xs
xsm
sm
md
lg

“ประยุทธ์” ลงใต้เคลียร์ทาง “ปู” เปิดถนนยะลา 22 พ.ย. ยันสถานการณ์ดีขึ้นแต่ให้จบยาก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา (แฟ้มภาพ)
“ประยุทธ์” ลงพื้นที่ยะลา เคลียร์ทาง “นายกฯ ยิ่งลักษณ์” เปิดถนน 22 พ.ย. ระบุการแก้ปัญหาภาคใต้แนวโน้มดีขึ้น ประชาชนให้ความร่วมมือ พร้อมยอมรับการต่อสู้ทางความคิดจะแก้ไขให้หมดไปเป็นเรื่องยาก ต้องอาศัยเวลา

ที่กองการบิน กรมการขนส่งทหารบก (ขส.ทบ.) วันนี้ (14 พ.ย.) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ในฐานะรองผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (รอง ผอ.รมน.) พร้อมคณะเดินทางลงพื้นที่ จ.ยะลา เพื่อรับฟังบรรยายสรุปสถานการณ์การรักษาความปลอดภัยเขตเมืองเศรษฐกิจหลักของเมืองยะลาจากหน่วยเฉพาะกิจยะลา รวมทั้งแผนป้องกันอำเภอที่เกิดเหตุรุนแรงมาก โดยเฉพาะในพื้นที่ อ.รามัน จากหน่วยเฉพาะกิจยะลา 12 รวมถึงการปฏิบัติงานของด่านตรวจ ความคืบหน้าของการดำเนินคดีความมั่นคงที่สำคัญจากกองกำลังตำรวจชายแดน พร้อมทั้งรับฟังคำชี้แจงจากศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ในการปฏิบัติตามนโยบายและการเตรียมการต้อนรับ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ที่จะเดินทางมาเป็นประธานเปิดเส้นทางหมายเลข 410 ตอนสะพานข้ามอ่างเก็บน้ำบางลาง ต.แม่หวาด อ.ธารโต จ.ยะลา ในวันที่ 22 พ.ย.นี้

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีและรัฐบาลมีความเป็นห่วงปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้มาโดยตลอด โดยได้กำชับให้ติดตามความก้าวหน้าและดูแลปัญหาเพื่อนำมารายงานต่อคณะทำงาน ขณะนี้การแก้ไขปัญหาได้ดำเนินการตามลำดับมีการพัฒนาไปในสถานการณ์ที่ดีขึ้น เนื่องจากประชาชนให้ความร่วมมือและรวมพลังในการช่วยเหลือเจ้าหน้าที่ที่ทำงานอยู่ในพื้นที่มากขึ้น แต่ตนคิดว่าต่อสู้ทางความคิดยังคงมีอยู่ เพราะฉะนั้น การแก้ไขปัญหาให้หมดสิ้นได้โดยเร็วคงเป็นไปได้ยาก และต้องใช้เวลา วันนี้ กอ.รมน.ได้ประสานการทำงานร่วมกับ ศอ.บต.อย่างแน่นแฟ้น โดยงานทั้งด้านความมั่นคงและการพัฒนาต้องเดินไปด้วยกัน ตนอยากให้สังคมเข้าใจว่า กอ.รมน.นั้นถึงแม้จะเป็นหน่วยงานฝ่ายความมั่นคง แต่ก็ไม่ได้มองงานด้านความมั่นคงเพียงมิติเดียว

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ในวันนี้ทุกระยะเวลาที่มีการแก้ไขปัญหาก็มีการเปลี่ยนกระบวนการแก้ไขปัญหามาโดยตลอดทุกรัฐบาลตามสถานการณ์ทางการเมืองที่เปลี่ยนแปลงไป แต่ฝ่ายความมั่นคงและฝ่ายพัฒนาในส่วนของข้าราชการประจำไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงไป มีแต่พัฒนามากขึ้นตามลำดับ โดยขึ้นอยู่กับการสนับสนุนความร่วมมือจากทุกส่วนราชการ วันนี้ในส่วนของ กอ.รมน.ได้รับความร่วมมือเต็มที่ ซึ่งได้รับความสนใจในการแก้ไขปัญหาที่ต้องใช้ระยะเวลาและกระบวนการแก้ไขปัญหาที่ยั่งยืน

