xs
xsm
sm
md
lg

“วช.-สอศ.” ระดมครู-นศ.อาชีวะภาคเหนือติวเข้มสร้างนักประดิษฐ์รับอาเซียน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เชียงราย - วช.-กรรมการอาชีวศึกษาดึงครู-นักศึกษาอาชีวะติวเข้มแนวทางทำวิจัย ประดิษฐ์นวัตกรรมใหม่ส่งประกวด คัดตัวแข่งระดับชาติ-นานาชาติ พบประเมินกว่า 100 สถานศึกษาตกเกณฑ์ 85%

วันนี้ (9 ม.ค.) สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ร่วมกับคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) จัดโครงการส่งเสริมการวิจัยสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมสายอาชีวศึกษา ประจำปี 2556 (ภาคเหนือ) ครั้งที่ 1 ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย ระหว่างวันที่ 9-11 มกราคมนี้ โดยมี ดร.สุธี อักษรกิตติ์ ประธานกรรมการสภาวิจัยแห่งชาติ สาขาวิศวกรรมศาสตร์และอุตสาหกรรมวิจัย เป็นประธานในพิธีเปิด และ น.ส.สุกัญญา ธีระกูรณ์เลิศ ผู้อำนวยการภารกิจบริหารจัดการผลงานวิจัย วช. กล่าวรายงาน โดยมีผู้บริหาร บุคลากรจาก 2 หน่วยงาน นักศึกษาในภาคเหนือร่วมรับฟังการบรรยาย การเสวนาจากผู้ทรงคุณวุฒิหลากหลาย และนำเสนอสิ่งประดิษฐ์เพื่อนำความรู้ไปประยุกต์ทำผลงานวิจัย สิ่งประดิษฐ์ส่งเข้าร่วมจัดแสดงและประกวดในกิจกรรมครั้งที่ 2 ระหว่างวันที่ 6-7 มิถุนายน เพื่อหาผู้เข้ารอบไปประกวดระดับชาติและนานาชาติต่อไป

สำหรับสิ่งประดิษฐ์ที่จะนำมาจัดแสดงในกิจกรรมครั้งที่ 2 เน้นใน 3 ด้าน คือ 1. เป็นสิ่งที่มาจากการสร้างสรรค์ใหม่ๆ หรือต่อยอดของเดิมได้ดี โดยมีตัวอย่างกรณีโทรศัพท์ ซึ่งมีพัฒนาต่อยอดจากเครื่องราคานับแสนบาท มีเสายาว ก็ได้สตีฟ จ็อบส์ มาต่อยอดรวมทุกอย่างไว้ในเครื่องเดียวจนถึงปัจจุบัน 2. ต้องใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ได้ และ 3. ผสมผสานระหว่างความรู้และความคิดสร้างสรรค์ได้อย่างลงตัว

ดร.สุธี กล่าวว่า โครงการนี้มุ่งให้นักศึกษาสังกัดอาชีวศึกษามีบทบาทในการพัฒนาประเทศ ทั้งนี้ นักศึกษาที่เข้าร่วมถือเป็นระดับต้นน้ำ ยังมีระดับกลาง และปลายที่ยังต้องมีการพัฒนาอีก ครั้งนี้จึงถือเป็นการพัฒนาที่รากฐานของประเทศอย่างแท้จริง โดยที่ผ่านมา วช.จัดให้มีเวทีประกวดในงานวันนักประดิษฐ์เป็นประจำทุกปี และได้นำผลงานที่ได้รับรางวัลไปร่วมประกวดเวทีระดับนานาชาติด้วย ทั้งที่กรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้ กรุงเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์

ด้าน ดร.มงคลชัย สมอดุร ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนาการอาชีวศึกษา กล่าวว่า ปีนี้เลขาธิการ สอศ.ให้ความสำคัญต่อการวิจัยเพื่อการพัฒนามาก จนถือเป็นนโยบายหลักที่จะต้องดำเนินการเพื่อรองรับการเปิดประเทศสู่ประชาคมอาเซียนในอีก 2 ปีข้างหน้า เพราะปัจจุบันสังคมตั้งความหวังกับอาชีวศึกษาว่าจะมีความสำคัญต่อกลุ่มคนทำงานในอนาคต แต่ก็น่ากังวลที่แม้ทุกรัฐบาลจะส่งเสริมการวิจัย แต่งานวิจัยในประเทศไทยก็ยังน้อย ซึ่งอาจเป็นผลมาจากการที่นักศึกษาเห็นเป็นเรื่องยาก เข้าไม่ถึงหรือไกลตัว จึงทำให้งานวิจัยไม่ก้าวหน้าเท่าที่ควร

“ก่อนหน้านี้ได้ประเมินผลจากสถานศึกษารอบแรก 108 แห่ง รอบที่สองอีก 100 กว่าแห่ง และกำลังประเมินในรอบที่ 3 ปรากฏว่าสถานศึกษาทั้งหมดไม่ผ่านเกณฑ์ที่เป็นตัวบ่งชี้ 2 เรื่องถึง 85% คือ การนำผลการวิจัยไปใช้ให้เกิดประโยชน์และเผยแพร่ และเรื่องบุคลากรทางการศึกษา แสดงให้เห็นว่ามีการนำเอาความรู้จากการวิจัยไปใช้ประโยชน์กันน้อย”

ดร.มงคลชัยกล่าวว่า ก่อนหน้านี้นักศึกษาไทยเคยประดิษฐ์ผลงานออกมาดีมาก จนนำไปต่อยอดทางพาณิชย์ได้ แต่ผลงานชิ้นนั้นกลับขาดงานวิจัยหรือรายงานประกอบรองรับ ซึ่งถือว่าน่าเสียดายมาก การจัดกิจกรรมครั้งนี้จึงมุ่งที่จะปิดจุดอ่อนตรงนี้ให้ได้ สำหรับครูขอให้มองการทำงานว่าสมองของเรามีอยู่เต็ม 100% ถ้าสามารถทำหน้าที่ครู เช่น สอนหนังสือ มีแผนการสอน ก็จะถือได้ว่าทำได้เพียง 50% ที่เหลืออีก 50% คือการสร้างความรู้ เช่น งานวิจัย นวัตกรรม จึงจะเติมเต็มได้ทั้งหมด เรียกได้ว่าครึ่งหนึ่งเป็นเรื่องการให้ความรู้แก่ลูกศิษย์ อีก 50% คือการสร้างความรู้ใหม่ๆ ขึ้นมา

“แม้อาชีวศึกษาจะถูกตั้งความหวังจากสังคมเอาไว้มาก แต่มีเรื่องที่ผมเจอด้วยตัวเอง คือ เมื่อเร็วๆ นี้มีเอกชนจำหน่ายยางรถยนต์รายใหญ่รายหนึ่ง แจ้งขอผู้ที่จบการศึกษาระดับ ปวช. สังกัดกรมอาชีวศึกษา 30 คนเข้าไปทำงานในบริษัท แต่ผมหาให้ได้เพียง 3 คน ที่เหลือเมื่อจบออกไปแล้วเรียกมาก็ไม่มาหา แม้จะพยายามเปลี่ยนงานในสาขาที่ใกล้เคียงกันให้แต่ตามหาตัวไม่ได้ จนน่าสงสัยว่าคนเหล่านี้จบแล้วเขาหายไปไหน”

กำลังโหลดความคิดเห็น