xs
xsm
sm
md
lg

“ดร.สุรินทร์” แนะดับไฟใต้ ศอ.บต.มาถูกทางแล้ว เคารพศาสนา วัฒนธรรม ประเพณีปฏิบัติ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นครศรีธรรมราช - “ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ” แนะแก้ปัญหาไฟใต้ ศอ.บต.มาถูกทาง เร่งใช้การกระจายอำนาจ เคารพศาสนา วัฒนธรรม ประเพณีปฏิบัติ ด้านความคุกรุ่นในทะเลจีนใต้ควรจบบนโต๊ะเจรจามั่นใจ 2 เม.ย.56 ขณะที่ไทยกำลังถูกท้าทายความสามารถทางการทูต เผยมั่นใจ “ประชาคมอาเซียน” ไม่โยกคลอนตามประชาคมยุโรป

วันนี้ (3 ก.พ.) ที่ จ.นครศรีธรรมราช ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ อดีตเลขาธิการอาเซียน แสดงความเห็นถึงการแก้ปัญหาภาคใต้ว่า นโยบายความมั่นคง นโยบาย ศอ.บต.ที่ถูกกำหนดขึ้นตามกฎหมาย ทั้งคำ ภาษา ประเด็นสำคัญที่อยู่ในนั้นถูกต้อง สวยงาม เดินทางถูก แต่ที่ท้าทายที่สุดคือ การประสานงานให้เป็นไปตามแผนให้ตรงเป้า ตรงประเด็น แต่กลับว่าการประสานงานกันระหว่างรัฐบาล งานองค์กร ไม่เป็นไปตามที่ควรจะเป็น โดยเฉพาะเรื่องของสิทธิเสรีภาพ การรับรู้ถึงปัญหาการแสดงออกถึงอัตลักษณ์ของสังคม ค่านิยมเป็นสิทธิตามรัฐธรรมนูญ เหล่านี้ ศอ.บต.อ่อนไหวเห็นทุกอย่าง

“แต่ในระดับกระทรวง กรม รีรอที่จะยอมรับว่าเป็นพื้นที่พิเศษ เป็นพื้นที่เฉพาะ นโยบายจากส่วนกลางต้องยืดหยุ่น และนำมาใช้อย่างรอบคอบ เท่าที่ทราบสิ่งเหล่านี้เป็นฟันเฟืองในพื้นที่ที่กำลังมีปัญหา ภาพรวมนั้นหลักการกระจายอำนาจมีอยู่ที่ท้องถิ่นของเขาเอง จะต้องมาเติมเต็มศรัทธา ค่านิยมต้องจริงจัง การปกครองตนเองฟังแล้วเป็นเรื่องที่ขัดหูกับประโยคที่ว่า ราชอาณาจักรไทยแบ่งแยกไม่ได้ การปกครองตนเอง หรือหลักที่เรียกว่า Atonomy ซึ่งไม่มีในภาษาไทย เป็นหลักปกครองที่ประเทศไทยรับไม่ได้ แต่แท้จริงแนวทางที่ใช้ได้คือ การกระจายอำนาจ เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับศาสนา วัฒนธรรม ประเพณีปฏิบัติ ค่านิยม โดยรวมนั้นนโยบายของ ศอ.บต.น่าจะเป็นยุทธศาสตร์ที่ถูกต้องที่สุด”

ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ อดีตเลขาธิการอาเซียนกล่าวต่อว่า การใช้อำนาจเกินขอบเขตของกฎหมาย การละเมิดสิทธิไม่สามารถให้หลักในการเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม การที่ผู้กระทำผิดไม่ให้จำเป็นต้องรับโทษ สิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ หาเหตุผลไม่ผิดเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นซ้ำซ้อน หากรัฐไม่รับประกันในการเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ปีที่แล้วมีทหารเกณฑ์จบปริญญาตรี ไทยพุทธตัดสินใจสมัครทหารเกณฑ์ ปรากฏว่า เสียชีวิตในขณะฝึกซ้อม คนรับผิดชอบคือ ลูกนายพล มีอีกกี่รายที่ไม่กล้า แต่จะไปสร้างปมเงื่อนไขสร้างประวัติศาสตร์ผูกใจจำ กรณีอาเจะห์ ตากใบ หรือดุซงญอ ตอนนี้ดุซงญอไม่มีใครกล้าพูดถึงเพราะอาเจะห์ ตากใบใหม่กว่า รุนแรงกว่า ดร.สุรินทร์กล่าว

ดร.สุรินทร์เผยความคุกรุ่นในทะเลจีนใต้ควรจบบนโต๊ะเจรจามั่นใจ 2 เม.ย.56 การเจรจาระหว่างจีน และอาเซียนจะมีกรอบที่ชัดเจนมากขึ้น ขณะที่ไทยกำลังถูกท้าทายความสามารถทางการทูต

ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ อดีตเลขาธิการอาเซียน เปิดเผยว่า ความขัดแย้งในทะเลจีนใต้มาถึงปัจจุบันนั้น ยอมรับว่ายังคงมีความคุกรุ่นอยู่พอสมควร แต่อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 2 เม.ย.56 จะมีการเจรจากันระหว่างจีน และอาเซียน ที่ปักกิ่ง ขณะที่อาเซียนมีประเด็นที่จะต้องนำเข้าไปในการเจรจา ส่วนจีนนั้นต้องการบรรยากาศที่ไม่มีความขัดแย้ง ไม่ต้องการเผชิญหน้า จะต้องมาร่วมกันสร้างบรรยากาศความมั่นใจ มาร่วมกันสร้างกรอบใหญ่ให้ได้ ซึ่งทั้งหมดไทยเป็นประเทศที่ประสานงานระหว่างอาเซียนกับจีน แต่ละประเทศไม่อยากเห็นปัญหาขยายวงกว้างออกไปจากการเจรจา จะต้องประคองสถานการณ์นำไปสู่ข้อตกลงซีโอซี และเป็นข้อตกลงที่มีผลบังคับใช้แต่ไม่ใช่การปักปันเขตแดน ป้องกันการเข้าใจผิด ต้องควบคุมวิธีการปฏิบัติที่ใช้กันในอย่างสากล

ต่อข้อถามหนักใจถึงความพยายามแทรกแซงของโลกตะวันตกกับปัญหานี้หรือไม่ ดร.สุริทร์ กล่าวว่า ต้องยอมรับว่าทุกประเทศสนใจ เนื่องจากคาบสมุทรทะเลจีนใต้เป็นเขตเศรษฐกิจสำคัญ ทุกคนมีผลประโยชน์ในทะเลจีนใต้ หากมีปัญหาจะกระทบกับทั้งโลก ไม่ว่าจะเป็นอเมริกา หรือยุโรปก็ตาม แต่จะทำอย่างไรไม่ให้ความสนใจเหล่านี้นำไปสู่การเผชิญหน้า

“อาเซียนต้องรับภาระนี้ การมีบทบาทของอาเซียนโดยตรงที่จะต้องแสดงบทบาท และไทยเป็นตัวละครเอก ดังนั้น ปัญหาในทะเลจีนใต้กำลังท้าทายความสามารถทางการทูตของไทย เพราะไทยเป็นผู้ประสานงาน ไทยไม่ได้คาดหวังอย่างอื่น ไม่ได้หวังความเป็นเจ้าของทะเลจีนใต้ ดังนั้น ไทยจึงถูกคาดหวังให้ทำหน้าที่ได้ดีเพื่อจบปัญหาทุกอย่างได้” อดีตเลขาธิการอาเซียนกล่าว

อดีตเลขาธิการอาเซียนมั่นใจ “ประชาคมอาเซียน” ไม่โยกคลอนตามประชาคมยุโรป
 

ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ อดีตเลขาธิการอาเซียน แสดงความเห็นถึงการโยกคลอนของเศรษฐกิจในประชาคมยุโรป ว่า ในส่วนของประชาคมอาเซียนนั้น เราได้ตระหนักดีถึงความหลากหลายของภูมิภาคนี้ อาเซียนจึงมีเสาหลักที่สำคัญคือ เสาหลักวัฒนธรรม เคารพกันในความแตกต่างทางด้านวัฒนธรรม อาเซียนมีพื้นที่ประวัติศาสตร์ มุสลิมใหญ่สุดคือ ประเทศอินโดนีเซีย พุทธเถรวาทอยู่ในอาเซียนอยู่ในหลายประเทศเชื่อมต่อกันมีประชากรกว่า 200 ล้านคน เสาหลักวัฒนธรรมนี้ สร้างความเข้าใจ ความเชื่อมั่น ให้เกียรติกัน หากเสานี้พลาด ทุกอย่างจะพลาดด้วยทั้งทางเศรษฐกิจ การเมือง พลาดหมด ดังนั้น เราจึงต้องร่วมกันปรับการศึกษาในระดับมหาวิทยาลัย ที่จะสามารถแลกเปลี่ยนถ่ายโอนกันได้ ให้เครดิตซึ่งกันและกัน

“ยอมรับว่าหลักของอาเซียนนั้นมีประชาคมยุโรป หรืออียูเป็นแรงบันดาลใจ แต่ไม่ใช่พิมพ์เขียว ส่วนของอียูนั้น มีการรวมตันกันทางการเงิน แต่ไม่ได้มีการบริหารทางเศรษฐกิจที่ทั่วถึงกันหลายประเทศกำลังย่ำแย่ เยอรมนีกำลังวิกฤต อาเซียนเห็นสิ่งเหล่านี้จึงไม่เคยคิดเรื่องเงินตระกูลเดียวกัน เศรษฐกิจเดียวกัน ที่ทำนั้นเราใช้กรณีอีสต์เอเชียเจอกับวิกฤตต้มยำกุ้ง เราใช้เป็นนาฬิกาปลุก เราจึงมีกองทุนพิเศษเหมือนเครื่องดับเพลิง หรือกองทุน CMIM สำหรับประเทศในอาเซียน ที่มีจุดเริ่มต้นจากการพูดคุยที่จังหวัดเชียงใหม่ โดยคนริเริ่มคือ คุณธารินทร์ นิมมานเหมินทร์ ขณะนี้กองทุนนี้มีอยู่ 2.4 แสนล้านดอลลาร์ ไว้ดูดซับวิกฤตทางการเงินของเอเชีย” ดร.สุรินทร์กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น