xs
xsm
sm
md
lg

ผู้ว่าฯ ตรังชี้แจงเหตุผลไม่ให้ 145 โรฮิงญาขึ้นฝั่ง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ตรัง - พ่อเมืองตรังชี้แจงการให้ชาวโรฮิงญาขึ้นฝั่งได้ จะต้องเป็นไปตามความเหมาะสมเฉพาะกรณี หลังจากหารือร่วมกันกับหน่วยงานความมั่นคงแล้ว พร้อมยึดหลักสิทธิมนุษยชน และมนุษยธรรมเต็มที่

จากกรณีที่มีการผลักดันกลุ่มชาวโรฮิงญา จำนวน 145 คน ออกไปนอกพื้นที่ ขณะกำลังเข้ามาจอดลอยลำอยู่บริเวณหน้าชายหาดปากเมง หมู่ที่ 4 ต.ไม้ฝาด อ.สิเกา เมื่อวันที่ 3 ก.พ. ที่ผ่านมา ขณะโดยสารเรือที่อยู่ในสภาพทรุดโทรม และแออัดอย่างมาก ทั้งนี้ พบชาวโรฮิงญาที่เป็นผู้หญิง 4 คน และเด็ก 2 คน โดยมีอายุ 6 ปี กับอายุ 10 ปี รวมทั้งยังมีคนป่วยที่เป็นผู้ชายอีหลายคนด้วย โดยที่เรือลำนี้ต้องลอยคออยู่กลางทะเลมาถึง 16 วันแล้ว นับตั้งแต่โดยสารออกมาจากรัฐยะไข่ ประเทศพม่า จนมีชาวโรฮิงญาต้องเสียชีวิตไปแล้วถึง 4 คน ก่อนที่ต่อมา กองเรือภาคที่ 3 จังหวัดพังงา จะมาผลักดันชาวโรฮิงญากลุ่มนี้ออกไปนอกน่านน้ำไทย เพื่อให้เดินทางต่อไปยังประเทศที่ 3 ท่ามกลางการท้วงติงของกลุ่มพี่น้องชาวมุสลิมที่มองว่าไม่เหมาะสมนั้น

วันนี้ (5 ก.พ.) นายธีระยุทธ เอี่ยมตระกูล ผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง กล่าวชี้แจงว่า ในวันดังกล่าวทางจังหวัดได้รับแจ้งสถานีตำรวจน้ำกันตังว่า พบเรือกำลังบรรทุกชาวโรฮิงญาลอยลำอยู่ที่บริเวณเกาะมุกด์ แต่ยังไม่เข้ามาในเขตฝั่งของจังหวัดตรัง ตนจึงสั่งให้ผู้นำท้องถิ่นเข้าไปตรวจสอบ โดยชาวโรงฮิงญากลุ่มนี้แจ้งความประสงค์ว่า ต้องการเดินทางไปยังประเทศมาเลเซีย จึงได้ดำเนินการตามนโยบายด้วยความเหมาะสม คือ ช่วยเหลือในเรื่องของอาหาร น้ำ และน้ำมันเรือ เพราะขณะนั้น ชาวโรฮิงญากำลังอยู่ในสภาพที่อดอยาก ขณะเดียวกัน เมื่อประสานไปยังกองเรือภาคที่ 3 ก็ได้รับแจ้งมาว่า ไม่ควรส่งเสริมให้กลุ่มอพยพเหล่านี้ขึ้นฝั่ง และถ้าหากพวกเขามีความต้องการจะเดินทางไปยังประเทศที่ 3 เจ้าหน้าที่จะช่วยลำเลียงไปสู่เป้าหมายโดยปลอดภัย

นอกจากนั้น ยังมอบหมายให้สถานีตำรวจน้ำกันตังนำเจ้าหน้าที่พร้อมเรือออกไปดูแลชาวโรฮิงญาทั้งหมด เพื่ออำนวยความสะดวก และช่วยเหลือเป็นการเบื้องต้น ก่อนส่งมอบให้กองเรือภาคที่ 3 ดำเนินการตามขั้นตอน ส่วนการให้อพยพขึ้นฝั่งมาอย่างง่ายดายนั้นถือเป็นสิ่งที่ไม่ควรปฏิบัติ เพราะเกรงจะก่อให้เกิดปัญหาตามมาหลายอย่าง เช่น ขณะนี้จังหวัดตรังไม่มีศูนย์กักกันสำหรับการรองรับโดยเฉพาะ ส่วนที่จังหวัดสงขลาก็กำลังอยู่ในสภาพที่ค่อนข้างเต็มแล้ว รวมไปถึงตามสถานีตำรวจต่างๆ ที่ต้องรับภาระชาวโรฮิงญาเหล่านี้ จนสร้างความยุ่งยาก และความสับสนให้แก่หน่วยที่รับผิดชอบ ขณะเดียวกัน การส่งต่อไปยังประเทศที่ 3 ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย และยังไม่มีความชัดเจน ซึ่งดูได้จากกลุ่มชาวโรฮิงญาจำนวนมากที่ประเทศไทยต้องดูแลอยู่ในขณะนี้

