โดย...อับดุลเลาะห์ วันอะฮ์หมัด
ความไม่แน่นอนของภาษามลายูอักษรญาวี (Jawi) เป็นอีกปัญหาหนึ่งที่ยังคงมีการถกเถียงกันอย่างไม่รู้จบ โดยเฉพาะในประเด็นที่มีรูปแบบของการเขียนที่ไม่มีกฎเกณฑ์ตายตัว
การเขียนภาษามลายูด้วยอักษรญาวีโดยส่วนใหญ่แล้ว มักจะอาศัยความพอใจของผู้เขียนแต่ละบุคคลว่า จะเลือก และยึดหลักการอะไรในการเขียน ไม่เหมือนกับตัวเขียนอื่นที่ไม่บ่อยครั้งนัก ที่จะพบปัญหาเหมือนกับภาษามลายูอักษรญาวี
เมื่อวันที่ 9 มกราคม พ.ศ.2556 ที่ผ่านมา ทีมงานโรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้ (DSJ) ได้เดินทางไปเยี่ยมเยือน บาบอดิง ปาแดรู โต๊ะครูเจ้าของปอเนาะในฐานะกวีมลายูอาวุโส ถึงที่ปอเนาะปาแดรู หรือโรงเรียนพัฒนาเยาวชนอิสลามวิทยา ตำบลกาตอง อำเภอยะหา จังหวัดยะลา
ปัจจุบัน บาบอดิงยังคงได้รับการเชื้อเชิญให้ไปอ่านบทกวีมลายูในเวทีต่างๆ อยู่เนื่องนิจ ล่าสุด ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา ในงานการเปิดตัวทีวีมลายู ที่จัดโดยศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ ศอ.บต. เมื่อวันที่ 3 มกราคม 2556 ที่ผ่านมา
ในโอกาสนี้ ทีมงานของ DSJ ได้พูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับภาษามลายูอักษรญาวี หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ตัวเขียนญาวี ถึงความสำคัญ และบทบาทของภาษามลายูอักษรญาวี ในฐานะที่เคยมีอิทธิพลต่อคนมลายูปาตานีนับตั้งแต่อดีตจนกระทั่งทุกวันนี้
วงสนทนา ถกกันในประเด็นนี้ค่อนข้างอย่างน่าสนใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสภาวะที่ภาษามลายูอักษรญาวีกำลังวิกฤตเยี่ยงนี้ ทว่ากลับถูกสังคมละเลยไปโดยไม่รู้ตัว ทั้งๆ ที่ภาษามลายูอักษรญาวี ถือเป็นภาษาที่สละสลวย ละเอียดอ่อน และมีความลึกซึ้งโดยตัวของมันอยู่แล้ว ทั้งการใช้ และการเรียบเรียงคำ
ประเด็นแรกก็คือ การที่เราจะขับเคลื่อนในเรื่องภาษามลายูอักษรญาวีที่ถูกทิ้งจากสังคมมานาน ถือเป็นเรื่องที่ท้าทายอย่างมาก เพราะภาษามลายูอักษรญาวีเองมีความโดดเด่นเป็นของตัวเองอยู่แล้ว กล่าวคือ หนึ่ง มันเป็นตัวเขียนที่ถูกประยุกต์โดยบรรพบุรุษของคนมลายูเอง เรียกอีกอย่างก็คือ เป็นการยืมตัวอักษรมาจากภาษาอาหรับ นั่นก็คือ ภาษาอัล-กุรอาน เพื่อนำมาใช้ในการเขียนตำรา และการสื่อสาร นี่คือสิ่งที่โดดเด่นที่สุดยิ่งกว่าสิ่งใด
ภาษามลายูอักษรญาวียังเป็นภาษาที่มีความเจริญรุ่งเรืองมาพร้อมๆ กับการเข้ามาของศาสนาอิสลามในแหลมมลายูแถบอุษาคเนย์นี้อีกด้วย อีกทั้งการที่จะพยายามอนุรักษ์ด้วยการผลิตเป็นสื่อให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง จำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้ผลิตเองจะต้องมีความรู้ความเชี่ยวชาญเกี่ยวกับภาษามลายูอักษรญาวีอยู่พอสมควร ซึ่งก็ต้องอาศัยประสบการณ์ของผู้เขียนโดยเฉพาะ
ในส่วนของหลักการเขียนภาษามลายูอักษรญาวีนั้น บอบอดิงได้ให้ความเห็นอย่างน่าสนใจต่อเรื่องนี้ว่า “นักเขียนภาษามลายูญาวีส่วนใหญ่แทบทุกคน ล้วนมิได้ผ่านการร่ำเรียนทางด้านหลักไวยากรณ์แต่อย่างใด แต่พวกเขาอาศัยความเคยชินที่ได้สังเกต จนมีความสามารถเขียนเองได้ในระดับหนึ่ง หลังจากที่ได้สัมผัสผ่านประสบการณ์อ่านด้วยตัวเอง ซึ่งจะทำให้เขาสามารถเขียนได้เองอย่างอัตโนมัติ โดยปราศจากหลักสูตรวิธีการการเขียนที่ตายตัว”
