xs
xsm
sm
md
lg

นักวิชาการมุสลิมจาก 40 ประเทศ ร่วมสัมมนานานาชาติยกระดับ ว.อิสลามศึกษาสู่อาเซียน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ปัตตานี - นักวิชาการมุสลิมจาก 40 ประเทศ และนักวิชาการไทย กว่า 700 คน ร่วมจัดสัมมนานานาชาติ อิสลามศึกษาในโลกที่เปลี่ยนแปลง : โอกาสและสิ่งท้าทาย เพื่อยกระดับการจัดการศึกษาของวิทยาลัยอิสลามศึกษา ม.อ.ปัตตานี ให้ก้าวสู่นานาชาติ สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลที่จะให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการศึกษาอาเซียน หรือ Asean Education Hub

วันนี้ (14 ม.ค.) ที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี นักวิชาการมุสลิมจาก 40 ประเทศ ร่วมงานกันจัดงานสัมมนาทางวิชาการนานาชาติ เรื่องอิสลามศึกษาในโลกที่เปลี่ยนแปลง : โอกาสและสิ่งท้าทาย Islamic Studies in Changing World : Challenges and Opportunities ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 14-16 มกราคม 2556 ณ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี โดยมีนักวิชาการมุสลิมจาก 40 ประเทศ และนักวิชาการไทย รวม 700 คน เข้าร่วมสัมมนา โดยมี นายอาศิส พิทักษ์คุมพล จุฬาราชมนตรี เป็นประธานเปิดงาน และแสดงปาฐกถาพิเศษโดย Prof.Dr.Usamah Mohammad Al Abed President of Al-Azhar University, Egypt และจะมีพิธีเปิดอย่างเป็นทางการ โดย น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี วันนี้เวลาประมาณ 16.00 น.

ผู้ช่วยศาสตราจารย์สมปอง ทองผ่อง รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี กล่าวว่า การจัดสัมมนาทางวิชาการนานาชาติ เรื่องอิสลามศึกษาในโลกที่เปลี่ยนแปลง : โอกาสและสิ่งท้าทาย หรือ Islamic Studies in Changing World : Challenges and Opportunities เป็นมิติใหม่ทางด้านอิสลามศึกษาในประเทศไทย ที่จะได้รับรู้แนวคิด และประสบการณ์จากปราชญ์ทางด้านอิสลามศึกษานานาชาติจาก 40 ประเทศ และนักวิชาการอิสลามทั่วโลก ร่วม 700 คน เพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนาอิสลามศึกษาในประเทศไทย

ดังนั้น การสัมมนาครั้งนี้นับเป็นยุทธศาสตร์สำคัญประการหนึ่งที่จะแสวงหาพันธมิตรทางวิชาการ เพื่อพัฒนาอิสลามในประเทศไทยที่ยั่งยืนต่อไป ซึ่งการสร้างความเข้มแข็งในหลักสูตรอิสลามศึกษาให้เท่าเทียมกับนานาชาตินั้น จำเป็นที่จะต้องได้รับความร่วมมือ และแสวงหาพันธมิตรทางวิชาการจากมหาวิทยาลัยต่างๆ ทั่วโลก ที่จัดการเรียนการสอนทางด้านอิสลามศึกษา โดยเฉพาะสถาบันการศึกษาที่มีนักศึกษาไทยนิยมไปศึกษา เช่น มหาวิทยาลัยอัลอัซฮาร์ ประเทศอียิปต์ มหาวิทยาลัยนานาชาติแอฟริกัน ประเทศซูดาน และมหาวิทยาลัยอัลบัยต์ ประเทศจอร์แดน เป็นต้น

ผู้ช่วยศาสตราจารย์สมปอง ทองผ่อง กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับการสัมมนาในปีนี้ เป็นโครงการต่อเนื่องจากการสัมมนานานาชาติเมื่อปี 2553 ซึ่งมีตัวแทนจากประเทศต่างๆ ได้แก่ อียิปต์ กาตาร์ จอร์แดน ซูดาน ชาด แทนซาเนีย ตุรกี ปากีสถาน จีน ซาอุดีอาระเบีย โมร็อกโก ตูนิเซีย มาเลเซีย อินโดนีเซีย กัมพูชา และนักวิชาการในประเทศไทย รวม 413 คน ได้ประกาศในการจะร่วมมือ และสนับสนุนการศึกษาอิสลามศึกษาในประเทศไทย และจะให้มีการจัดสัมมนาที่วิทยาลัยอิสลามศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ทุกๆ 2 ปี

รูปแบบการสัมมนา ประกอบด้วย การนำเสนอบทความจากนักวิชาการต่างประเทศ และนักวิชาการไทย การวิพากษ์ และเสนอแนะโดยผู้เชี่ยวชาญด้านอิสลามศึกษา ในกลุ่มประเทศแอฟริกา ยุโรป อเมริกา และเอเชีย การประชุมโต๊ะกลมโดยผู้แทนอธิการบดีมหาวิทยาลัย และสถาบันการศึกษาอิสลาม การประกาศข้อสรุป และการจัดทำข้อตกลงโดยคณะผู้เข้าร่วมประชุม และทัศนศึกษาเพื่อเยี่ยมชม และศึกษาสภาพความเป็นอยู่ของมุสลิมในจังหวัดภาคเหนือ

ผลจากการสัมมนาครั้งนี้ จะเป็นการยกระดับการจัดการศึกษาของวิทยาลัยอิสลามศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ให้ก้าวสู่นานาชาติ สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลที่จะให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการศึกษาอาเซียน หรือ Asean Education Hub





กำลังโหลดความคิดเห็น