คอลัมน์ : จุดคบไฟใต้
โดย...ไชยยงค์ มณีพิลึก
จยย.ซาเล้งบอมบ์ ซึ่งถือเป็น “นวัตกรรม” ใหม่เพื่อการทำลายล้างในสงครามประชาชนที่เกิดขึ้นบนถนนสิโรรส ตลาดสดยะลา และการก่อวินาศกรรมเส้นทาง และขบวนรถไฟใน อ.รือเสาะ จ.นราธิวาส เมื่อวันที่ 17 และ 18 พ.ย. ที่ผ่านมา คือเหตุการณ์ปกติของจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพราะคนในพื้นที่จะรู้กันดีว่า ถ้าเหตุการณ์ลดความรุนแรงลด 3-4 วันติดต่อกันเมื่อไหร่ จะมีเหตุการณ์ใหญ่ที่เรียกว่า “รวมดารา” เกิดขึ้นอย่างแน่นอน
เช่นเดียวกับก่อนที่จะเกิดเหตุรุนแรงที่ตลาดสดยะลา ถนนสิโรรส และการระเบิดรถไฟที่ อ.รือเสาะ สถานการณ์ใน 3 จังหวัด และ 4 อำเภอ ของ จ.สงขลา ลดความโหดร้ายลงจากการตายวันละ 3-5 ราย เหลือเพียง 1-2 ราย ซึ่งถ้าติดตามสถานการณ์ในพื้นที่อย่าง “เกาะติด” จะพบว่า สถานการณ์จะเป็นอย่างนี้มาโดยตลอด
จยย.ซาเล้งบอมบ์ที่ตลาดสดยะลา มีคนตาย 1 ราย บาดเจ็บทั้งสาหัส และเล็กน้อย 28 ราย บ้านเรือนได้รับความเสียหายจากไฟไหม้อีก 5 หลัง โดยเป้าหมายของคนร้ายอยู่ที่รถยนต์ของทหาร ฉก.อโณทัย ที่มีหน้าที่ตรวจหาระเบิดในพื้นที่ในเขตเทศบาลนครยะลา และเหตุการณ์คาร์บอมบ์ และ จยย.บอมบ์ครั้งนี้เป็นครั้งที่นับไม่ถ้วน ทั้งที่ทุกครั้งที่เกิด ทั้งทหาร ตำรวจ และปกครองจะพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ได้มีการเพิ่มความเข้มในมาตรการป้องกัน แต่สุดท้ายการป้องกัน “คาร์บอมบ์” ในพื้นที่เขตเทศบาลนครยะลาก็ล้มเหลวครั้งแล้วครั้งเล่า
โดยครั้งนี้ ผู้ที่ลงมือก่อเหตุร้ายถูกเจ้าหน้าที่ระบุว่าเป็นกลุ่มของนายฮาซัน มูซอดี แกนนำระดับสั่งการในพื้นที่ จ.ยะลา ที่สั่งการให้แนวร่วมในพื้นที่ อ.ยะรัง เป็นผู้ลงมือปฏิบัติการ ซึ่งจากการตรวจสอบจากกล้องวงจรปิด เจ้าหน้าที่พบเส้นทางของรถ จยย.ซาเล้งบอมบ์ และเส้นทางของคนร้ายที่สามารถหลบจากจุดตรวจของเจ้าหน้าที่เข้ามาปฏิบัติการได้ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าการป้องกันของเจ้าหน้าที่ยังมีจุด “บอด” และมีการ “บกพร่อง” เกิดขึ้น
เช่นเดียวกับการปฏิบัติการระเบิดขบวนรถไฟท้องถิ่นยะลา-สุไหงโก-ลก ขบวนการ 453 ที่ อ.รือเสาะ เป้าหมายหลักคือ เจ้าหน้าที่อาสาสมัครในขบวนดังกล่าว ทำให้มีผู้เสียชีวิต 3 ราย และบาดเจ็บรวม 35 คน ทำให้ขบวนรถไฟทุกขบวนต้องหยุดเดินรถอย่างน้อย 3 วัน โดยมีการระบุว่า เป็นฝีมือของนายรอแปอิง อุเซ็ง แกนนำระดับปฏิบัติการที่มีหมายจับติดตัวหลายคดี
