xs
xsm
sm
md
lg

น่าจะมี “ข่าวดี” จากรัฐบาลมาเลเซีย / ไชยยงค์ มณีพิลึก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง ที่โรงแรมเจดับบลิว แมริออท กัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซียจากเฟซบุ๊ก Sermsuk Kasitipradit
คอลัมน์ : จุดคบไฟใต้
โดย...ไชยยงค์  มณีพิลึก
 
 
การเดินทางไปเยือนประเทศมาเลเซียของ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี และคณะ เมื่อวันที่ 8-10 มกราคมที่ผ่านมา อาจจะไม่ใช่ของแปลกใหม่ของรัฐบาลเพื่อไทย ในการที่จะหาช่องทางแก้ปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยการไปขอความร่วมมือจากมาเลเซีย
 
เพราะเป็นที่ทราบดีกันอยู่แล้วว่า เพื่อนบ้านอย่างมาเลเซียมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง กับการ “แก้ไข” และ “ยุติ” ปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เนื่องจากกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบทั้งหลายทั้งปวง ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน เมื่อก่อการร้าย และถูกออกหมายจับ หรือถูกไล่ล่าจากเจ้าหน้าที่ ส่วนใหญ่จะหลบหนีไปอยู่ในมาเลเซีย
 
นอกจากนี้ ยังมีปัญหาที่เกี่ยวเนื่องกับการก่อการร้าย แต่เป็นปัญหาเรื่องปากท้องด้วย นั่นคือ คนไทยกว่า 200,000 คน จากจังหวัดชายแดนภาคใต้ และจากที่อื่นๆ อพยพเข้าไปทำมาหากินในมาเลเซีย ตั้งแต่เปิดร้านอาหาร โดยเฉพาะร้าน “ต้มยำกุ้ง” รวมถึงเป็นพนักงานร้านอาหาร จนถึงอาชีพรับจ้างด้านเกษตร และประมง ซึ่งคนเหล่านี้ส่วนใหญ่เป็น “แรงงานเถื่อน”
 
กฎหมายแรงงานของมาเลเซียเปิดให้แก่ผู้เป็นเจ้าของกิจการ และกุ๊กเท่านั้น ที่จะสามารถจดทะเบียนเป็นแรงงานถูกต้องตามกฎหมายได้ แต่บรรดาลูกจ้างทั้งหมดไม่สามารถจดทะเบียนแรงงานได้ จึงกลายเป็นแรงงานผิดกฎหมาย รวมทั้งการขอเวิร์กเพอร์มิต หรือใบอนุญาตการทำงาน ต้องมีการจ่ายเงินเป็นจำนวนมาก ทำให้กลายเป็นปัญหา และอุปสรรคสำหรับแรงงานไทยในมาเลเซีย
 
ที่ผ่านมา พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ได้ดำเนินการแก้ปัญหาในเรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่เจรจาพูดคุยกับ “ชมรมต้มยำกุ้ง” และกับเจ้าหน้าที่ของมาเลเซีย เพื่อหาแนวทางในการให้คนไทยที่เป็นแรงงานเถื่อนสามารถเปลี่ยนเป็นแรงงานที่ถูกต้องตามกฎหมาย และขอลดค่าเวิร์กเพอร์มิตให้น้อยลง เพื่อให้แรงงานไทยสามารถจดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมายแรงงานได้ง่ายขึ้น รวมทั้งการให้ให้ธนาคารอิสลามของไทยปล่อยสินเชื่อให้แก่ผู้ประกอบการร้านอาหารของชาวไทยมุสลิมในมาเลเซีย
 
ดังนั้น การเดินทางไปเยือนมาเลเซียของ ร.ต.อ.เฉลิม และคณะที่ผ่านมา จึงสามารถเชื่อมต่อกับสิ่งที่เลขาธิการ ศอ.บต.ได้ดำเนินการไปแล้ว โดยเฉพาะในส่วนของชมรมต้มยำกุ้ง เรื่องของแรงงานเถื่อน 200,000 คน ก็คงจะได้รับการตอบรับจากรัฐบาลมาเลเซียในการคลายกฎเหล็กลงได้บ้าง หากมีการดำเนินการติดตาม และติดต่อประสานงานอย่างต่อเนื่อง ซึ่งต้องดูว่ารัฐบาลไทยมีความจริงใจแค่ไหนกับปัญหาทางเศรษฐกิจ เรื่องปากท้องของคนในจังหวัดชายแดนภาคใต้
 
