คอลัมน์ : ด้ามขวานผ่าซาก
โดย...ไชยยงค์ มณีพิลึก
สถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ก้าวสู่ปีที่ 10 ในปี พ.ศ.2556 นี้ และจากการทำสงคราม “อสมมาตร” ของกลุ่มโจรโดย “อาร์เคเค” ภายใต้ร่มธงของขบวนการแบ่งแยกดินแดน “บีอาร์เอ็นโคออดิเนต” ได้ทำให้มีผู้เสียชีวิตทั้งเจ้าหน้ารัฐ และพลเรือนมากกว่า 5,000 คน และบาดเจ็บมากกว่า 10,000 คน โดยเฉพาะ “ข้าราชการครู” หน่วยงานสำคัญในการให้ความรู้แก่เยาวชนที่จะเป็นกำลังของประเทศชาติในอนาคต ได้กลายเป็นเหยื่อไปแล้วจำนวน 157 ศพ โดยมีผู้บาดเจ็บ พิการอีกจำนวนหนึ่ง
9 ปีที่ผ่านมา และกำลังย่างบาทเข้าสู่ปีที่ 10 มีการเปลี่ยนผ่านอะไรต่อมิอะไรมากมาย เฉพาะที่สำคัญๆ ประกอบด้วย มีการเปลี่ยนผ่าน “รัฐบาล” ไปแล้ว 5 ชุดด้วยกัน มีการเปลี่ยน “ผบ.ทบ.” ไปแล้ว 4 คน มีการเปลี่ยน “แม่ทัพภาคที่ 4” ไปแล้ว 5 คน
มีการยุบ “ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.)” ควบคู่กับมีการยุบ “กองบัญชาการพลเรือนตำรวจทหารที่ 43 (พตท.43) ไปแล้ว ก่อนที่จะมีการตั้งทั้ง “ศอ.บต.” และ “พตท.” ขึ้นมาใหม่ และท้ายที่สุดก็มีการยุบ “พตท.” ทิ้งอีก เพื่อให้ “กองทัพภาคที่ 4” เหลือเพียง “กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า” เพียงหน่วยเดียว ด้วยเหตุผลเพื่อความคล่องตัวในด้านยุทธการ และการบังคับบัญชา
และก็มีการตั้ง “ศอ.บต.” ใหม่ตาม “พ.ร.บ.การบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้” ให้ขึ้นตรงกับ “สำนักนายกรัฐมนตรี” เมื่อปี 2554 ขึ้น เพื่อแยกจาก กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า เพื่อรับผิดชอบงานด้านการพัฒนา และอื่นๆ ส่วน กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า รับผิดชอบในด้านของความมั่นคงเป็นหลัก
ทว่า สิ่งที่สำคัญที่สุดที่กลายเป็นเรื่องที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์มากที่สุดในขณะนี้คือ 9 ปีที่ผ่านมา “กองทัพ” ได้ใช้เงินงบประมาณไปกว่า “1 ล้านล้านบาท” ในการต่อสู้กับ “อาร์เคเค” ซึ่งถูกมองว่าเป็นการต่อสู้ที่ “ล้มเหลว” เพราะไม่สามารถที่จะทำให้สถานการณ์การก่อการร้ายลดน้อยลง รวมทั้งยังมองไม่เห็นหนทางว่ากองทัพจะ “ยุติ” สงครามประชาชนในแผ่นดินปลายด้ามขวานได้อย่างไร
ในขณะเดียวกัน เมื่อมองถึงความเคลื่อนไหว และการปฏิบัติการของ “อาร์เคเค” ภายใต้การสั่งการของ “แกนนำ” ในขบวนการแบ่งแยกดินแดนบีอาร์เอ็นฯ ซึ่งเริ่มต้นการต่อสู้เพื่อแบ่งแยกดินแดนครั้งใหม่เมื่อวันที่ 4 มกราคม 2547 ด้วยเหตุการณ์ “ปล้นปืนค่ายปิเหล็ง” หรือกองพลพัฒนาที่ 4 อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส ตาม “แผนบันได 7 ขั้น” เพื่อแบ่งแยกดินแดน และตั้งรัฐใหม่คือ “ปัตตานีดารุสลาม” นั้น จะพบว่า จนถึงขณะนี้บีอาร์เอ็นฯ ยังไม่สามารถบรรลุเป้าหมายของแผนบันได 7 ขั้นแต่อย่างใด