นั่นคือสถานการณ์ความรุนแรงของจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งมีสถิติที่ยืนยันได้ว่า ในปี 2555 เหตุการณ์การก่อการร้ายมีความรุนแรงมากขึ้น แม้ว่าการก่อเหตุจะน้อยครั้งลง แต่วิธีการที่นำมาใช้ มีความรุนแรงที่สร้างความสูญเสียให้เกิดขึ้นในวงกว้าง และทำลายขวัญ กำลังใจ ทั้งของเจ้าหน้าที่รัฐ และประชาชน สร้างความหวาดกลัวให้เกิดขึ้นในทุกชนชั้น และที่สำคัญ คือ การปฏิบัติการของแนวร่วมขบวนการแบ่งแยกดินแดนได้ทำให้ประชาชนขาดความเชื่อมั่นในอำนาจรัฐ
แม้ว่าวันนี้ กองทัพ โดย กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า โดย พล.ท.อุดมชัย ธรรมสาโรรัชต์ แม่ทัพภาคที่ 4 และ ผอ.กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า จะพยายามสถาปนาความเชื่อมั่นของอำนาจรัฐ โดยการใช้นโยบาย “พาคนกลับบ้าน” ซึ่งสามารถนำ “แนวร่วม” และ “แกนนำ” จำนวนเกือบ 100 คน เข้ามามอบตัว และมีการใช้กฎหมาย ม.21 เพื่อให้ผู้ทำความผิดหลุดจากกฎหมาย ป.วิอาญา เพื่อเป็นการ “จูงใจ” ให้แนวร่วมที่กลับใจสามารถออกมามอบตัวเพื่อกลับมาเป็นพลเมืองดีได้
แต่เมื่อสถานการณ์ “ตายรายวัน” ยังดำรงอยู่อย่างต่อเนื่อง ขบวนการแบ่งแยกดินแดนยังสั่งการให้ “แนวร่วม” ก่อเหตุร้ายด้วยความรุนแรง เพื่อสถาปนาความหวาดกลัวให้เกิดขึ้นแก่ประชาชน และให้ความหวาดกลัวที่เกิดขึ้น เพื่อควบคุมมวลชนให้อยู่ในอำนาจของขบวนการ การเปิดพื้นที่เพื่อ “พาคนกลับบ้าน” ในความรู้สึกของประชาชนจึงไม่เกิดผลในทาง “บวก” แต่อย่างใด เพราะคำถามหนึ่งที่ถูกถามจากประชาชนอย่าง “เซ็งแซ่” คือ ถ้าพาโจรกลับบ้าน แต่เหตุความรุนแรงไม่ได้สงบลงก็ถือว่าการแก้ปัญหา “ไฟใต้” ยังไม่สำเร็จ
โดยข้อเท็จจริงต้องยอมรับความจริงว่า บุคคลที่ออกมามอบตัว หรือรายงานตัวต่อกองทัพนั้น ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มคนที่หยุดบทบาทในขบวนการแบ่งแยกดินแดนไปแล้ว เป็นกำลังพลเสื่อมที่ขบวนการไม่ได้ให้ความสนใจ และไร้ประโยชน์กับการก่อการร้าย แม้กระทั่ง สะแปอิง บาซอ ซึ่งถูกตั้งข้อหาว่าเป็นหัวหน้าใหญ่ของบีอาร์เอ็นฯ วันนี้ก็ได้ยุติบทบาทการนำของขบวนการไปแล้ว ดังนั้น แม้ว่าในอีกไม่ช้า สะแปอิง บาซอ จะออกมารายงานตัวต่อกองทัพก็ไม่ได้หมายความว่า สถานการณ์ความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้จะสงบลง
เพราะวันนี้ กลุ่มคนที่เป็นผู้ก่อความไม่สงบเป็นคนอีกรุ่นหนึ่ง ที่ถูกสร้างขึ้นมาทดแทนคนรุ่นเก่าที่ยุติบทบาทไปแล้วจากสาเหตุต่างๆ กัน เช่นรู้สึกว่าถูกหลอกลวง รู้ตัวว่าวิธีการที่ใช้ไม่สอดคล้องกับข้อเท็จจริง รับไม่ได้กับวิธีการที่ขบวนการใช้ หรือถึงจุดอิ่มตัวกับการเป็น “แนวร่วม” ฯลฯ