ส่วนเรื่องปัญหาการก่อความไม่สงบ ปัญหาเรื่องยาเสพติด และปัญหาในเรื่องอื่นๆ ที่เกี่ยวกับความมั่นคงนั้น หลายรัฐบาล หลายคณะของนักการเมือง และนักการทหาร ได้พยายามพูดคุยกับรัฐบาลมาเลเซียมาโดยตลอด ทั้งการเจรจา “บนโต๊ะ” และ “ใต้โต๊ะ” แต่สุดท้ายคือ ความไม่คืบหน้า เพราะมาเลเซียจะปฏิเสธตลอดว่า ไม่สนับสนุนกลุ่มก่อการร้าย และไม่มีกลุ่มก่อการร้ายในมาเลเซีย
 
แต่ในการเยือนมาเลเซียของคณะ ร.ต.อ.เฉลิม ครั้งนี้ อย่างน้อยก็น่าจะมี “ข่าวดี” จากมาเลเซียบ้าง นั่นคือ มาเลเซียกำลังตกลงใจที่จะให้มีการแลกเปลี่ยนนักโทษกับไทย ซึ่งในอดีตไม่เคยเกิดขึ้น ดังนั้น จึงถือเป็นก้าวแรกที่มีการพูดคุยในเรื่องของความมั่นคงที่เกี่ยวข้องกับการก่อการร้ายในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งไทยกำลังจะได้รับการตอบสนองจากรัฐบาลมาเลเซีย
 
โดยข้อเท็จจริง สิ่งที่ไทยหวังมาโดยตลอดในระยะเวลาหลายสิบปี นับตั้งแต่ที่รัฐบาลไทยเคยให้ความร่วมมือกับรัฐบาลมาเลเซียปราบปรามโจรจีนคอมมิวนิสต์มลายา (จคม.) จนราบคาบ เพราะเห็นว่าปัญหาของการก่อการร้ายที่เกิดจากโจรจีนคอมมิวนิสต์มลายาเป็นปัญหาร่วมกันระหว่างไทยกับมาเลเซีย ดังนั้น หลังจากการร่วมมือกันจนโจรจีนคอมมิวนิสต์มลายาล่มสลายด้วยฝีมือของฝ่ายไทย รัฐบาลไทย และฝ่ายความมั่นคงไทยจึงพยายามที่จะให้รัฐบาลมาเลเซียเห็นว่า ขบวนการโจรแบ่งแยกดินแดนเป็นปัญหาร่วมกันของทั้งสองประเทศเช่นกัน
 
แต่ที่ผ่านๆ มา ไม่ว่าจะมีการพูดคุยเรื่องนี้กี่ครั้ง รัฐบาลมาเลเซียก็จะยืนกรานแบบกระต่ายขาเดียวว่า เรื่องขบวนการโจรก่อการร้าย หรือขบวนการแบ่งแยกดินแดนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นปัญหาภายในของไทย ไม่ใช่ปัญหาร่วมของสองประเทศ
 
วันนี้สิ่งที่รัฐบาลไทย และหน่วยงานความมั่นคงต้องทำต่อไปคือ 1.ขอร้องให้รัฐบาลมาเลเซียอย่าให้ที่พักพิงแก่ขบวนการก่อการร้าย หรือขบวนการแบ่งแยกดินแดนที่หลบหนีจากฝั่งไทย และ 2.ขอให้จับกุมขบวนการที่หลบหนีเข้าไปอยู่ในมาเลเซียส่งคืนให้แก่ไทย โดยเอาแค่ 2 ข้อนี้ให้ได้ก่อน
 
ส่วนในเรื่องที่จะขอให้รัฐบาลมาเลเซียเห็นด้วยว่า เรื่องความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทยเป็นเรื่องความมั่นคงของทั้งสองประเทศ ยังเป็นเรื่องของอนาคต เพราะคงเป็นเรื่องยากยิ่งที่รัฐบาลมาเลเซียจะเห็นด้วย อย่างที่ไทยเคยเห็นด้วยกับรัฐบาลมาเลเซียในกรณีของขบวนการโจรจีนคอมมิวนิสต์มลายา
 