9 ปีที่ผ่านมา สิ่งที่ “อาร์เคเค” และ “คอมมานโด” ซึ่งเป็นกำลังรบแบบกองโจรของบีอาร์เอ็นฯ ทำได้เพียงการปล้นปืน หรือชิงปืนจากเจ้าหน้าที่ เพื่อใช้เป็นอาวุธในการต่อสู้กับเจ้าหน้าที่รัฐ วางระเบิดบนถนน ก่อวินาศกรรมในเขตเมืองด้วยคาร์บอมบ์เพื่อทำลายพื้นที่เศรษฐกิจ และการลงทุน วางเพลิงโชว์รูมสินค้า โรงงานอุตสาหกรรมและย่านการค้า เพื่อขับไล่คนไทยเชื้อสายจีน และคนไทยพุทธออกจากพื้นที่ ฆ่าและทำร้ายพระสงฆ์ ซุ่มโจมตี ปิดถนนฆ่าเจ้าหน้าที่รัฐ ปฏิบัติการฆ่ารายวันต่อผู้ที่ให้ความร่วมมือกับรัฐ เช่น สายข่าว ผู้นำท้องถิ่น และครูไทยพุทธ ข่มขู่ปิดสวนยางของคนไทยพุทธ
สุดท้ายคือ การเผาโรงเรียน ฆ่าครู เพื่อทำลายระบอบการศึกษาในพื้นที่ เพราะ “โรงเรียน” คือสัญลักษณ์ของความเป็นรัฐไทย และ “ครู” คือผู้มีหน้าที่ในการสร้างคน สร้างชาติ ดังนั้น ครูจึงเป็นเป้าหมายของอาร์เคเค เพราะการทำร้ายครู หรือการฆ่าครูจะเกิดผลสะเทือนติดตามมามากกว่าการทำลายเป้าหมายอื่นๆ ในพื้นที่ ซึ่งจะเห็นได้ว่า การก่อการร้ายของอาร์เคเคในรอบ 9 ปี ไม่มีพัฒนาการอื่นใด รูปแบบที่ใช้เป็นแบบเดิมๆ โดยเฉพาะการเผาโรงเรียน และการทำร้ายครูนั้น เกิดขึ้นมากว่า 30 ปีแล้ว
พัฒนาการของขบวนการแบ่งแยกดินแดนที่พอจะเห็นได้อย่างชัดเจนคือ การปล้น จี้ ชิงรถยนต์ และจักรยานยนต์ เพื่อนำไปประกอบเป็นคาร์บอมบ์ และ จยย.บอมบ์ กับการประกอบระเบิดด้วยวิธีการที่ใหม่ๆ ขึ้น และมีการเพิ่มอันตายให้มากขึ้นด้วยการใช้น้ำมันเบนซินเป็นส่วนประกอบ เพื่อการเผาผลาญบ้านเรือนในพื้นที่ก่อเหตุ และการข่มขู่ให้ประชาชนในพื้นที่หยุดการทำงาน และกิจกรรมต่างๆ ในวันนั้น วันนี้ เพื่อเป็นวิธีการทดลองอำนาจของขบวนการในการควบคุมประชาชน
โดย 9 ปีที่ผ่านมา บีอาร์เอ็นฯ ใช้วิธีปฏิบัติการที่เห็นได้ชัดเจน วิธีแรกคือ การสถาปนา “ความหวาดกลัว” ให้เกิดขึ้นในหมู่ประชาชนด้วยการฆ่า ทำร้าย ประชาชนในพื้นที่ ซึ่งเป็นประชาชนที่ให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่รัฐอย่างโหดเหี้ยม ไม่ว่าจะเป็นไทยมุสลิมหรือไทยพุทธ เพื่อผลในการควบคุมมวลชน ซึ่งก็ได้ผลดี เพราะทำให้ประชาชนส่วนใหญ่หวาดกลัว ยอมตกอยู่ภายใต้การชี้นำของขบวนการ กลายเป็น “แนวร่วม” ที่จำยอม ทั้งที่ไม่มีความคิดในการแบ่งแยกดินแดนแต่อย่างใด
วิธีที่สองที่บีอาร์เอ็นฯ นำมาใช้คือ การสร้าง “ความหวาดระแวง” ให้เกิดขึ้นในหมู่ประชาชนที่นับถือศาสนาต่างกัน ซึ่งกลายเป็นอาวุธที่สำคัญของบีอาร์เอ็นฯ เพราะปัจจุบัน ความหวาดระแวงของคนในพื้นที่ระหว่างคนที่ต่างศาสนิกเพิ่มสูงขึ้นๆ ทุกขณะ
กลับมาดูในส่วนของกองทัพ ซึ่งมี กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า เป็นผู้รับบทหนัก เป็น “เจ้าภาพ” ในการ “บูรณาการ” หน่วยงานต่างๆ ในพื้นที่ เพื่อการ “ดับไฟใต้” ด้วยวิธีการนำกำลังทหารจากกองทัพภาค 1, 2 และ 3 จำนวน 65,000 นายเข้ามาแบ่งปันกันรับผิดชอบในพื้นที่ จ.ปัตตานี จ.ยะลา และ จ.นราธิวาส โดยมีกำลังกองทัพภาคที่ 4 รับผิดชอบพื้นที่ จ.สงขลา ต้องนับว่าสวนกระแสกับความต้องการของคนในพื้นที่ ซึ่งต้องการให้ใช้กำลังจากกองทัพภาคที่ 4 ที่เป็นทหารจากภาคใต้เป็นผู้รับผิดชอบ
