สพฐ.วิเคราะห์ O-Net ชั้น ป.6 ใช้ค่าเฉลี่ยระดับประเทศลากเส้นแบ่งกลุ่มโรงเรียน พบ ร.ร.ส่วนใหญ่อยู่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในทุกวิชา โดยเฉพาะ “ภาษาอังกฤษ” มี ร.ร.อยู่ใต้เส้นมากสุด เตรียมนำผลคะแนน O-Net เชื่อมโยงการประเมินความดีความชอบ หวังกดดันให้ครู ร.ร.ตั้งใจพัฒนาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของเด็ก และใช้เป็นนัยยะพิจารณาจัดสรรงบประมาณ
นายชินภัทร ภูมิรัตน เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) เปิดเผยว่า สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้วิเคราะห์คะแนนการทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติขั้นพื้นฐาน หรือ O-Net โดยนำค่าเฉลี่ยคะแนน O-Net ระดับประเทศมาลากเส้นแดงเพื่อดูว่า มีโรงเรียนที่อยู่บนเส้นและใต้เส้นจำนวนเท่าใด โดยเริ่มวิเคราะห์จากคะแนนO-Netระดับชั้น ป.6 ซึ่งมีนักเรียนเข้าสอบ O-Net จำนวนทั้งสิ้น 28,290 คน ส่วนค่าเฉลี่ยคะแนน O-Net รวมทุกวิชาระดับ ป.6 อยู่ที่ 49.36 คะแนน
ทั้งนี้ พบว่า มีโรงเรียนที่อยู่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยดังกล่าว จำนวน 16,294 โรง และโรงเรียนที่อยู่สูงกว่าค่าเฉลี่ย จำนวน 11,995 โรง เมื่อแยกเป็นรายวิชา พบว่า วิชาภาษาอังกฤษ มีจำนวนโรงเรียนที่ได้คะแนน O-Net ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยมากที่สุด 18,681 โรง และสูงกว่าค่าเฉลี่ยจำนวน 9,609 โรง ขณะที่ค่าเฉลี่ยวิชานี้อยู่ที่ 38.37 คะแนน ส่วนวิชาภาษาไทย ค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 50.04 มีโรงเรียนต่ำกว่าค่าเฉลี่ย จำนวน 16,290 โรง และโรงเรียนที่สูงกว่าค่าเฉลี่ย จำนวน 12,000 โรง, วิชาสังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม ค่าเฉลี่ย 52.22 มีโรงเรียนต่ำกว่าค่าเฉลี่ย จำนวน 16,432 โรง และสูงกว่าค่าเฉลี่ย จำนวน 11,858 โรง วิชาคณิตศาสตร์ ค่าเฉลี่ย 52.40 มีโรงเรียนต่ำกว่าค่าเฉลี่ย จำนวน 15,448 โรง และสูงกว่าค่าเฉลี่ย จำนวน 12,842 โรง, วิชาวิทยาศาสตร์ ค่าเฉลี่ย 40.82 มีโรงเรียนต่ำกว่าค่าเฉลี่ย จำนวน 17,076 โรง และสูงกว่าค่าเฉลี่ย จำนวน 11,214 โรง, วิชาสุขศึกษาและพลศึกษา ค่าเฉลี่ย 58.87 มีโรงเรียนต่ำกว่าค่าเฉลี่ย จำนวน 14,780 โรง และสูงกว่าค่าเฉลี่ย จำนวนจำนวน 13,509 โรง, วิชาศิลปะ ค่าเฉลี่ย 46.75 มีโรงเรียนต่ำกว่าค่าเฉลี่ย จำนวน 16,169 โรง และสูงกว่าค่าเฉลี่ย จำนวน จำนวน 12,120 โรง และวิชาการงานอาชีพและเทคโนโลยี ค่าเฉลี่ย 55.38 มีโรงเรียนต่ำกว่าค่าเฉลี่ย จำนวน 15,478 โรง และสูงกว่าค่าเฉลี่ย จำนวน จำนวน 12,811 โรง