ถ้ามองย้อนหลังให้ดีจะเห็นถึงความล้มเหลวหลายประการในการดับไฟใต้ในรอบ 9 ปีที่ผ่านมา เช่น ในการมอบตัว หรือรายงานตัวของ “แนวร่วม” และ “แกนนำ” ที่เกิดขึ้นในรอบ 9 ปี ผู้ที่ออกมามอบตัว หรือรายงานตัวมาเพียงตัวเปล่าๆ ไม่มีอาวุธปืน ไม่มีระเบิด ไม่มีการนำเจ้าหน้าที่ไปนำยุทโธปกรณ์ที่ใช้ในการก่อการร้ายออกมา แสดงให้เห็นว่า ผู้คนเหล่านั้นไม่ใช่ “แนวร่วม” ระดับปฏิบัติการที่แท้จริง และที่น่าสังเกตแนวร่วมปฏิบัติการที่แท้จริงล้วนแต่ต่อสู้กับเจ้าหน้าที่ และถูกฆ่าตายในการต่อสู้ทุกครั้ง
และในการปฏิบัติการเชิงรุกของเจ้าหน้าที่จะพบว่า เป็นการ “รุก” แบบไร้เป้าหมายหลัก เพราะเจ้าหน้าที่รัฐไม่เคยรุกเข้าสู่เป้าหมายที่มีการประกอบคาร์บอมบ์ ประกอบ จยย.บอมบ์ สถานที่ซุกซ่อนรถยนต์ที่ถูกโจรกรรมมาเพื่อประกอบคาร์บอมบ์ รวมทั้ง 9 ปีที่ผ่านมา งาน “การข่าว” ของเจ้าหน้าที่ทุกหน่วย ตั้งแต่สำนักข่าวกรองแห่งชาติ ลงมาจนถึงข่าวของตำรวจในท้องที่ไม่เคยได้ข่าวที่ชัดเจนว่า จะมีการวางระเบิดตรงจุดไหน วันที่เท่าไหร่ จนสามารถป้องกันเหตุร้ายที่จะเกิดอย่างได้ผล
สถานการณ์ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่รัฐมีชุดปฏิบัติการมีวิธีการในการ “ถอนแกน” ของขบวนการแบ่งแยกดินแดนในพื้นที่เป้าหมาย คือ หมู่บ้าน “สีแดง” ซึ่งมีการปฏิบัติการ “ถอนแกน” ที่ได้ผล แต่ขบวนการโดย “แกนนำ” กลับมีวิธีการ “สร้างแกน” ขึ้นใหม่ที่ได้ผลกว่า ดังนั้น ที่สถานการณ์การก่อการร้ายยังดำรงอยู่อย่างเข้มข้น และยังเกิดความสูญเสียอย่างหนัก เป็นเพราะเจ้าหน้าที่รัฐยังไม่สามารถหยุดการ “สร้างแกน” และการปลุกระดมนำคนรุ่นใหม่เข้าไปสู่ขบวนการแบ่งแยกดินแดนนั่นเอง
และถ้าหน่วยงานของรัฐ โดยเฉพาะ “กองทัพ” ที่เป็นผู้รับผิดชอบงานด้านความมั่นคงยังไม่สามารถ “ยุติ” การสร้าง “แกนนำ” และการสร้าง “เซลล์” รุ่นต่อรุ่นเพื่อเข้าสู่ขบวนการก่อการร้ายอย่างได้ผล ต่อให้สามารถนำอดีต “แกนนำ” และ “แนวร่วม” กลับบ้านได้หมดก็ไม่สามารถทำให้แผนดิน “ด้ามขวาน” หยุดการนองเลือด หยุดการสูญเสียที่เกิดขึ้นแต่อย่างใด ดังนั้น สิ่งที่ทุกฝ่ายต้องทำอย่างเร่งด่วนคือ ต้องหยุดการนำคนในพื้นที่เข้าสู่ขบวนการ และต้องเปิดเกมรุกสู่ “เป้าหมาย” ของขบวนการเพื่อลดความสูญเสีย วิธีการนี้เท่านั้นที่จะสถาปนาอำนาจรัฐ และความเชื่อมั่นของประชาชนให้กลับคืนมา