความเกี่ยวโยงกับการศึกษา เพราะการที่จะเข้าถึงข่าวสารด้านสุขภาพจะทำได้ดีต้องมีการศึกษาที่เพียงพอ คนพิการบางคนมีอุปสรรคจากความพิการในการเข้าถึงความรู้ ไม่ว่าจะเป็นหูหนวกที่ขาดล่าม ในรายที่ตาบอดทำให้เป็นอุปสรรคการฝึกปฏิบัติจากคำแนะนำทางการแพทย์และการรักษา เช่น การกินยาตามคำแนะนำของเภสัชกร ซึ่งอาจมีปัญหาภายหลังเพราะคนพิการตาบอดคลำเม็ดยาแล้วจำไม่ได้ หรือหูหนวกฟังคำอธิบายไม่ชัดเจน”
*** แก้ช่องโหว่ ผู้รับบริการต้องร่วมขับเคลื่อนนโยบาย
พญ.วัชรากล่าวถึงที่มาของปัญหาระบบบริการและการฟื้นฟูสุขภาพคนพิการว่า ที่ผ่านมาเรายังไม่ได้เอา “ผู้รับบริการ” มาเป็นตัวขับเคลื่อนระบบ แต่ที่ผ่านมาเราเอา “ผู้ให้บริการ” เป็นตัวขับเคลื่อนระบบ ฉะนั้นอะไรที่มีอยู่ในระบบจึงมาจากกรอบความคิดของ “ผู้ให้บริการ” โดยเฉพาะถ้ากรอบความคิดของผู้ให้บริการสอดคล้องกับผู้มีอำนาจการตัดสินใจนโยบายก็จะเกิดได้ง่าย
“ภาพที่เราเห็นชัดๆ คือการมีช่องว่างระหว่างผู้ให้บริการกับผู้รับบริการหรือผู้จ่าย เช่น ในเรื่องการดูแลคนพิการยังมีปัญหาใน 2 ระดับ คือตัวผู้ให้บริการจะมีองค์ความรู้หรือมีกรอบความคิดต่อสุขภาพเป็นแบบการเอาโรคเป็นตัวตั้ง จึงคิดหาวิธีการเยียวยารักษา ทั้งที่จริงแล้วต้องหาวิธีการอื่นด้วย ไม่ใช่แค่ให้ยา ผ่าตัด เพราะความพิการไม่ใช่โรค แต่เป็นสภาวะสุขภาพของคนที่สูญเสียความสามารถในการทำกิจกรรมบางอย่างไป ดังนั้นในการดูแลจึงต้องฝึกฟื้นเพื่อคืนความสามารถสมรรถนะ เช่น ฝึกใช้อุปกรณ์ฟื้นฟูสมรรถภาพในการเดินหรือเคลื่อนที่
“ช่วง 10 ปีมานี้คนเริ่มเข้าใจมากขึ้น แต่ถึงแค่นี้ยังต้องขยายไปอีก คือ คิดฝึกให้ใช้ชีวิตเพียงใน รพ.ไม่ได้ แต่จะต้องช่วยเหลือให้คนพิการสามารถช่วยเหลือตนเองในบ้านของตัวเองได้ด้วย ฉะนั้นการฝึกต้องทำให้ถึงระดับนี้”
ที่ผ่านมาแม้ว่าจะมีหน่วยงานต่างๆ พยายามจะแก้ไขปัญหาในการเข้าถึงบริการสุขภาพคนพิการ ทว่าเวลาเมื่อจะมีการขับเคลื่อนนโยบายมักจะถูกถามและถูกมองว่าเป็นการทำแต่เรื่องซ้ำๆ เดิมๆ ซึ่งจุดนี้เป็นการมองปัญหาในภาพใหญ่ แต่ในความเป็นจริงแล้ว ความพิการมีหลายแบบหลายประเภท การแก้ปัญหาจึงต้องทำทีละโจทย์ เช่น อุปกรณ์เครื่องช่วยของคนพิการหูหนวก ตาบอด เคลื่อนไหวร่างกายไม่ได้ ต่างมีความต้องการไม่เหมือนกัน