เพราะหากรัฐบาลมาเลเซียไม่ให้ที่พักพิง และจับกุมผู้มีหมายจับที่หลบหนีไปจากไทยส่งคืนให้ เท่ากับเป็นการทำลายห่วงโซ่ของขบวนการแบ่งแยกดินแดนไม่ให้มีการเชื่อมต่อกันได้ แม้ว่าการก่อการร้ายในพื้นที่ยังดำเนินการอยู่ต่อไป แต่เมื่อไม่มีที่หลบซ่อน ไม่มีที่พักพิง แถมยังถูกจับกุมส่งตัวมาให้เจ้าหน้าที่ไทย สิ่งนี้จะทำให้การปฏิบัติการป้องกัน และปราบปรามของไทยง่าย และได้ผลมากยิ่งขึ้น
 
เมื่อประกอบกับนโยบายของรัฐบาล และการดำเนินการของกองทัพในเรื่องการใช้กฎหมายความมั่นคง มาตรา 21 หรือที่ พล.ท.อุดมชัย ธรรมสาโรรัชต์ แม่ทัพภาคที่ 4 และ ผอ.กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า เรียกว่า “พาคนกลับบ้าน” โดยการนิรโทษกรรมแก่กลุ่มแกนนำ และแนวร่วมที่ไม่มีคดี ป.วิอาญาติดตัว
 
และหากประกอบกับการใช้นโยบายการเมืองของ ศอ.บต.ที่เน้นแนวทางการสร้างความ “ยุติธรรม” และการ “เยียวยา” ผู้รับผลกระทบจากสถานการณ์ รวมทั้งยุทธศาสตร์การเปิดพื้นที่พูดคุยกับผู้มีความเห็นต่างจากรัฐ ทั้งหมดจึงอาจจะเป็น “ทางสายใหม่” ของการเดินไปสู่จุดหมายของการแก้ปัญหาความไม่สงบ
 
แต่อย่าเพิ่งหวังถึงเรื่องการให้รัฐบาลมาเลเซียเป็น “คนกลาง” ในการเปิดโต๊ะ “เจรจา” ระหว่างรัฐบาลกับขบวนการแบ่งแยกดินแดน อย่างที่รัฐบาลฟิลิปปินส์ใช้ในการแก้ปัญหาความไม่สงบบนเกาะมินดาเนา เพราะวันนี้ ทั้งรัฐบาล และกองทัพยังคงไม่ยอมรับความจริงในหลายเรื่องนี้ โดยเฉพาะคำว่า “คนกลาง” ในการเข้ามาช่วยแก้ปัญหาความไม่สงบยังเป็นของ “แสลง” ของกองทัพ ซึ่งรัฐบาลมาเลเซียรู้จุดอ่อนของกองทัพไทยเป็นอย่างดี
 
ดังนั้น การที่รัฐบาลมาเลเซียไม่ยอมรับว่า ปัญหาการก่อการร้ายของไทยไม่ใช่ปัญหาร่วมของมาเลเซีย รัฐบาลไทยจึงพูดไม่ออก เพราะจนถึงทุกวันนี้ รัฐบาลกับกองทัพยังพยายามบอกแก่สังคมไทย และสังคมโลกว่า ปัญหาการก่อการร้ายโดยขบวนการแบ่งแยกดินแดนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นการ “ก่อความไม่สงบ” และเป็น “ปัญหาภายใน” ของไทย
 
เมื่อทั้งรัฐบาล และทั้งกองทัพมีความเห็นอย่างนี้ การแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นโดยการแสวงหาความร่วมมือจากเพื่อนบ้านอย่างประเทศมาเลเซีย แค่ได้รับการตอบสนองในข้อ 1 และข้อ 2 ดังที่กล่าวมาก็ต้องถือว่า “หรูหรา” ที่สุดแล้วกับความเพียรพยายามของไทยในหลายๆ รัฐบาลที่ผ่านมา
 

 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น