แม้ว่า "พลาสติก" มีส่วนสำคัญอย่างมากในชีวิตมนุษย์ทุกวันนี้ แต่ก็ส่งผลกระทบอย่างมากต่อโลกที่น่าอยู่ในอนาคตด้วยเช่นกัน เพราะเมื่อเป็นขยะแล้วกำจัดได้ยาก หากนำไปฝังกลบก็ใช้เวลาย่อยสลายเป็นร้อยๆปี และเปลืองพื้นที่ในการใช้ประโยชน์ ส่วนการนำไปเผายิ่งจะสร้างปัญหาทางมลพิษเพิ่มมากขึ้นไปอีก
ทุกๆ วันในประเทศไทยจะมีขยะพลาสติกสูงถึง 7,391 ตันต่อวัน หรือ คิดเป็น 18% ของขยะทั้งหมด และหากคิดเป็นปริมาณของทั้งปี ขยะพลาสติกก็จะอยู่ที่ 2.7 ล้านตันเลยทีเดียว (ข้อมูล ณ วันที่ 20 มิถุนายน 2553)
ด้วยเหตุนี้ จึงมีการรณรงค์ให้คนหันมาใช้ถุงผ้าแทนการใช้ถุงพลาสติก เพื่อลดปัญหาขยะ รวมทั้งอีกหนึ่งทางเลือกที่เกิดจากไอเดียดี ๆ ที่จะช่วยพิทักษ์โลก นั่นคือการใช้ "พลาสติกชีวภาพ"นั่นเอง
อย่างไรก็ตาม รศ. ดร. พิฑูร ตรีวิจิตรเกษม นายกกิตติมศักดิ์สมาคมอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพไทย ให้ข้อมูลในเรื่องนี้ ว่า ผู้บริโภคอาจจะสับสนกับชนิดของพลาสติกที่มีสมบัติสลายตัวได้ทางชีวภาพที่แท้จริง เนื่องจากมีการแอบอ้างว่ามีคุณสมบัติการสลายตัวได้ทางชีวภาพ หรือในเชิงการค้าที่ใช้คำที่คุ้นหูว่าย่อยสลายได้ทางชีวภาพ กับพลาสติกที่ใช้อยู่โดยทั่วไปที่เกิดจากการแตกสลายด้วยแสงแดด (Photo degradation) หรือการแตกสลายด้วยการเกิดปฏิกิริยาออกซิเดชั่น (Oxo-degradable)
ซึ่งในความจริงแล้วเป็นเพียงการเติมสารเติมแต่งที่เร่งให้เกิดการตัดสายโซ่พลาสติก ทำให้เห็นลักษณะแตกออกเป็นชิ้นเล็กๆ ในระยะเวลาอันรวดเร็ว ซึ่งเมื่อเศษพลาสติกแตกออกเป็นชิ้นเล็กๆ กลับส่งผลเสียมากกว่ากล่าวคือ ทำให้ยากต่อจัดเก็บ รวมทั้งเกิดการฟุ้งกระกระจายไปสู่สิ่งแวดล้อมได้ง่าย ส่งผลเสียต่อสิ่งแวดล้อมตามมาอย่างต่อเนื่อง
รวมทั้งไม่มีหลักฐานใดๆ ที่แสดงได้ว่ามีการสลายตัวได้ทางชีวภาพอย่างสมบรูณ์ และไม่เป็นไปตามมาตรฐานการรับรองพลาสติกสลายตัวได้ทางชีวภาพในระดับนานาชาติ ซึ่งเมื่อผ่านกระบวนการหมักทางชีวภาพแล้วจะเปลี่ยนเป็นก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 90 ของสารอ้างอิงมาตรฐาน ภายในระยะเวลา 6 เดือน และต้องไม่ทิ้งสารตกค้างที่มองเห็นด้วยตาเปล่าที่เป็นพิษหลงเหลือไว้
ทั้งนี้ มีรายงานการสนับสนุนทางวิชาการอย่างชัดเจนถึงความแตกต่างดังกล่าว เช่น รายงานของมหาวิทยาลัย Loughborough ของประเทศอังกฤษ ที่แสดงให้เห็นว่าพลาสติก Oxo-degradable ไม่มีผลใดที่ช่วยทางด้านสิ่งแวดล้อม อีกทั้งยังไม่สามารถนำมาใช้ในการขึ้นรูปใหม่ในกระบวนการรีไซเคิลได้อีกด้วย