*** ตอบโจทย์ปัญหา ลงมือปฏิบัติจริง
พญ.วัชราได้ตอบโจทย์ปัญหาที่เกิดขึ้นในระบบบริการทางการแพทย์และการฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการผ่านบทบาทและการทำหน้าที่ของ สสพ.ในช่วงที่ผ่านมาว่า ได้เน้นด้านการเชื่อมโยงเครือข่ายคนพิการและหน่วยงานที่ทำงานเกี่ยวข้องกับคนพิการ รวมทั้งมีการวิเคราะห์เชิงยุทธศาสตร์ ว่าทำไมเป้าหมายที่วางไว้ยังทำไม่สำเร็จ หากจะดำเนินการให้บรรลุจุดหมายจะต้องเติมอะไรลงไป
ที่ผ่านมา สสพ.มีการดำเนินการเป็นประเด็นๆ ไป เช่น งานวิจัยที่ สสพ.ดำเนินการทำจะเป็นงานวิจัยในเชิงภาคปฏิบัติ โดยในด้านสุขภาพ สสพ.มีแผนปฏิบัติการด้านสุขภาพ เช่น การแก้ปัญหาทางการเข้าถึงบริการภาคสาธารณสุข เช่น งานพื้นที่การพัฒนาระบบการฟื้นฟูโดยใช้ครอบครัว ชุมชนเป็นฐาน โดยมีการพัฒนาความร่วมมือกับภาควิชาการอย่างมหาวิทยาลัยในพื้นที่ในการเข้าไปศึกษาถึงความต้องการที่จำเป็นและนำมาเป็นโมเดลมาขยายผลความคิดในเชิงนโยบายไปสู่ผู้ให้บริการ และผู้กำหนดนโยบายในการจัดการต่อไป ที่ชัดเจนก็คือเรื่องสถาปนิกเพื่อคนพิการที่มหาวิทยาลัยได้ลงไปออกแบบบ้านและสิ่งแวดล้อมเพื่อคนพิการ ซึ่งมีภาคท้องถิ่น คือ องค์การบริหารส่วนตำบลให้การสนับสนุน
นอกจากนี้คือ การใช้แนวคิด ICF ที่ช่วยทำให้เห็นภาพรวมทั้งโปรไฟล์และภาคประชากรคนพิการ ว่าจะต้องดูแลตรงไหนบ้างซึ่งจะนำไปสู่ระบบบริการฟื้นฟูสุขภาพ รวมถึงมีอบรมนักกายภาพ อสม. ด้วยวิธีการ Work Shop โดย สสพ.จะมีวิทยากรไปคอยให้ความรู้ ตอนนี้ สวรส.มีแผนงานย่อยในการฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการ เป็นการทำงานในระดับสถาบัน และลงไปสู่ชุมชนมากขึ้นเหมือนงานไพรม์มารีแคร์ เพื่อเชื่อมแนวทางการทำงานให้กับหน่วยงานในท้องถิ่นได้รู้ว่าจะลงมาทำงานจับมือกับส่วนกลางได้อย่างไร
รวมไปถึงการขยายความคิดของบุคลากรทางการแพทย์เพื่อให้รู้ว่าความต้องการของคนพิการอยู่ตรงไหน จะมีแนวทางการฟื้นฟูสมรรถภาพได้อย่างไร ซึ่งมีรูปธรรม คือ การลดความเหลื่อมล้ำใน 3 กองทุน ล่ามภาษามือ บริการผู้ให้ความช่วยเหลือคนพิการ ซึ่งบริการด้านสุขภาพ เรายังไม่สามารถจ่ายตรงหรือซื้อบริการยังไม่ได้ ซึ่งหากบางโรงพยาบาลคิดว่าจะต้องมีล่ามแต่ก็ไม่เป็นจริง ซึ่งมองว่าทาง พม.มีหน้าที่พัฒนาระบบบริการล่าม ถ้าบริการล่ามมีทั่วถึงและมีประสิทธิภาพจริงการเข้าถึงบริการสุขภาพของคนพิการก็จะเกิดได้จริง