บาบอดิงยังเสริมอีกว่า การเขียนภาษามลายูอักษรญาวีนั้น ไม่ได้อาศัยการเรียนรู้ผ่านกระบวนการเรียนการสอนอย่างเฉพาะเจาะจง เพราะมันเป็นเรื่องความเข้าใจของแต่ละบุคคล ที่จะวางประโยชน์อันไหนหน้า อันไหนหลัง เพราะถึงแม้ว่าผู้ที่ได้ศึกษาตำราเกี่ยวกับหลักไวยากรณ์อย่างถี่ถ้วนก็ตาม แต่หากปราศจากการอ่านทดลองด้วยสายตาอย่างสม่ำเสมอ คงจะยาก และไม่มีวันที่จะเขียนญาวีได้
ประเด็นที่สอง ถือเป็นประเด็นที่น่าท้าทายอีกประเด็นหนึ่ง นั่นก็คือ ภาษามลายูอักษรญาวีไม่ได้มีกฎเกณฑ์ที่ตายตัวในการเขียน ซึ่งมันกลายเป็นประเด็นที่ถูกถกเถียงกันอย่างไม่สิ้นสุดว่า เขียนแบบไหนที่ถือว่าถูกต้องที่สุด เพราะปัญหาเหล่านี้ได้ส่งผลต่อผู้บริโภคและผู้เขียนเองที่จะต้องมีความแน่นอนหนักแน่นในการเลือกใช้วิธีการเขียนภาษามลายูอักษรญาวี ไม่ว่าจะเป็นการเขียนแบบคลาสิก (แบบเก่าแก่) การเขียนแบบซะอฺบา (แบบที่คิดค้นโดยท่านซะอฺบา) และการเขียนแบบเดวันบาฮาซา (การเขียนแบบสมัยใหม่)
การเขียนแบบคลาสิกนั้น ปัจจุบันแทบจะหายไปแล้ว นอกเหนือจากตำราศาสนาที่ยังคงมีอยู่ในสถาบันการศึกษาปอเนาะ ที่ตีพิมพ์ในสมัยก่อนที่จะมีการปรับปรุงภาษามลายูอักษรญาวีเหมือนอย่างทุกวันนี้ เช่น คำว่า ตาย จะเขียนว่า مات หากอ่านตามตัวเขียนจะหมายถึง ดวงตา แต่ความจริงหมายถึงความตาย
ส่วนการเขียนแบบซะอฺบานั้น คือ เป็นความพยายามที่จะหลีกเลี่ยงคำที่ยากต่อการอ่าน โดยเฉพาะคำที่อ่านออกเสียงอย่างหนึ่ง แต่ความหมายอีกอย่างหนึ่ง เช่น คำว่า ตาย จากเดิมที่เขียนว่า مات เมื่ออ่านออกเสียงจะให้ความหมายว่าดวงตา โดยใช้วิธีการเพิ่มตัว ي ลงไป ก็จะกลายเป็น ماتي จะหมายถึงความตาย หรือการเสียชีวิต
สุดท้ายก็คือ ตามรูปแบบของเดวันบาฮาซา (หอสมุดแห่งชาติมาเลเซีย) มีความพยายามที่จะเขียนให้เอื้อต่อคนอ่านให้มากที่สุด โดยการเพิ่มตัวอักษรที่เปรียบเทียบกับสระลงไป แต่เน้นการออกเสียงให้เหมือนกับการอ่านอักษรโรมัน เช่น คำว่า แกง ตามแนวคิดของซะอฺบาจะเขียนว่า ڬولي แต่เดวันจะเติมอักษร ا ลงไปเป็น ڬولاي ซึ่งจริงอยู่ถึงแม้มันจะเอื้อต่อการอ่านออกเสียงให้ถูกต้องก็ตาม แต่ในขณะเดียวกัน ยังมีหลายฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับหลักการเขียนดังกล่าวนี้อีกมาก
ประเด็นดังกล่าว ถือเป็นประเด็นที่ยังคงถูกถกเถียงกันอย่างกว้างขวางในแวดวงของผู้ที่เกี่ยวข้องกับการใช้ภาษามลายูอักษรญาวีโดยตรง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กับผู้ที่มีจิตสำนึกที่ต้องการจะฟื้นฟูอนุรักษ์เพื่อให้ภาษามลายูอักษรญาวีสามารถดำรงอยู่ได้ในสังคมของเราตราบนานเท่านาน ที่จำเป็นจะต้องมีความเข้าใจในจุดนี้ให้อย่างถ่องแท้ และดีที่สุด
แล้วความเป็นมาตรฐานก็จะบังเกิดพร้อมๆ กับการได้รักษาอัตลักษณ์ของชนชาติพันธุ์ที่มีความสวยงาม และทรงคุณค่ายิ่งนี้ในสังคมบ้านเราอีกด้วย ตามคำคมที่ว่า “Hidup bahasa Hidup bangsa” การคงอยู่ของภาษา คือการคงอยู่ของชาติพันธุ์ ฉันใดก็ฉันนั้น