ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - ระดมครูตาดีกากับครูสอนอิสลามศึกษาในโรงเรียนของรัฐ ยื่นข้อเสนอต่อภาครัฐแก้ปัญหาการเรียนการสอนซ้ำซ้อน ชี้ต้องร่วมพัฒนาครู สื่อการสอน ปรับหลักสูตรให้เหมือนกัน และจัดสวัสดิการ และงบประมาณให้เหมาะสม
เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2555 ที่ผ่านมา ที่โรงแรมยะลา แกรนด์ พาเลซ อ.เมือง จ.ยะลา ได้มีการสัมมนาวิชาการ การพัฒนาอิสลามศึกษาในโรงเรียนของรัฐ และศูนย์การศึกษาอิสลามประจำมัสยิด (ตาดีกา) โดยมี ดร.กมล รอดคล้าย ผู้ตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการ ผู้อำนวยการสำนักบริหารยุทธศาสตร์และบูรณาการการศึกษาที่ 12 ผู้อำนวยการสำนักงานการศึกษาประถมศึกษายะลา เขต 1, 2 และ 3 ผู้อำนวยการโรงเรียนของรัฐ ประธานศูนย์การศึกษาอิสลามประจำมัสยิด (ตาดีกา) นายกองค์การบริหารส่วนตำบล คณะกรรมการชมรมตาดีกาจังหวัดยะลา เข้าร่วม
นายสาโรช จรจิตต์ หัวหน้าศูนย์พัฒนาอิสลามศึกษาสำนักบริหารยุทธศาสตร์และบูรณาการการศึกษาที่ 12 เปิดเผยว่า การสัมมนาครั้งนี้เป็นการระดมความคิดเห็นจากบรรดาครูสอนศาสนาอิสลามในโรงเรียนของรัฐ และครูสอนศูนย์การศึกษาอิสลามประจำมัสยิด (ตาดีกา) เพื่อจัดทำข้อเสนอในประเด็นปัญหาความซ้ำซ้อนของการจัดการเรียนการสอนอิสลามศึกษาที่เป็นอยู่
การสัมมนาครั้งนี้ เป็นการเปิดโอกาสให้ประธานศูนย์การศึกษาอิสลามประจำมัสยิด (ตาดีกา) และผู้บริหารโรงเรียนรัฐได้พบปะแลกเปลี่ยนระดมความคิด เพื่อให้เกิดการพัฒนาคุณภาพ และบูรณาการการจัดการศึกษาในโรงเรียนของรัฐและศูนย์การศึกษาอิสลามประจำมัสยิด (ตาดีกา) พร้อมๆ กัน และเพิ่มศักยภาพกระบวนการบริหารทางการศึกษาแบบยั่งยืนเพื่อนำไปพัฒนาเด็กให้มีคุณภาพมากขึ้น เพราะเด็กเป็นกลุ่มเป้าหมายเดียวกัน
ในการสัมมนาครั้งนี้ ครูสอนศูนย์การศึกษาอิสลามประจำมัสยิด (ตาดีกา) และครูสอนศาสนาอิสลามในโรงเรียนของรัฐได้มีข้อเสนอต่อภาครัฐเพื่อการพัฒนาการเรียนการสอนอิสลามศึกษา และแก้ปัญหาความซ้ำซ้อน 5 ข้อ คือ
1.รัฐจะต้องปรับปรุง และพัฒนาให้หลักสูตรอิสลามศึกษาที่ใช้ในโรงเรียนของรัฐกับหลักสูตรการเรียนการสอนที่ใช้ในศูนย์การศึกษาอิสลามประจำมัสยิด (ตาดีกา) ให้เหมือนกัน และสามารถเชื่อมโยงกันได้
2.รัฐจะต้องส่งเสริม และพัฒนาครูสอนอิสลามศึกษาในโรงเรียนของรัฐกับครูผู้สอนในศูนย์การศึกษาอิสลามประจำมัสยิด (ตาดีกา) ให้มีความรู้ความเข้าใจในเรื่องการจัดการกระบวนการเรียนรู้
3.ให้รัฐสนับสนุนในเรื่องสวัสดิการแก่ครูผู้สอนอิสลามศึกษาในโรงเรียนของรัฐ กับครูผู้สอนในศูนย์การศึกษาอิสลามประจำมัสยิด (ตาดีกา) เช่น ค่ารักษาพยาบาล ค่าเล่าเรียนบุตร เป็นต้น
4.รัฐจะต้องสนับสนุนสื่อการเรียนการสอนแก่หลักสูตรอิสลามศึกษาในโรงเรียนของรัฐ กับศูนย์การศึกษาอิสลามประจำมัสยิด (ตาดีกา)
5.รัฐจะต้องวางแผนในเรื่องกิจกรรมพัฒนาผู้เรียนร่วมกันแก่ครูผู้สอนอิสลามศึกษาในโรงเรียนของรัฐกับครูผู้สอนในศูนย์การศึกษาอิสลามประจำมัสยิด (ตาดีกา) เพื่อไม่ให้เกิดความซ้ำซ้อนกัน เนื่องจากที่ผ่านมา ทั้งโรงเรียนของรัฐ และตาดีกาจัดกิจกรรมที่เหมือนๆ กัน
“ข้อเสนอดังกล่าวนี้ ทางศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) นำไปประมวลเพื่อศึกษาถึงความเป็นไปได้ ปัญหา และอุปสรรค จากนั้นจะมีการดำเนินการต่อไป” นายสาโรชกล่าว
นายอาฮะมะสุกรี ดาโอะซีตี เลขาธิการชมรมโรงเรียนตาดีกาจังหวัดปัตตานี กล่าวถึงแนวทางการแก้ปัญหาที่เป็นอยู่ว่า รัฐควรที่จะสนับสนุนงบประมาณแก่มูลนิธิศูนย์ประสานงานตาดีกาจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อนำงบประมาณมาพัฒนาบุคลากรและนักเรียนมากกว่าที่รัฐจะเป็นผู้ดำเนินการในเรื่องการพัฒนาโรงเรียนตาดีกาเสียเอง เพราะไม่มีหน่วยงานใดมีความเข้าใจโรงเรียนตาดีกาได้มากกว่าองค์กรที่ดูแลอยู่
อาฮะมะสุกรี เปิดเผยอีกว่า ทางมูลนิธิศูนย์ประสานงานฯ ได้มีการพัฒนาครูผู้สอนมาโดยตลอดอยู่แล้ว เพียงแต่มีข้อจำกัดในเรื่องของงบประมาณ ทำให้ขาดการรับรู้จากสังคมทั่วไป เช่น มูลนิธิศูนย์ประสานงานฯ มีกิจกรรมอบรมครูสอนโรงเรียนตาดีกาอย่างน้อยปี 1 ครั้ง
“มูลนิธิศูนย์ประสานงานตาดีกาฯ มีกิจกรรมการพัฒนานักเรียนตาดีกามากว่า 31 ปีแล้ว มีทั้งกิจกรรมภาคสนาม คือ การแข่งขันกีฬาตั้งแต่ระดับตำบล จนถึงระดับ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และกิจกรรมภาคเวที เช่น การแข่งขันตอบปัญหาศาสนาอิสลาม การแข่งขันอ่านอัล-กรุอาน การแข่งขันอนาซีด การแข่งขันคัดลายมือภาษาอาหรับ และการอบรมนักเรียนตาดีกาภาคฤดูร้อนเป็นต้น” นายอาฮะมะสุกรีกล่าว
ฮัสซัน โตะดง
โรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้(DSJ)