อีกทั้งจากกรณีล่าสุด ที่เกิดขึ้นภายในบ้านพักเด็กและครอบครัวจังหวัดตรัง ซึ่งต้องรับภาระช่วยเหลือดูแลทั้งในเรื่องของอาหารการกิน และเรื่องที่พักให้แก่กลุ่มชาวโรฮิงญา ทั้งชาย และหญิง จำนวน 13 คน โดยเป็นเด็กและเยาวชนอายุต่ำกว่า 18 ปี จำนวน 12 คน และเป็นผู้หญิง อายุ 40 ปี เพียงคนเดียวนั้น ก็ปรากฏว่า ในช่วงหลังมาเริ่มประสบปัญหาในเรื่องของการพยายามจัดระบบ เพราะชาวโรฮิงญาบางคนไม่ค่อยจะมีระเบียบวินัย หรือมักจะทำอะไรตามใจของตนเอง และใช้งานลูกหลานตัวเล็กๆ แทน เช่น ให้ซักผ้า ล้างจาน รวมทั้งบางคนก็ไม่ยอมทำอะไรเลย เพราะมีที่กินที่อยู่ค่อนข้างสะดวกสบาย เสมือนกับการใช้วิถีชีวิตเดิมตามปกติของพวกเขา ทำให้ภาระทั้งหมดต้องตกอยู่กับทางเจ้าหน้าที่ ซึ่งเป็นปัญหาหนึ่งที่ทุกฝ่ายจะต้องรับทราบ

ดังนั้น จังหวัดตรังจึงจำเป็นจะต้องดำเนินการตามแนวทางนี้ เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายของหน่วยงานทางด้านความมั่นคง โดยเฉพาะกองทัพเรือซึ่งรับผิดชอบดูแลเขตน่านน้ำของไทย ยกเว้นกรณีที่กลุ่มชาวโรฮิงญาแอบลักลอบขึ้นฝั่งมาเอง หรือจำเป็นต้องขึ้นฝั่งด้วยเหตุสุดวิสัย เช่น เรืออับปางคงจะต้องปฏิบัติตามกฎหมายเหมือนอย่างเช่นกรณีอื่นๆ ด้วยการควบคุมตัวไปกักกัน ดูแลเรื่องอาหารและที่พัก ประสานส่งต่อไปยังประเทศที่ 3 และยังต้องถูกดำเนินคดีในข้อหาลักลอบเข้าเมืองด้วย

แต่อย่างไรก็ตาม ทางจังหวัดก็ยืนยันว่าทุกขั้นตอนที่ดำเนินการจะเป็นไปตามหลักสิทธิมนุษยชน และมนุษยธรรมทุกประการ ส่วนจะมีการอะลุ้มอล่วยให้ชาวโรฮิงญาสามารถขึ้นฝั่งได้ในกรณีใดบ้าง คงเป็นความเห็นร่วมกันจากหลายๆ หน่วยงานเท่านั้น ขณะเดียวกัน กลุ่มพี่น้องชาวมุสลิมในจังหวัดตรัง ยังได้นำภาพถ่ายเหตุการณ์ที่นายสมาน ลิปพันธ์ อดีต ส.อบจ.ตรัง เขต อ.กันตัง และกรรมการอิสลามประจำ จ.ตรัง ได้นำเรือพร้อมเสบียงลงไปช่วยเหลือ 145 ชาวโรฮิงญา ขณะลอยลำอยู่หน้าเกาะมุกด์มาให้ผู้สื่อข่าวดู

ทั้งนี้ จากภาพบอกให้เห็นถึงชีวิตความเป็นอยู่บนลำเรือ ซึ่งนอกจากจะแออัดยัดเยียดแล้ว ยังค่อนข้างจะสกปรกอย่างมากด้วย แถมยังไม่มีอาหาร น้ำ หรือยารักษาโรคหลงเหลืออยู่ในเรือเลย จนส่งผลให้ชาวโรฮิงญา 4 คน ต้องล้มป่วยตายไประหว่างทาง และจนถึงขณะนี้ ก็ยังไม่ทราบชะตากรรมของชาวโรฮิงญากลุ่มดังกล่าว หลังจากได้ถูกผลักดันออกไปยังประเทศที่ 3 แล้ว

 
 




กำลังโหลดความคิดเห็น