xs
xsm
sm
md
lg

“ปู” พิลึก! ส่งเลขาฯ นั่งหัวโต๊ะถก สมช.- เสธ.ทบ.ลั่นให้ครูไทยพุทธพ้นใต้เป็นไปไม่ได้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายสุรนันทน์ เวชชาชีวะ เลขาธิการนายกรัฐมนตรี (แฟ้มภาพ)
“ยิ่งลักษณ์” มาแปลก! ส่งเลขาฯ นายกฯ นั่ง ปธ.ถกสภาความมั่นคงฯ คุยแผนดับไฟใต้ เน้น 5 งานหลัก โยน “สุกำพล” ดูปัญหารายวัน ด้าน เสธ.ทบ.เผยหารือตกลงงานความรับผิดชอบในแต่ละหน่วยตาม กปต.จชต. พร้อมประสานการเดินทางครูให้ดูแลกันทั่วถึง ยันให้ไทยพุทธออกพื้นที่เป็นไปไม่ได้

วันนี้ (6 ธ.ค.) ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อเวลา 13.00 น. น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้มอบหมายให้นายสุรนันทน์ เวชชาชีวะ เลขาธิการนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) แทน เนื่องจากติดภารกิจประชุมคณะกรรมการนโยบายตำรวจแห่งชาติ (ก.ต.ช.) โดยมี พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รองผู้บัญชาการทหารบก พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร เสนาธิการทหารบกในฐานะเลขาธิการกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) นายปิยะ กิจถาวร รองเลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) และพล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ ตัวแทนจากสำนักงบประมาณ และสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เข้าร่วมประชุม โดยใช้เวลาการประชุมประมาณ 2 ชั่วโมง

ทั้งนี้ แผนดังกล่าวประกอบด้วย 5 กลุ่มงานหลัก คือ 1. ด้านการรักษาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน 2. ด้านการพัฒนา 3. ด้านการอำนวยการยุติธรรม 4. ด้านการสร้างสภาพแวดล้อม และ 5. ด้านการสร้างความเข้าใจ ส่วนการแก้ไขเหตุการณ์ความไม่สงบที่เกิดขึ้นเฉพาะหน้าเป็นรายวันนั้น เป็นกลุ่มงานด้านการรักษาความปลอดภัย ชีวิต ทรัพย์สิน ที่มี พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต รมว.กลาโหมเป็นประธาน

พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร เสนาธิการทหารบก ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) กล่าวภายหลังการประชุมว่า สำหรับการหารือในครั้งนี้เป็นการตกลงกันเพื่อเดินงานในการแก้ไขปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยขั้นต้นจะทำความเข้าใจถึงความรับผิดชอบของแต่ละหน่วยงานในโครงสร้างของคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายและยุทธศาสตร์การแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (กปต.) จากนั้นอีกระยะหนึ่ง กอ.รมน., สมช. และศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) จะต้องมาหารือกันอีกครั้งในการลงรายละเอียดของแต่ละโครงการว่าจะต้องใช้งบประมาณเท่าใด

พล.อ.อุดมเดชกล่าวว่า สำหรับเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในพื้นที่ขณะนี้นั้น ทาง กอ.รมน.ได้มีการเน้นย้ำกับ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ให้บูรณาการร่วมกับส่วนงานต่างๆ ซึ่งนายกฯ ในฐานะผอ.รมน. และพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ในฐานะรอง ผอ.รมน.ก็ได้พยายามจะแก้ปัญหาอย่างเต็มที่ รวมทั้งเรื่องการปรับแผนต่างๆ ก็เน้นย้ำกันไปแล้ว ส่วนกรณีที่มีการจะขอปิดโรงเรียนในจังหวัดชายแดนภาคใต้เพิ่มนั้นก็พยายามจะปรับแผนในส่วนที่เกิดขึ้นที่ยังมีช่องว่างอยู่ โดย กอ.รมน.จะพยายามดูแลให้ดีที่สุด

เลขานุการ กอ.รมน. กล่าวว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทางราชการที่เกี่ยวข้องก็กังวลทั้งหมด เพราะแต่ละครั้งที่เกิดความไม่เรียบร้อยเราก็เสียใจ แต่คงจะต้องพยายามแก้ไขต่อไปให้ดีขึ้นเรื่อยๆ แต่สำคัญว่าปัญหาทุกอย่างจะต้องเป็นการแก้ปัญหาร่วมกัน ซึ่งส่วนราชการต่างๆ ก็เข้าใจกันดีแล้ว โดยเฉพาะกระทรวงศึกษาธิการเองก็จะมีการร่วมกับทางทหารในการที่จะทำความเข้าใจกับครูในพื้นที่ว่าควรจะปฏิบัติตัวอย่างไรที่จะทำให้เกิดความปลอดภัย แต่อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าแผนของเจ้าหน้าที่จะออกมาดีอย่างไร การที่จะให้แผนประสบความสำเร็จผลนั้นจะต้องขึ้นอยู่กับความร่วมมือของผู้ออกแผนและผู้ปฏิบัติถึงจะได้ผล ซึ่งหวังเป็นอย่างยิ่งว่าเมื่อมีความเข้าใจและมีการปรับแผนกันแล้วจะส่งผลที่ดีขึ้นต่อไป

