xs
xsm
sm
md
lg

อบต.ท่าข้ามรวมพลังสู้ปัญหาขยะ สร้างมิติใหม่นำสู่ตำบลไร้ถัง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายกสินธพ สาธิตการล้างถุงพลาสติกเพื่อนำกลับไปใช้ใหม่
ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - อบต.ท่าข้ามเปิดเวทีให้ความรู้เรื่องการจัดการขยะ หวังสร้างมิติใหม่ตำบลท่าข้ามไร้ถังขยะ โดยดึงนักวิชาการจากสถาบันพระปกเกล้ามาเป็นวิทยากร มีชาวบ้านมาร่วมเป็นจำนวนมาก

เมื่อค่ำวันที่ 2 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ที่หมู่ 5 ต.ท่าข้าม อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา อบต.ท่าข้าม เปิดเวทีให้ความรู้เรื่องการจัดการขยะ โดยมีนักวิชาการจากสถาบันพระปกเกล้าเป็นวิทยากร ได้รับความสนใจจากชาวบ้านเป็นจำนวนมาก หวังสร้างมิติใหม่ให้ตำบลท่าข้ามสะอาดแบบไร้ถังขยะ

นายสินธพ อินทรัตน์ นายก อบต.ท่าข้ามกล่าวว่า ปัจจุบันตำบลท่าข้ามต้องจัดเก็บขยะสัปดาห์ละประมาณ 4 ตัน โดยใช้รถเก็บขยะ ซึ่งจะเก็บเฉพาะชุมชนเคหะท่าข้าม แล้วนำไปทิ้งที่ อ.สะเดา ส่วนในพื้นที่อื่นๆ ชาวบ้านจะจัดการขยะกันเอง นับวันขยะก็จะเพิ่มมากขึ้นจากการจัดการขยะที่ไม่ถูกต้อง ดังนั้น จึงเปิดเวทีให้ความรู้แก่ชาวบ้านเพื่อจะได้จัดการขยะได้อย่างถูกต้อง โดยต้องการสร้างมิติใหม่ให้ตำบลท่าข้าม ทำตำบลท่าข้ามให้ไร้ถังขยะ เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ครบรอบ 85 พรรษาอีกด้วย การจัดการขยะทำไม่ยาก ต้องเริ่มจากตัวเราเองก่อน ถ้าก้าวแรกสำเร็จ ก้าวต่อไปก็จะสำเร็จด้วย อยากให้ทุกคนช่วยกัน นายสินธพกล่าว

ดร.ไพบูลย์ โพธิ์สุวรรณ อาจารย์วิทยาลัยพัฒนาการปกครองท้องถิ่น สถาบันพระปกเกล้า กล่าวว่า เวลาไปพูดคุยเรื่องขยะคนส่วนใหญ่มักบอกว่าเป็นปัญหาโลกแตก ที่ผ่านมาจะเห็นว่ามีการรณรงค์ให้ทิ้งขยะลงถัง จากนั้นก็นำขยะไปทิ้งไว้บ้านเพื่อน โดยทำกันมากว่า 30 ปีแล้ว ชุมชนก็อยากได้ถังขยะ ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องผิด แต่อยากให้กลับมาคิดใหม่ว่า ถ้าขยะที่นำไปทิ้งอยู่ใกล้บ้านเราจะเป็นอย่างไร เราก็ไม่อยากให้เป็นเช่นนั้น เมื่อขยะมากขึ้น ค่าใช้จ่ายในการจัดเก็บก็มากขึ้น ในขณะที่พื้นที่ทิ้งขยะกลับน้อยลง ถ้าเราไม่ช่วยกัน คาดว่าอีกไม่เกิน 10 ปี เราจะไม่มีที่ทิ้งขยะแล้ว

“เราต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เลิกคิดว่าขยะเป็นปัญหาโลกแตก และอย่าแก้ปัญหาขยะโดยการเอาเทคโนโลยีเป็นตัวตั้ง เช่น การหาถังขยะ ใช้รถจัดเก็บ สร้างหลุมฝังกลบ หรือเตาเผา ขยะเกิดจากคนก็ต้องแก้ปัญหาจากคน และตั้งเริ่มเดี๋ยวนี้ ถ้าไม่อยากให้บ้านเรามีภูเขาขยะมากมายเช่นนี้”

