xs
xsm
sm
md
lg

ม.อ. ปัตตานีจัดประชุมวิชาการอิสลามนานาชาติ จาก 40 ประเทศ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ปัตตานี - มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จัดประชุมอิสลามนานาชาติจาก 40 ประเทศ เพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนาอิสลามศึกษาให้มีความรอบรู้ ความเชี่ยวชาญ และนำไปใช้ในการทำงานที่ดีในอนาคตได้ อันเป็นยุทธศาสตร์ที่จะแสวงหาพันธมิตรทางวิชาการเพื่อพัฒนาอิสลามในประเทศไทยที่ยั่งยืน

เมื่อเวลา 15.00 น. วันนี้ (14 ม.ค.) มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธานเปิดการประชุมสัมมนาวิชาการอิสลามนานาชาติ ในหัวข้อ ‘อิสลามศึกษาในโลกที่เปลี่ยนแปลง โอกาสและสิ่งท้าทาย Islamic Studies in Changing World: Challenges and Opportunities 2012’ ระหว่างวันที่ 14-16 ม.ค.2556 เพื่อสานต่อความร่วมมือด้านวิชาการอิสลามศึกษาตามข้อตกลงปฏิญญาปัตตานี โดยมีรัฐมนตรีจากประเทศกินี อินโดนีเซีย กัมพูชา เอกอัครราชทูตจากลิเบีย มาเลเซีย อินโดนีเซีย อธิการบดี นักวิชาการจากกาตาร์ ซาอุดีอาระเบีย จอร์แดน ตุรกี อียิปต์ โซมาเลีย ตูนิเซีย ปากีสถาน และสหราชอาณาจักร อธิการบดี ปราชญ์ และนักวิชาการจากประเทศโลกมุสลิม ร่วม 40 ประเทศ และนักวิชาการในประเทศ รวมกว่า 500 คนเข้าร่วมสัมมนา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนาอิสลามศึกษาในประเทศไทย อันเป็นยุทธศาสตร์สำคัญประการหนึ่งที่จะแสวงหาพันธมิตรทางวิชาการเพื่อพัฒนาอิสลามในประเทศไทยที่ยั่งยืน

รศ.ดร.ชูศักดิ์ ลิ่มสกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวรายงานว่า การจัดสัมมนานานาชาตินี้ เป็นความพยายามหนึ่งของวิทยาลัยอิสลามศึกษาที่มุ่งหาวิธีรับมืออย่างมีประสิทธิภาพกับความท้ายทายต่างๆ ในโลกปัจจุบันที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมากมาย เพื่อสร้างความเข้าใจในบทบาทของอิสลามศึกษา ตลอดจนเพื่อหาพันธมิตรทางวิชาการ และองค์ความรู้ที่จะกำหนดทิศทางการผลิตบัณฑิตที่สนองความต้องการของโลก

ด้านนายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ประธานในพิธีเปิดการสัมมนา กล่าวว่า ในนามของรัฐบาลไทยรู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้มาร่วมงานกับทุกท่านที่ จ.ปัตตานี ในวันนี้ ซึ่ง จ.ปัตตานีเป็นจังหวัดที่มีประชากรมุสลิมมากที่สุดในประเทศไทย และเป็นที่สถานที่ๆ มีความเป็นมาของการศึกษาศาสนาอิสลามอย่างยาวนาน การสัมมนาในครั้งนี้ นับเป็นโอกาสอันสำคัญที่จะเสริมศักยภาพเพื่อเสาะหาความท้าทายที่สำคัญต่ออิสลามศึกษาในยุคนี้ เพื่อนำไปใช้ในการเรียนการสอน และช่วยให้เกิดความเข้าใจที่ดีขึ้นผ่านอิสลามศึกษาที่มีประสิทธิภาพ และประสิทธิผลในโลกที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา

นายนิวัฒน์ธำรง กล่าวต่ออีกว่า วัตถุประสงค์หนึ่งของรัฐบาลไทย คือ การทำให้อิสลามศึกษาเป็นศาสตร์ที่บูรณาการ และสามารถเชื่อมโยงกับศาสตร์อื่นๆ ดังนั้น การสร้างให้นักศึกษาสาขาวิชานี้รอบรู้ และมีทักษะไม่เพียงแต่ในสาขาอิสลามศึกษาเท่านั้นแต่ในสาขาอื่นๆ ด้วย เพื่อให้นักศึกษามีความรอบรู้ และมีความเชี่ยวชาญ และนำไปใช้ในการทำงานที่ดีในอนาคตได้

อีกทั้งเพื่อให้มีความเป็นเลิศในศาสตร์ต่างๆ ด้านอิสลาม และมีทักษะในศาสตร์อื่นๆ ในขณะเดียวกัน เพื่อให้เป็นมุสลิมที่เก่งและมีคุณภาพ ดังนั้น วิทยาลัยอิสลามศึกษาจึงเสนอหลักสูตร 2 ปริญญา ในสาขาวิชารัฐศาสตร์ กฎหมาย เศรษฐศาสตร์ และวิทยาการจัดการ และสิ่งที่เราต้องการในอนาคตคือ การบูรณาการหลักสูตรอิสลามศึกษากับสาขาวิชาวิทยาศาสตร์การอาหาร อาหารฮาลาล อุตสาหกรรมเครื่องสำอาง การพยาบาล และอื่นๆ ในขณะเดียวกัน วิทยาลัยอิสลามศึกษายังฝึกนักศึกษาเพื่อเตรียมพร้อมในอนาคตเพื่อเป็นสมาชิกประชาคมอาเซียนที่มีคุณสมบัติพร้อม เป็นเรื่องที่สำคัญยิ่งที่ต้องฝึกให้นักศึกษามีความชำนาญในภาษาหลัก และภาษาท้องถิ่น เช่น ภาษาอังกฤษ อาหรับ ไทย และมาเลย์ ใน 3 ปีที่ผ่านมา วิทยาลัยอิสลามศึกษาส่งนักศึกษาไปประเทศอาเซียน อาหรับ และสหรัฐอเมริกาเพื่อให้มีความสามารถทางภาษาต่างประเทศ

นอกจากนี้ รัฐบาลต้องการให้วิทยาเขตปัตตานีเป็นศูนย์กลางที่เป็นเลิศทางภาษาอาหรับ ด้วยการจัดตั้งศูนย์ภาษาอาหรับโดยผ่านโครงการแลกเปลี่ยนนักศึกษากับมหาวิทยาลัยต่างประเทศ และสามารถโอนหน่วยกิตได้


 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น