สำหรับ "พลาสติกชีวภาพ" (BioPlastic) หรือ "พลาสติกชีวภาพที่ย่อยสลาได้" (Biodegradable plastic) คือพลาสติกที่ย่อยสลายได้ง่ายตามธรรมชาติ ผลิตมาจากพืชหลาย ๆ ชนิด มาผ่านกระบวนการผลิตต่าง ๆ จนสามารถนำไปขึ้นรูป เพื่อแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์พลาสติกต่อไปได้ แบ่งออกเป็น 2 ชนิดคือ
1.โพลีแลคติคแอสิด (Polylactic Acid) หรือ "PLA"
การผลิตพลาสติกชีวภาพชนิดนี้ ใช้พืชที่มีแป้งเป็นองค์ประกอบหลัก เช่น ข้าวโพด มันสำปะหลัง มันสำปะหลัง อ้อย ปอ ฯลฯ เป็นวัตถุดิบ โดยนำมาผ่านกระบวนการบดให้เป็นแป้ง และย่อยให้เป็นน้ำตาล ก่อนจะนำไปหมักกับจุลินทรีย์เพื่อให้กลายเป็นกรดน้ำนม (Lactic Acid) แล้วนำไปผ่านกระบวนการโพลีเมอร์ จะได้สารประกอบโพลีเมอร์จากกรดน้ำนม (PLA) สามารถนำไปเป็นวัตถุดิบในการผลิตผลิตภัณฑ์พลาสติกได้เช่นเดียวกับเม็ดพลาสติกจากปิโตรเลียม
โดยพลาสติกชีวภาพชนิดนี้ มีคุณสมบัติพิเศษ คือมีความใส ไม่ย่อยสลายในสภาพแวดล้อมทั่วไป แต่สามารถย่อยสลายได้เอง เมื่อนำไปฝังกลบในดินในระยะเวลาอันสั้น และยังนำไปทำเป็นปุ๋ยหมักได้โดยไม่ทำลายธรรมชาติ
2.โพลีไฮดรอกซีอัลคาโนเอท (Polyhydroxyalkanoates) หรือ "PHAs"
ใช้วัตถุดิบจากแป้งและน้ำตาลเหมือนตัวแรก แต่แตกต่างตรงขั้นตอนการหมัก ที่จะต้องใช้จุลินทรีย์ชนิดพิเศษ ชื่อ "Eschericia Coli" ที่กินน้ำตาลเป็นอาหาร และสามารถเปลี่ยนโครงสร้างทางเคมีของน้ำตาลภายในตัวจุลินทรีย์เองเป็น PHAs ได้ คุณสมบัติของ PHAs สามารถนำไปทำผลิตภัณฑ์พลาสติกได้หลากหลาย เช่น การขึ้นรูปเป็นฟิล์ม การฉีดและเป่า ฯลฯ
และไม่ว่าจะเป็นพลาสติกชีวภาพประเภทใด ต้องบอกว่าเป็นนวัตกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมจริง ๆ เพราะสามารถย่อยสลายได้ง่ายด้วยอุณหภูมิที่เหมาะสม จึงไม่ก่อให้เกิดมลภาวะทางสิ่งแวดล้อม หลังหมดอายุการใช้งาน ที่สำคัญกระบวนการผลิตพลาสติกชีวภาพ จะปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกมาน้อยกว่าการผลิตพลาสติกทั่วไปจากปิโตรเคมี จึงสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้มากกว่าการผลิตพลาสติกทั่วไปถึง 50%
อเมริกา ญี่ปุ่น นำมาใช้แล้ว
