ตรัง - นายก ทน.ตรัง ส่งเสริมประชาชนคัดแยกขยะก่อนทิ้ง พร้อมใช้หลัก “3R” ลดปริมาณขยะในแต่ละวัน ซึ่ง ทน.ตรังต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายกว่า 35 ล้านบาทต่อปี เพื่อกำจัดขยะวันละประมาณ 100 ตัน และใช้รถเก็บขยะมากถึง 17 คัน
ปัญหาการจัดการขยะนับวันจะทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้นในหลายๆพื้นที่ ซึ่งสาเหตุหลักมาจากการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ การเพิ่มของประชากร และการขาดการมีส่วนร่วมของประชาชน “เทศบาลนครตรัง” เองก็ต้องแบกรับภาระการจัดการขยะ และต้องใช้งบประมาณจำนวนมากในการจัดการ เนื่องจากต้องเก็บขยะ และฝังกลบขยะวันละประมาณ 100 ตัน (ในเขตเทศบาล 60 ตัน และนอกเขตเทศบาล 40 ตัน) หรือโดยเฉลี่ย ประชาชนจะผลิตขยะคนละ 1 กิโลกรัม/วัน ทำให้ต้องใช้เงินกว่า 35 ล้านบาทต่อปีเพื่อกำจัด ต้องใช้บุคลากรมาจัดการขยะถึง 180 คน และต้องใช้รถเก็บขนขยะ 17 คัน
นายอภิชิต วิโนทัย หรือ “ทนายแจ๊ค” นายกเทศมนตรีนครตรัง มีความเห็นว่า การส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนในการจัดการขยะเป็นกลยุทธ์สำคัญ เทศบาลนครตรังจึงให้ความสำคัญ และจะดำเนินการอย่างเร่งด่วน ด้วยการส่งเสริมให้ประชาชนช่วยกันคัดแยกขยะ โดยขยะรีไซเคิล เช่น กระดาษ เหล็ก พลาสติก ขวด กระป๋อง จะนำไปขาย ขยะอินทรีย์ หรือขยะเปียก เช่น เศษผัก เศษอาหาร จะนำไปทำปุ๋ย หรือหมักเป็นแก๊สชีวภาพ ส่วนขยะที่ย่อยสลายได้ยาก หรือไม่คุ้มค่าสำหรับการนำมาใช้ใหม่ และขยะอันตราย เช่น หลอดไฟ แบตเตอรี่ ถ่ายไฟฉาย จะแยกทิ้งในตู้ หรือถังแยกขยะพิษ
ทั้งนี้ ประชาชนในเขตเทศบาลนครตรัง สามารถช่วยลดขยะได้โดยใช้หลักวิธี 3R ได้แก่ R : Reduce คือ ไม่ใช้ฟุ่มเฟือย ใช้อย่างคุ้มค่า ใช้เท่าที่จำเป็น R : Reuse คือ การนำสิ่งของที่ใช้แล้ว แต่ยังสามารถใช้งานได้ มาใช้อีกให้คุ้มค่า และ R : Recycle คือ การนำวัสดุต่างๆ มาแปรรูปเพื่อนำกลับมาใช้ใหม่
นอกจากนั้น เทศบาลยังส่งเสริมการทำปุ๋ยหมัก และน้ำหมักชีวภาพ พร้อมปลุกจิตสำนึกให้ประชาชนทุกภาคส่วนได้ตระหนักถึงปัญหาการจัดการขยะ และรักษาสภาพแวดล้อมของชุมชนให้สวยงาม หรือน่าอยู่น่าอาศัย เพื่อแสดงถึงการมีชุมชนเข้มแข็ง และการมีส่วนร่วมในการพัฒนาท้องถิ่นด้านสิ่งแวดล้อม
ทั้งนี้ นายกเทศมนตรีนครตรังให้ความเห็นว่า สิ่งสำคัญที่สุดที่จะทำให้แนวคิดนี้บรรลุผลก็คือ การปลูกฝังให้ประชาชนช่วยกันคัดแยกสิ่งของกลับมาใช้ประโยชน์ และมาร่วมกันสร้างค่านิยมใหม่ด้วยการคัดแยกขยะก่อนทิ้ง หรือขอให้หยุดคิดสักนิดก่อนทิ้งของในมือลงถังว่า ยังมีประโยชน์ต่อผู้อื่นหรือไม่ เพื่อเก็บไว้ใช้ ขาย หรือบริจาค หากทำได้ตามนี้แล้วก็จะเป็นการช่วยกันลดปริมาณขยะ ช่วยกันลดปัญหาสิ่งแวดล้อมของเมืองเพื่อเมืองน่าอยู่ และช่วยกันลดภาวะโลกร้อน ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญในขณะนี้ ตามสโลแกนที่ว่า “ก้าวสู่มิติใหม่ของนครตรัง ร่วมใจลดขยะ แยกไปขาย ลดโลกร้อน สู่นครแห่งความสุข”