นอกจากนี้ เมื่อวิเคราะห์ผลคะแนนแยกตามเขตพื้นที่การศึกษา พบว่า 10 เขตพื้นที่การศึกษาที่มีคะแนน O-Net สูงสุด 10 อันดับ ดังนี้ อันดับ 1 กาฬสินธุ์ เขต 1 ค่าเฉลี่ย 57.41 อันดับที่ 2 ยโสธร เขต 1 ค่าเฉลี่ย 57.00 คะแนน อันดับที่ 3 ขอนแก่น เขต 5 ค่าเฉลี่ย 56.86 คะแนน อันดับที่ 4 ร้อยเอ็ด เขต 2 ค่าเฉลี่ย 56.55 คะแนน อันดับที่ 5 ศรีสะเกษ เขต 2 ค่าเฉลี่ย 59.95 คะแนน อันดับที่ 6 ศรีสะเกษ เขต 1 ค่าเฉลี่ย 55.86 คะแนน อันดับที่ 7 หนองคาย เขต 1 คะแนน 55.85 คะแนน อันดับที่ 8 ชัยนาท เขต 1 ค่าเฉลี่ย 55.37 คะแนน อันดับที่ 9 อุดรธานี เขต 4 ค่าเฉลี่ย 55.32 คะแนน และอันดับที่ 10 พิจิตร เขต 1 ค่าเฉลี่ย 55.19 คะแนน
นายชินภัทร กล่าวต่อว่า ส่วนเขตพื้นที่การศึกษาที่ได้คะแนน O-Net ต่ำสุดนั้น ส่วนใหญ่เป็นเขตพื้นที่การศึกษาใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และเขตพื้นที่การศึกษาในภาคเหนือ ดังนี้ แม่ฮ่องสอน เขต 1 ค่าเฉลี่ย 40.65 นราธิวาส เขต 3 ค่าเฉลี่ย 40.49 คะแนน เชียงใหม่ เขต 6 ค่าเฉลี่ย 39.97 คะแนน เขต 2 ค่าเฉลี่ย 39.93 คะแนน เชียงใหม่ เขต 5 ค่าเฉลี่ย 39.04 คะแนน ตาก เขต 2 ค่าเฉลี่ย 38.97 คะแนน แม่ฮ่องสอน เขต 2 คะแนน 38.75 คะแนน ยะลา เขต 2 ค่าเฉลี่ย 37.98คะแนน ปัตตานี เขต 1 ค่าเฉลี่ย 37.34 คะแนน และ ยะลา เขต 3 ค่าเฉลี่ย 36.51 คะแนน
อย่างไรก็ตาม การวิเคราะห์ผลคะแนน O-Net นั้น ทำให้ได้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์มาใช้สำหรับการบริหารจัดการงบประมาณและการพัฒนาครู ต่อไป สพฐ.จะไม่อุดหนุนงบประมาณให้ทุกโรงเรียนในสูตรเดียวกัน แต่จะจัดสรรงบประมาณแบบ “สั่งตัด” ให้เหมาะสมกับเขตพื้นที่การศึกษาและโรงเรียนแต่ละแห่ง เขตพื้นที่การศึกษาที่ได้คะแนนต่ำสุด 10 อันดับ ก็จะต้องมีแผนปฏิบัติเข้าไปยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียน โดยได้มอบให้สำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา ของ สพฐ.ไปศึกษารายละเอียดและจัดทำแผนปฏิบัติการดังกล่าง ส่วนเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา จ.กาฬสินธุ์ เขต 1 ที่ได้คะแนน O-Net สูงสุดนั้น จะดึงมาเป็นต้นแบบเพื่อขยายผลให้กับเขตพื้นที่การศึกษาอื่นๆ ขณะเดียวกัน สพฐ.จะเตรียมเสนอหลักเกณฑ์ในการประเมินเข้าสู่วิทยฐานะใหม่ แก่คณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ซึ่งจะมีการประชุมปลายเดือนนี้ ขอให้ครูในโรงเรียนที่ค่าเฉลี่ย O-Net สูงกว่าเส้นเขียว หรือค่าเปอร์เซ็นไทล์แร็ง ที่ 70 นั้น ไม่ต้องทำงานวิชาการเล่มหนาเพื่อประเมินเลื่อนวิทยฐานะ เพราะถือว่าครูเหล่านี้ มีผลงานทางการสอนที่ประสบความสำเร็จ และจะดึงมาเป็นวิทยากรอบรมครูอื่นๆ ด้วย