เนื่องจากประโยชน์มากมายของ "พลาสติกชีวภาพ" ทำให้หลาย ๆ ประเทศผู้นำทางเศรษฐกิจตระหนักถึงสิ่งแวดล้อม และหันมาใช้ "พลาสติกชีวภาพ" มากขึ้น โดยเฉพาะประเทศสหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น ที่พัฒนา "พลาสติกชีวภาพ" เป็นส่วนประกอบในหลายๆ ผลิตภัณฑ์ ไม่ว่าจะเป็นการผลิตโทรศัพท์ คอมพิวเตอร์ โน้ตบุ๊ก เสื้อผ้า ขวดใส ของเด็กเล่น หรือแม้แต่ใน อุตสาหกรรมยานยนต์ บรรจุภัณฑ์ แคปซูลบรรจุยา กระถางต้นไม้ รวมทั้งนำพลาสติกชีวภาพมาใช้ในการดูดซับน้ำใต้ดิน ในงานเตรียมการก่อสร้างขนาดใหญ่อย่างสนามบินและโรงงานอุตสาหกรรมอีกด้วย
หันกลับมาดูที่ประเทศไทยของเราเอง ก็ให้ความสนใจกับ "พลาสติกชีวภาพ" ไม่น้อยหน้าไปกว่าชาติไหน โดยรัฐบาลได้สนับสนุนการพัฒนานวัตกรรมวัสดุชีวภาพ ให้เป็นโครงการระดับชาติ เพราะประเทศเรามีวัตถุดิบและทรัพยากรในการพัฒนาอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพได้ และยังมีอุตสาหกรรมที่สามารถรองรับในการพัฒนาพลาสติกชีวภาพย่อยสลายได้ ซึ่งปัจจุบันมีหลาย ๆ หน่วยงานทางธุรกิจที่เริ่มหันมาใช้ "ถุงพลาสติกชีวภาพ" แทนถุงพลาสติกแบบเก่ากันบ้างแล้ว
อย่างไรก็ตาม ก็ยังมีข้อจำกัดที่สำคัญก็คือ การผลิต "ถุงพลาสติกชีวภาพ" มีต้นทุนสูงกว่าการผลิตถุงพลาสติกธรรมดา 2-3 เท่า และประเทศไทยก็ยังไม่สามารถผลิตเม็ดพลาสติกชีวภาพได้เอง
แต่ก่อนจะถึงขั้นนั้น ถ้าจะให้ดีที่สุด ควรแก้ปัญหากันที่ต้นเหตุ ด้วยการลดการใช้ถุงพลาสติก และใช้ถุงพลาสติกให้คุ้มค่าก่อนจะนำไปทิ้ง หรือหันมาใช้ถุงผ้าช่วยลดโลกร้อนตามที่หลายหน่วยงานกำลังรณรงค์กันอยู่ก็เป็นหนทางช่วยรักษาโลกสีเขียว
Green Tip
ลดถุง พิทักษ์โลก
ทำไม ? หลายองค์กรทั่วโลก รณรงค์การลดใช้ถุงพลาสติก (Redue) และแนะนำให้ใช้ประโยชน์ซ้ำ (Reuse)
เพราะเมื่อทิ้งเป็นขยะแม้จะมีกระบวนการนำมาใช้ใหม่ (Recycle) ก็ต้องเสียค่าใช้จ่ายมาก อย่างประเทศไทย ในกรุงเทพฯ ต้องเก็บขยะมากถึง 8,500 ตัน/วัน เป็นขยะพลาสติกร้อยละ 21 หรือ 1,800 ตัน/วัน แต่ถ้าเราเปลี่ยนมาใช้ถุงผ้าแทน จะลดค่าใช้จ่ายจากการเก็บขยะถึงวันละ 1.78 ล้านบาท/วัน หรือคิดเป็น 650 ล้านบาท/ปี
ข้อสำคัญ ขยะพลาสติกก่อมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม และเป็นตัวสร้างมลภาวะที่ทำให้โลกร้อนเร็วขึ้น
- ถุงพลาสติกทั่วไปเพียง 1 ใบ ต้องใช้เวลาย่อยสลายถึง 450 ปี
- หากนําไปเผาจะเกิดสารประกอบไฮโดรคาร์บอนที่ทำให้โลกร้อน
- หากทุกคนใช้ถุงผ้าแทน เพียงสัปดาห์ละ 1 วัน จะช่วยลดใช้ถุงพลาสติกมากกว่า 100 ล้านถุง/ปี และยังช่วยลดการเกิดสารปนเปื้อนที่ก่อมะเร็งคร่าชีวิตมนุษย์