xs
xsm
sm
md
lg

ว.ประชาชน ผลิต นศ.มุ่งสอนกฎหมายให้ชาวบ้านหวังแปรความขัดแย้งสู่สันติ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - วิทยาลัยประชาชนเปิดห้องเรียนติวเข้ม เครือข่ายประชาชนเรียนรู้กฎหมายเบื้องต้น รับมือการบังคับใช้กฎหมายในพื้นที่พิเศษ หวังสร้างตัวเชื่อมแปรความขัดแย้งสู่สันติภาพ พร้อมอุดช่องว่างลงพื้นที่ แนะนำชาวบ้านไม่รู้กฎหมาย

เมื่อวันที่ 28-29 ธันวาคมที่ผ่านมา วิทยาลัยประชาชน (People College) เปิดห้องเรียนกฎหมายพื้นฐาน เตรียมสร้างเครือข่ายแนะนำกฎหมายเบื้องต้นให้ชาวบ้านในพื้นที่ ประกาศใช้กฎหมายพิเศษ ระบุมีนักศึกษารุ่นสาม จำนวน 50 คน จากตัวแทนองค์กรภาคประชาสังคมในจังหวัดชายแดนใต้ เข้าอบรมหลักสูตรผู้นำแปรความขัดแย้งสู่สันติภาพ ณ ห้องประชุมเชคดาวุด อัลฟาตอนี และเชคอะห์อะหมัด อัลฟาตอนี วิทยาลัยอิสลามศึกษา ม.อ.ปัตตานี

นายมูฮัมหมัดนาเซร์ สูหลง ผู้บริหารจัดการนักศึกษาวิทยาลัยประชาชนเปิดเผยว่า วิชาเรียนในระหว่าง 2 วันนี้ คือ วิชากฎหมายทั่วไปในชีวิตประจำวัน วิชากฎหมายปกครอง วิชาความรู้กฎหมายเบื้องต้น วิชาการพิจารณาคดีในชั้นศาล และยังมีกิจกรรมลงพื้นที่ฝึกเก็บข้อมูลจริง เพื่อทดสอบเครื่องมือการบันทึกข้อมูลข้อเท็จจริงจากเหตุการณ์จริง

นายมูฮัมหมัดนาเซร์ สูหลง กล่าวว่า การเรียนการสอนวิชากฎหมายในระหว่าง 2 วันนี้ ดำเนินการถ่ายทอดความรู้ โดยทนายความจากศูนย์ทนายความมุสลิม ประจำจังหวัดปัตตานี และมูลนิธิผสานวัฒนธรรม (CrCF) เป็นวิทยากร โดยหลักสูตรนี้จัดขึ้นเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้เรียน หลังจากที่มีการสอบถามผู้เรียนว่า ต้องการเรียนเนื้อหาอะไรบ้าง เนื่องจากสถานการณ์ในพื้นที่ผลักดันให้พวกเขาอยากรู้กฎหมายที่มีการบังคับใช้ในพื้นที่ เนื่องจากที่ผ่านมา เสียงสะท้อนจากผู้เรียนพบว่า ความไม่รู้กฎหมายของชาวบ้าน ทำให้พวกเขาถูกละเมิดสิทธิมากมาย

“ในการประเมินว่านักศึกษาที่จบหลักสูตรไปแล้วประสบผลสำเร็จหรือไม่ จะประเมินจากการลงไปสร้างเครือข่ายของนักศึกษา หรือการใช้องค์ความรู้ที่ได้เรียนรู้ไปปฏิบัติจริง ซึ่งจะประเมินจากการปฏิบัติ อย่างน้อยการเป็นผู้แนะนำความรู้เบื้องต้นแก่ชาวบ้านให้สามารถรับมือกับสถานการณ์ต่างๆ ที่เขามีสิทธิจะคัดค้าน เราก็ถือว่าผ่านแล้ว” นายมูฮัมหมัดนาเซร์ กล่าว

นายมูหมัดอัสมิง เปาะแมรีซอ ผู้ประสานงานเครือข่ายอาสาสมัครผู้ช่วยทนายความมุสลิม ประจำจังหวัดปัตตานี (SPAN) หนึ่งในวิทยากรร่วม ในวิชาการเก็บข้อเท็จจริงเบื้องต้น เปิดเผยว่า การจัดห้องเรียนหลักสูตรนี้ เป็นการเพิ่มผู้รู้กฎหมายเบื้องต้น ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาเป็นเครือข่ายผู้ช่วยทนายความในการช่วยเหลือชาวบ้าน หรือคนในชุมชนของนักศึกษาเองด้านกฎหมาย

“อย่างน้อยผู้ที่มาเรียนในหลักสูตรนี้ แม้จะไม่ไปต่อยอดเลย แต่เขาจะมีความรู้พื้นฐานที่จะสามารถแนะนำชาวบ้านได้ว่า จะต้องทำตัวอย่างไรเมื่อมีเหตุการณ์ที่เจ้าหน้าที่มาเชิญตัวว่าชาวบ้านต้องทำอย่างไรบ้าง มีสิทธิอะไรบ้าง และเจ้าหน้าที่ไม่มีสิทธิอะไรบ้าง ซึ่งผมเชื่อว่า สิ่งเหล่านี้จะทำให้การละเมิดสิทธิโดยเจ้าหน้าที่รัฐน้อยลง และจะนำมาซึ่งการพัฒนาความร่วมมือของประชาชนต่อหน่วยงานรัฐมากขึ้น” นายมูหมัดอัสมิง กล่าว

ในฐานะที่เป็นผู้ช่วยทนายความ (SPAN) ที่มีหน้าที่ในการรวบรวมข้อเท็จจริงเบื้องต้นในพื้นที่ตั้งแต่ พ.ศ.2550 และทำงานด้านรณรงค์ให้ประชาชนได้เข้าถึงความรู้ด้านกฎหมาย นายมูหมัดอัสมิง ได้ให้ความเห็นต่อหลักสูตรนี้ว่า เป็นเรื่องจำเป็นที่ต้องขยายเนื้อหาด้านกฎหมายให้ลงไปสู่ชาวบ้านมากกว่านี้ และมีข้อเสนอต่อวิทยาลัยประชาชนว่า เนื้อหาที่วิทยากรสอนในหลักสูตรนี้ จะต้องอธิบายให้เข้าใจง่าย เน้นความรู้จากประสบการณ์จริงในการใช้กฎหมายเหล่านั้น เนื่องจากนักศึกษาไม่มีความรู้พื้นฐานด้านกฎหมายเลย การเรียนรู้ประสบการณ์ตรงบวกกับสถานการณ์ที่เร่งเร้า ทำให้นักศึกษาต้องคิดว่าจะปรับใช้สิ่งที่เรียนมาอย่างไร และจะถ่ายทอดให้ชาวบ้านในชุมชนอย่างไร

“ถ้ามีการถอดกระบวนการเรียนรู้จากนักศึกษาเหล่านี้ ผมเชื่อว่าเราจะได้คู่มือการใช้กฎหมายภาคประชาชนได้ ซึ่งผมอยากเสนอให้ทางวิทยาลัยประชาชน ถอดบทเรียน และนำองค์ความรู้เหล่านี้ไปเผยแพร่ต่อ” นายมูหมัดอัสมิง กล่าว

ภาพ/ข่าว - อารีด้า สาเม๊าะ โรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้


กำลังโหลดความคิดเห็น