ผู้สื่อข่าวถามว่า แผนเบื้องต้นเฉพาะหน้าจะสร้างความมั่นใจให้กับครูได้อย่างไร เพราะขณะนี้ยังไม่มีการเปิดการเรียนการสอน พล.อ.อุดมเดชกล่าวว่า ต้องทำความเข้าใจกันต่อไป เพราะเรื่องทั้งหมดนี้มีการวางรายละเอียดไว้แล้ว และในพื้นที่ก็มีการคุยกันแล้วว่าช่วงเวลาใดที่เราจะต้องดูแลกัน และพยายามที่จะต้องดูแลให้มีความปลอดภัยกันตลอดเวลา เพราะบางช่วงเป็นช่วงนอกเวลา การจะเดินทางไปไหนก็ต้องประสานกัน เพื่อที่จะดูแลกันได้โดยทั่วถึง

ส่วนกรณีที่มีการเสนอให้ย้ายครูที่เป็นไทยพุทธออกจากพื้นที่นั้น พล.อ.อุดมเดชกล่าวว่า กอ.รมน.ก็มีความเป็นห่วง แต่ก็พยายามให้ครูไม่ว่าจะเป็นไทยพุทธ หรือไทยมุสลิม ทำงานร่วมกันในพื้นที่ได้ ส่วนเรื่องการนำครูไทยพุทธออกจากพื้นที่ก็คงเป็นไปไม่ได้ เพราะผืนแผ่นดินก็เป็นแผ่นดินไทยอยู่แล้ว ศาสนาใดก็ต้องอยู่ร่วมกัน

ด้าน พล.ท.ภราดรเปิดเผยภายหลังการประชุมว่า เป็นการประชุมเพื่อบูรณาการแผนด้านความมั่นคงกับงานพัฒนา เพื่อให้เกิดความชัดเจน นายกฯต้องการให้มีความสอดคล้องและเป็นรูปธรรม สามารถตอบโจทย์กับประชาชนในพื้นที่ได้ว่าจะขับเคลื่อนลักษณะอย่างไร มีไทม์ไลน์อย่างชัดเจน ซึ่งได้ข้อยุติใกล้สมบูรณ์แล้ว จากนั้นจะนำเข้าสู่การประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายและยุทธศาสตร์การแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (กปต.) ในวันที่ 12 ธ.ค.โดยนายกรัฐมนตรีจะเป็นประธาน จะมีการตกผลึกแผนงาน และอนุมัติศูนย์ปฏิบัติการคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายและยุทธศาสตร์การแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศปก.กปต.) อย่างชัดเจน หลังจากอนุมัติในหลักการไว้แล้ว เพื่อนำไปขยายผลการทำงาน และประชุมอีกครั้งในวันที่ 19 ธ.ค.เพื่อนำข้อสรุปเสนอคณะรัฐมนตรีในวันที่ 25 ธ.ค.เพื่อเป็นแผนปฏิบัติการตั้งแต่ต้นปีใหม่ถึงเดือน ก.ย. 2556

พล.ท.ภราดรกล่าวว่า แผนดังกล่าวประกอบด้วย 5 กลุ่มงานหลัก คือ 1. ด้านการรักษาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน 2. ด้านการพัฒนา 3. ด้านการอำนวยการยุติธรรม 4. ด้านการสร้างสภาพแวดล้อม และ 5. ด้านการสร้างความเข้าใจ ส่วนการแก้ไขเหตุการณ์ความไม่สงบที่เกิดขึ้นเฉพาะหน้าเป็นรายวันนั้น เป็นกลุ่มงานด้านการรักษาความปลอดภัย ชีวิต ทรัพย์สิน ที่มี พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต รมว.กลาโหม เป็นประธาน

พล.ท.ภราดรกล่าวว่า สำหรับมาตรการรักษาความปลอดภัย มีความเข้มข้นปกติอยู่แล้ว แต่มีปัญหาการสื่อสารระหว่างครูกับหน่วยงานด้านความมั่นคง จึงได้ย้ำเตือนกับครูว่า หากจะเดินทางไหนต้องมีการสื่อสารกับเจ้าหน้าที่ความมั่นคงให้ชัดเจน เพื่อดูแลความปลอดภัยให้ ทั้งนี้ ที่มีการทำร้ายครูก็เป็นนัยพื้นฐานเพราะเป็นการต่อสู้ทางความคิด จึงตกเป็นเป้าหมาย แต่เป้าหมายหลัก คือ ทหาร ตำรวจ อย่างไรก็ตาม มาตรการดูแลความปลอดภัยสำหรับครูเพียงพอแล้ว แต่การสื่อสารต้องเข้มข้นมากขึ้น ส่วนการลงพื้นที่ของนายกรัฐมนตรีนั้นนายกฯ ได้ยืนยันที่จะลงพื้นที่ก่อนปีใหม่แน่นอน โดยกำหนดการเดิมจะลงพื้นที่ในสัปดาห์หน้าแต่แผนงานยังไม่ชัดเจน จึงจะรอประชุมวันที่ 12 ธ.ค.นี้ ก็จะมีความชัดเจนว่านายกฯ จะลงพื้นที่เมื่อไหร่

เมื่อถามถึงการถูกจัดอันดับ 8 ในการก่อการร้าย ซึ่งปัญหาภาคใต้ก็เป็นส่วนสำคัญนั้น พล.ท.ภราดรกล่าวว่า เป็นสถิติก็ยอมรับว่ามีผลต่อภาพลักษณ์ประเทศในระดับหนึ่ง แต่ความรุนแรงไม่ถึงดีกรีแบบประเทศอื่นที่เกิดปัญหาก่อการร้าย กระทรวงการต่างประเทศที่รับผิดชอบเรื่องนี้คงมีการทำความเข้าใจกับองค์กรที่มีการแถลงข่าวแล้ว


กำลังโหลดความคิดเห็น