ดร.ไพบูลย์ กล่าวต่อว่า จากการที่ได้ศึกษาดูงานมากว่า 10 ปี เห็นว่าการที่บ้านเราแก้ปัญหาขยะไม่ได้เพราะไม่รู้จักขยะ เราจึงต้องทำความรู้จักขยะก่อน ขยะมี 3 ประเภท คือ 1.ขยะที่ใช้ไม่ได้ 2.ขยะเป็นพิษ และ 3.ขยะติดเชื้อ เมื่อทุกคนรู้จักขยะแล้วก็สามารถแยกขยะได้ ปริมาณขยะที่ต้องนำมาทิ้งในถังก็จะน้อยลง

“ถุงพลาสติกกว่าจะสลายใช้เวลา 450 ปี กล่องโฟม ใช้เวลา 10,000 ปี ถ้านำถุงพลาสติก และกล่องโฟมไปเผาก็จะเป็นสารก่อมะเร็งชั้นดี ดังนั้น เราควรล้างแล้วนำกลับมาใช้ใหม่ ส่วนกระดาษ ขวด ก็ขายได้ สำหรับเศษอาหารสามารถฝังกลบไว้ในดินใกล้ๆ บ้านจะกลายเป็นปุ๋ย ส่วนบ้านในเมืองที่ไม่มีดิน ขอแนะนำให้ใส่ไว้ในกระถางปลูกต้นไม้ หรือดอกไม้ ส่วนขยะพิษให้รวบรวมแล้วนำมาให้หน่วยงานที่รับผิดชอบ หรือ อบต. เทศบาล นำไปทิ้งอย่างถูกวิธี”

“ที่ผ่านมามีชุมชนที่ได้ต่อสู้กับขยะจนประสบผลสำเร็จ ทำให้ถังขยะหายไป ชุมชนก็สะอาดขึ้น จำนวนขยะ และค่าใช้จ่ายในการจัดเก็บก็ลดลงตามไปด้วย ผมขอยืนยันว่า ขยะจัดการไม่ยาก สิ่งที่ยากคือ การที่ทุกคนไม่ลงมือทำ ผมไม่อยากให้ทุกคนท้อแท้ ค่อยๆ ทำไป ทุกคนทำได้ โดยเฉพาะชาวท่าข้ามซึ่งเป็นชุมชนที่เข้มแข็ง ถ้าทำสำเร็จ ท่าข้ามจะเป็นตำบลแรกในภาคใต้ที่ไร้ถังขยะ และท่าข้ามก็จะเป็นตำบลที่น่าอยู่ไปยาวนาน” ดร.ไพบูลย์กล่าว

ด้าน นายอับดนหร้อซักฮ์ จันทการักษ์ ประธานโครงการมหัศจรรย์จิ๋ว สร้างบ้านในฝัน ชุมชนปลอดขยะ กล่าวว่า ได้เริ่มคัดแยกขยะมาตั้งแต่ปี 2549 โดยเริ่มจากขยะในครัวเรือนตัวเองก่อน และขณะนี้ได้ขยายความรู้ออกไปสู่ครัวเรือนอื่นๆ ด้วย

“ตอนแรกที่เริ่มทำก็มีคนหาว่าผมบ้า ไม่มีงานทำหรืออย่างไร จึงมาเก็บขยะตามถนน ผมก็ไม่สนใจ ยังทำโครงการต่อไป เพราะถ้าหยุดขยะก็จะกลับมาอีก ทุกวันนี้ผมเน้นการสร้างจิตสำนึกเรื่องการจัดการขยะให้แก่เด็กและเยาวชน เพื่อโตขึ้นจะได้เป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพ และผมก็ทำตัวให้เป็นแบบอย่างแก่ทุกคน ผมว่าจะประสบความสำเร็จมากกว่าก็ไปพูด หรือไปบอกให้เขาทำ” นายอับดนหร้อซักฮ์กล่าว






กำลังโหลดความคิดเห็น