การลดความเหลื่อมล้ำ โดยการปรับสิทธิใน 3 กองทุนสุขภาพให้เท่าเทียม การสร้างกลไกเรื่องยาที่มีคณะกรรมการเข้ามาดูแล มีการปรับอัตราการเบิกจ่าย วิธีการจ่าย โดยใช้ข้อมูลที่มีอยู่มาสังเคราะห์ การแก้ปัญหาของ 3 กองทุนสุขภาพ ในบทบาท สสพ. พญ.วัชรากล่าวว่า เบื้องต้นคือการนำรายการสิทธิของคนพิการทั้ง 3 กองทุนมาดูว่าทำไมบางกองทุนจึงให้สิทธิบางอย่างไม่เหมือนกัน
ดังนั้น ในขั้นที่ 1 คือ รวบรวมข้อมูล ว่าควรจะต้องปรับสิทธิขั้นพื้นฐานให้เท่ากันก่อน ฉะนั้นใครจะเข้าไปอยู่กองทุนไหนก็ได้เพราะให้สิทธิที่เท่าเทียมกัน จากนั้นในขั้นตอนต่อไปจะมาดูกันว่ารายการสิทธิที่มีปัจจุบันเพียงพอหรือไม่หรือยังมีกลุ่มไหนที่ยังขาด น้ำหนักของอุปกรณ์ตรงไหนที่ยังไม่ตอบโจทย์ความพิการประเภทไหนก็จะเติมเต็มในส่วนขาด หน้าที่ของ สสพ.คือสืบค้นว่าสิ่งไหนมีความคุ้มค่า ซึ่งพยายามสร้างกลไกให้คล้ายๆ เรื่องยา คือ ถ้ามีสักกองทุนคอยขับเคลื่อนมาตรฐานอยู่เรื่อยๆ หรือพิจารณาที่กลไกเดียว แล้วกองทุนนี้ต้องรับทุกปี ทำวิจัยความคุ้มค่า อัตราเบิกจ่าย วิธีการจ่าย ซึ่งค่อยๆ ทำไป เพราะคิดว่าเรื่องนี้ทำครั้งเดียวคงจะไม่สมบูรณ์เลย
นอกจากนี้ ยังมีการทำโมเดลการพัฒนาหรือนวัตกรรมใหม่ๆ ด้วยการแสวงหาพันธมิตรไปทำให้เกิดเป็นรูปธรรมขึ้นมา เช่น ความร่วมมือกับท้องถิ่น หรือการวิเคราะห์หาผลกระทบด้านงบประมาณ การวิเคราะห์ต้นทุน เป็นต้น
รูปธรรมในการพัฒนาระบบบริการฟื้นฟูที่ดำเนินการทำมาแล้ว เช่น ทำกับคนตาบอดในการฝึกใช้ไม้เท้าขาว และกำลังทำเรื่องเครื่องช่วยฟัง คือ ตรวจคัดกรองเพื่อให้คนกลุ่มดังกล่าวเข้ามาฟื้นฟูรับบริการ ปีหน้าคาดว่าจะมีความชัดเจนในเรื่องนี้มากขึ้น
ในด้านการศึกษา ได้สร้างโอกาสทางการเรียนรู้และการศึกษาเพื่อเด็กพิการ สร้างรูปแบบการเรียนรู้ของเด็กให้เร็วที่สุด ให้มีความสามารถเรียนร่วมกับนักเรียนในโรงเรียนทั่วไปได้ โดยมีกรณีที่เรียกได้ว่าเป็นต้นแบบที่โรงเรียนสุนทรวิจิตร จังหวัดนครพนม ที่เด็กนักเรียนหูหนวกสามารถเรียนร่วมกับเด็กทั่วไปได้
ส่วนด้านอาชีพ มีการส่งเสริมอาชีพคนพิการบนฐานที่มีการรวมกลุ่มกัน หรือแกนนำเคยมีโอกาสฝึกทักษะอาชีพ ตัวอย่างกลุ่มผลิตภัณฑ์เพื่อคนพิการ เช่น การทำรถโยกสำหรับคนพิการของสมาคมคนพิการ จังหวัดสุราษฎร์ธานี, กลุ่มผลิตภัณฑ์ ศิลปหัตถกรรม ของมูลนิธิพิทักษ์ดวงตา อำเภอเมือง จังหวัดลำปาง และชมรมคนพิการ อำเภอวังเหนือ จังหวัดลำปาง, กลุ่มหัตถกรรมเย็บปักประดิษฐ์ จังหวัดพะเยา, กลุ่มงานบริการ ศูนย์ล่ามภาษามือ สมาคมคนพิการ จังหวัดนครพนม