มีการเพิ่มกำลัง “ทหารพราน” อีก 4 กองพัน มีการตั้ง “กองพลที่ 15 ค่ายพญาอินธิรา” ขึ้นที่ จ.ปัตตานี เพื่อรับผิดชอบแทนกำลังจากที่มาจากกองทัพภาคอื่นๆ ในอีก 2 ปีข้างหน้า มีการจัดซื้อ “เรือเหาะ” เพื่อใช้การปฏิบัติการทางยุทธวิธี แต่ในที่สุดพบว่าใช้การไม่ได้ มีการจัดซื้อเครื่องตรวจระเบิดแบบ “ทีจี 200” ซึ่งในที่สุดพบว่า ถูกบริษัทผู้จัดจำหน่ายย้อมแมวขายให้ เอาไปใช้ตรวจวัตถุระเบิด และอาวุธไม่ได้ผล เป็นต้น
ในขณะที่หน่วยราชการอื่นๆ อย่างฝ่ายปกครองมีการเพิ่มจำนวน “อส.” จำนวน “ชรบ.” จำนวนมากมาย ส่วนตำรวจมีการเพิ่มระดับกองบังคับการอีก “3 กองบังคับการ” ใน “ศชต.” แลมีการเพิ่มกำลังตำรวจอีก “5,000 อัตรา” เพื่อให้มีกำลังเพียงพอในการรับผิดชอบพื้นที่
แต่ทั้งหมดทั้งปวงนั้น คำตอบสุดท้ายที่ประชาชนได้รับคือ ไฟใต้ก็ยังโชนแสงต่อไป จำนวนคนตาย และคนเจ็บไม่ได้ลดลง อีกทั้งสถานการณ์การก่อการร้ายยังเกิดขึ้นเป็นปกติ และความสูญเสียยิ่งมากขึ้นกว่าเดิม
พัฒนาการของกองทัพที่เห็นได้ชัดเจนคือ การใช้นโยบาย “นำคนกลับบ้าน” ของ พล.ท.อุดมชัย ธรรมสาโรรัชต์ แม่ทัพภาคที่ 4 และ ผอ.กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ที่สามารถนำเอา “แกนนำ” และ “แนวร่วม” จำนวนเกือบ 100 คนที่หลบหนีอยู่ในชายแดนใต้ และข้ามไปซุกตัวในประเทศเพื่อนบ้าน ให้ออกมารายงานตัวเพื่อเข้าสู่กระบวนการการใช้ “พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ” ซึ่งเป็นไปตามยุทธศาสตร์ของ “สภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.)” ที่ให้มีการเปิดพื้นที่พูดคุยกับผู้เห็นต่างจากรัฐ
ส่วนยุทธศาสตร์ และยุทธวิธีอื่นๆ ทั้งด้านการเมือง และการทหารนั้น ยังพบว่าเป็นการตั้ง “รับ” มากกว่าการเปิดเกม “รุก” และที่ถูกมองว่า “ล้มเหลว” ที่สุดก็คือ “การป้องกัน” ที่ไม่ได้ผล
ดังนี้แล้วจึงวิเคราะห์ได้ว่า สถานการณ์ในปี 2556 ซึ่งย่างเข้าปีที่ 10 ของสงครามประชาชนที่ชายแดนใต้ อาร์เคเคยังคงใช้ยุทธศาสตร์ และยุทธการแบบเดิมๆ ที่ใช้มาตลอด 9 ปี แต่จะเพิ่มความรุนแรงยิ่งขึ้น เพื่อการขับไล่ “ชาวไทยพุทธ” และ “ชาวไทยเชื้อสายจีน” ออกจากพื้นที่ให้มากที่สุด ส่วน “ครู” และ “สถานศึกษา” ยังตกเป็นเหยื่ออีกต่อไป
เนื่องเพราะเป้าประสงค์ของบีอาร์เอ็นฯ คือ การทำลายการศึกษาของรัฐไทย ทำลายความน่าเชื่อถือของกองทัพ และหน่วยงานราชการของรัฐไทย โดยการใช้ “คาร์บอมบ์” จะมากยิ่งขึ้น เพราะเป็นวิธีการในการสร้างความสูญเสียให้ฝ่ายรัฐมากกว่าวิธีการอื่นๆ โดยเป้าหมายคือ “ชุมชนเมือง” โดยเฉพาะหัวเมืองเศรษฐกิจในพื้นที่ 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ตอนล่าง