ทั้งนี้ ช่วงแรกที่ผ่านมาเป็นการแก้ไขปัญหาระยะสั้น คือ ทำให้พื้นที่เกิดความสงบและลดความรุนแรง เพื่อให้ฝ่ายพัฒนาสามารถลงพื้นที่ได้ ซึ่งขณะนี้การดำเนินงานได้ผ่านมาระยะหนึ่ง และจะเริ่มแผนงานระยะกลางมีระยะเวลา 1-3 ปี และระยะยาวที่มีระยะเวลาเกินกว่า 5 ปีตามลำดับ ซึ่งในทุกปีทุกหน่วยงานก็จะเขียนแผนงานต่างๆ กว่า 100 แผนงาน เพื่อนำมาเป็น 9 ยุทธศาสตร์ของสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) เพราะไม่เช่นนั้นจะออกมาเป็นงบประมาณไม่ได้ โดยรัฐบาลได้กำหนดและอนุมัติแผนงานแต่ละแผนงานออกมาจะมีการลงรายละเอียดมองหลายมิติ

“วันนี้ยังมีปัญหาเรื่องความปลอดภัยที่เป็นเรื่องค่อนข้างยากที่จะทำให้พื้นที่มีความปลอดภัยได้ 100% ตราบใดที่ยังมีคนต้องการให้เกิดความรุนแรงอยู่ เพราฉะนั้นคิดว่าสิ่งที่กลุ่มคนเหล่านั้นอยู่ได้ เพราะการพึ่งพาอาศัยประชาชนส่วนหนึ่งที่อาจสนับสนุนด้วยความไม่รู้และไม่เข้าใจ ถูกล้างสมอง หรือเกิดจากความหวาดกลัว ดังนั้นต้องขจัดความหวาดกลัวเหล่านั้นออกจากประชาชนให้ได้ และให้กลับมาร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายรัฐ กดดันให้กลุ่มเหล่านี้ออกมามอบตัวกับเจ้าหน้าที่ตามมาตรา 21 ของ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ หรือตามกระบวนการกฎหมายต่างๆ ซึ่งเจ้าหน้าที่จะให้ความเป็นธรรมอย่างเต็มที่ คนพวกนี้ไม่ได้เป็นคนอื่นไกล เป็นคนไทยด้วยกันทั้งสิ้น จึงต้องมีการบังคับใช้กฎหมาย ดังนั้น การปะทะ การจับกุมต่างๆ ที่มีการบาดเจ็บสูญเสียของฝ่ายผู้ก่อการร้ายนั้นเนื่องจากติดอาวุธทั้งสิ้น ถ้าไม่ติดอาวุธและไม่ต่อสู้เจ้าหน้าที่ เราทำอะไรไม่ได้อยู่แล้วนอกจากดำเนินการตามกระบวนการยุติธรรม ทั้งนี้จะเห็นได้ว่าเมื่อมีการจับกุมได้แล้ว แต่ก็ยังมีการปล่อยตัวเป็นจำนวนมาก เพราะการสืบหาพยานหลักฐานนั้นทำได้ค่อนข้างยาก กระบวนการยุติธรรมให้ความเป็นธรรมกับทุกคน ถ้าวัตถุพยานหรือพยานบุคคลไม่ชัดเจนก็ดำเนินคดีไม่ได้ แต่ทั้งนี้ก็ขอความเป็นธรรมให้กับเจ้าหน้าที่ด้วย”


กำลังโหลดความคิดเห็น