“นอกจากนั้น สสพ.ยังตอบโจทย์คนที่มีความพิการจากหลายเหตุปัจจัย หลายเงื่อนไข เช่น ผู้สูงอายุ จะทำอย่างไรจึงจะรักษาสมรรถภาพให้นานที่สุด เช่น กระตุ้นไม่ให้สมองเสื่อม การป้องกันและการลดปัจจัยเสี่ยงทั้งคนพิการและไม่พิการ” พญ.วัชรายกตัวอย่าง
ส่วนการลดความเหลื่อมล้ำและความไม่เป็นธรรมของคนพิการในช่วง 5-10 ปีข้างหน้านั้น พญ.วัชราให้ความเห็นว่า ต้องทำควบคู่กันไปทั้งเรื่องความต้องการด้านบริการทางการแพทย์ และการฟื้นฟูสมรรถภาพที่คนพิการอยากได้ และรัฐสามารถจัดหาให้ได้โดยไม่ส่งผลกระทบต่อระบบการคลังและการบริหารจัดการสุขภาพโดยรวมของประเทศ โดยต้องมองถึงความพอเหมาะพอควร
***********
สถานการณ์คนพิการในประเทศไทย
พ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. 2550 ให้ความหมายของคนพิการว่า หมายถึง บุคคลที่มีข้อจำกัดในการปฏิบัติกิจกรรมในชีวิตประจำวันหรือการมีส่วนร่วมทางสังคม เนื่องจากมีความบกพร่องทางการเห็น การได้ยิน การเคลื่อนไหว การสื่อสาร จิตใจ อารมณ์ พฤติกรรม สติปัญญา การเรียนรู้ หรือความบกพร่องอื่นใด ประกอบกับมีอุปสรรคด้านต่างๆ และมีความจำเป็นเป็นพิเศษที่จะต้องได้รับความช่วยเหลือ ฯลฯ
จากการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติ พ.ศ. 2545 พบว่า ประเทศไทยมีคนพิการร้อยละ 1.7 ของประชากร และเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 2.9 หรือประมาณ 1.9 ล้านคนในปี 2550 ขณะที่ข้อมูลจากสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติ ระบุว่า มีคนพิการทั่วประเทศที่มาขึ้นทะเบียนตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2537-30 พฤศจิกายน 2555 รวม 1,549,553 คน เสียชีวิตแล้ว 234,523 ราย คงเหลือคนพิการที่ขึ้นทะเบียนจำนวน 1,315,030 คน
ส่วนข้อมูลคนพิการที่ลงทะเบียนในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า จากรายงานประจำปี 2554 ของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ระบุว่ามีจำนวน 1,074,607 คน มีคนพิการเข้ามารับบริการจำนวน 429,532 คน คิดเป็นร้อยละ 39.97 ของคนพิการที่ลงทะเบียน และสำหรับบริการอุปกรณ์เครื่องช่วยความพิการ พบว่ามีจำนวนผู้รับบริการ 25,653 คน คิดเป็นร้อยละ 2.39