ในส่วนของรัฐบาลนั้น เมื่อต้นเดือนธันวาคม 2555 น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้มีการลงนามตั้งหน่วยงานใหม่เพื่อให้รับผิดชอบดับไฟใต้โดยตรงภายใต้ชื่อ “คณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายและยุทธศาสตร์การแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้” หรือที่มีชื่อย่อว่า “ศปก.กปต.” โดยวาดหวังให้มีการแบ่งหน้าที่รับผิดชอบที่ชัดเจนเพื่อความเป็นเอกภาพของหน่วยงานในพื้นที่
โดยมี นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รองนายกฯ และ รมว.กระทรวงศึกษา และ พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รมว.กระทรวงยุติธรรม เป็นผู้รับผิดชอบงานยุติธรรม ส่วน ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกฯ และนายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ รมว.มหาดไทย รับผิดชอบงานด้านพัฒนา หรือกำกับดูแล ศอ.บต. ด้าน พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต รมว.กลาโหม พล.อ.ประยุทธ จันทร์โอชา ผบ.ทบ. และ พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รอง ผบ.ทบ รับผิดชอบงานความมั่นคง คือ กำกับดูแลกองทัพภาคที่ 4 กับ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า โดยมี พล.ท.ภาราดร พัฒนถาบุตร เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ ทำหน้าที่เป็น เลขานุการ ศปก.กปต.
อีกทั้งล่าสุด น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้มอบอำนาจให้ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกฯ ทำหน้าที่เป็น “ผอ.ศปก.กปต.”
โดย ศปก.กปต.หน่วยงานตั้งขึ้นใหม่นี้จะเป็นหน่วยงานส่วนหลัง เพื่อสนับสนุนงานในส่วนหน้าที่อยู่ในพื้นที่ ประกอบด้วย กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า, ศอ.บต., ศชต. และหน่วยงาน 17 กระทรวงหลัก 66 หน่วยงานในพื้นที่ ซึ่งรัฐบาลเชื่อว่า ศปก.กปต.ต่อไปจะคือเครื่องมือที่มากอานุภาพในการดับไฟใต้
ส่วน ศปก.กปต.จะมีฤทธิ์เดชศักดาจริงแค่ไหนนั้น สถานการณ์ไฟใต้ในปีที่ 10 คือปี พ.ศ.2556 นี้คือ “โจทย์” ที่รอการแก้จากรัฐบาลและกองทัพ รวมทั้งความสามารถของ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี ฐานะที่ได้รับการแต่งตั้งให้เป็น ผอ.ศปก.กปต.ว่าจะมี “กึ๋น” มากน้อยแค่ไหน และมีความรู้ความเข้าใจกับปัญหาของจังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างไร
แต่สำหรับประชาชนบนแผ่นดินปลายด้ามขวานนั้น วันนี้ทุกคนต่าง “ชาชิน” กับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และไม่ได้ฝากความหวังกับรัฐบาล หรือกับกองทัพในการดับไฟใต้มากแล้ว เพียงแต่ขอให้ “ศปก.กปต.” เป็น “ยาขนานสุดท้าย” เพื่อให้ใช้ได้จริง อย่าได้ใช้ชีวิตของประชาชนเป็นเครื่อง “ทดลองยา” ของรัฐบาลอย่างที่ผ่านๆ มาอีกเลย.