เพียงเดือนเดียว ต้องสังเวยลมหายใจ “แม่พิมพ์ของชาติ” ให้แก่ปัญหาความขัดแย้ง “สามจังหวัดชายแดนภาคใต้” ไปแล้ว 2 ชีวิต บาดเจ็บอีก 2 คน ลองนับถอยหลังตลอดระยะเวลาที่ปัญหานี้ยืดเยื้อมาถึง 8 ปี เฉพาะจังหวัดปัตตานี มีบุคลากรทางการศึกษาถูกปลิดชีพถึง 66 ราย บาดเจ็บอีก 46 คน
โดยเหยื่อรายล่าสุดคือ ผอ.หญิงประจำโรงเรียนบ้านท่ากำชำ ซึ่งถูกถล่มยิงด้วยปืนเอ็ม 16 และ 9 มม.อย่างโหดเหี้ยม หลังผู้ก่อการร้ายแจกใบปลิวข่มขู่ไปทั่วบริเวณ สร้างความหวาดผวาแก่ครูในพื้นที่ จนต้องลุกขึ้นมา “ประกาศปิดโรงเรียน” ในปัตตานีทั้งหมด 332 แห่ง และเตรียมปิดอีกหลายโรงในยะลา-นราธิวาสเพิ่ม เพื่อเรียกความเชื่อมั่นจากรัฐบาลว่าจะไม่มีครูผู้เคราะห์ร้ายรายที่ 155 อีกต่อไป!!
แค่ 8 ข้อ ทำได้ไหม?
หลายฝ่ายมองว่าการปิดโรงเรียน งดสอน ตามมติของสมาพันธ์ครูสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นการตัดสินใจที่อาจไม่ช่วยแก้ปัญหาใดๆ ให้ดีขึ้น แค่เพียงยุติการเสียเลือดเสียเนื้อของข้าราชการครูได้ชั่วคราวเท่านั้น ดีไม่ดี อาจส่งผลให้ผู้ก่อการร้ายได้ใจเข้าไปใหญ่ คิดว่าการข่มขู่ของตนเป็นผล แต่ถึงอย่างนั้น บุญสม ทองศรีพราย ประธานสมาพันธ์ครูสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ก็ยังยืนยันด้วยน้ำเสียงหนักแน่นว่า เขาไม่สามารถทนนิ่งเฉยได้อีกต่อไปแล้ว
“พวกเราพยายามอดทนมาโดยตลอด ต้องทนเห็นคุณครูเสียชีวิตคนแล้วคนเล่า ศพแล้วศพเล่า เราเองก็ไม่เคยออกมาเรียกร้องอะไรมากมาย อย่างดี ประชุมแล้วก็เลิก จนกระทั่งคุณครูในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วยกัน เริ่มตั้งคำถามว่าสรุปแล้ว เราจะพึ่งใครได้บ้าง
จริงๆ แล้ว ตัวผมเองก็ไม่อยากจะประกาศปิดโรงเรียนเลยเหมือนกัน แต่มองว่าถ้าเราไม่ลุกขึ้นมาเรียกร้อง ไม่ออกมาแสดงสิทธิของคนไทยที่จะต้องได้รับการดูแลจากเจ้าหน้าที่ของรัฐ มันคงจะไม่ได้แล้ว ครูก็เสียภาษี พี่น้องประชาชนก็เสียภาษี จะให้อยู่เฉยแล้วปล่อยไป คอยมองดูเพื่อนๆ เสียชีวิตไปเรื่อยๆ มันคงไม่ใช่... ไม่ใช่ว่าเราไม่คิดถึงผลที่จะตามมาหลังจากปิดโรงเรียนนะครับ เราคิดถึงเรื่องคุณภาพการศึกษาอยู่ตลอดเวลา แต่ก็อยากให้เห็นใจพวกเราด้วย”
ทางสมาพันธ์ฯ ยื่นข้อเสนอ เรียกร้อง “มาตรการรักษาความปลอดภัย” อยากให้ทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาร่วมแก้ไขเอาไว้ทั้งหมด 8 ข้อ ดังนี้
1.กำหนดให้โรงเรียนเป็นพื้นที่เสี่ยงพิเศษ 2.ให้มีการลาดตระเวนเส้นทางการรับส่งครู วางกำลังให้พร้อม และให้เจ้าหน้าที่ปรากฏตัวให้เด่นชัด 3.ให้เจ้าหน้าที่สนับสนุนช่วยเหลือกรณีได้รับการร้องขอจากโรงเรียน 4.ให้มีเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยบริเวณโรงเรียน 5.ให้แจ้งโรงเรียนทราบทุกครั้งหากมีการปิดล้อมตรวจค้น เพื่อป้องกันความตื่นตระหนกแก่ครูและนักเรียน
6.หลีกเลี่ยงการใช้พื้นที่โรงเรียนเป็นสถานที่ปฏิบัติการทางยุทธวิธี 7.ชี้แจงทำความเข้าใจให้แก่บุคลากรทางการศึกษา กรณีต้องสงสัยว่าเป็นผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ความไม่สงบ เช่น ถูกออกหมายจับและหมาย พ.ร.ก. และ 8.เร่งดำเนินการปรับปรุงซ่อมแซม ถนน สะพาน และพิจารณาติดตั้งเครื่องมือพิเศษในพื้นที่โรงเรียน เช่น ไฟฟ้าส่องสว่าง กล้องวงจรปิด
เจตนาเบื้องหลังทั้งหมดก็ไม่มีอะไรมาก “แค่อยากจะให้เจ้าหน้าที่รัฐออกมาดูแลครูให้เป็นเหมือนครูในพื้นที่อื่น อยากให้เป็นเหมือนครูในจังหวัดอื่นที่เขามีความสุข ไม่ใช่ไปทำงานเช้า-เย็นไม่ได้กลับ ออกไปแล้วไม่รู้ใครจะมาทำร้าย ความรู้สึกแบบนี้เกิดขึ้นกับพวกเราตลอด ชีวิตแขวนอยู่บนเส้นด้าย ไม่รู้จะขาดเมื่อไหร่ จะร่วงเมื่อไหร่
ตัวเราเองไม่ใช่นักขอ ไม่ใช่นักร้องเรียนอะไร แต่แค่อยากเรียกร้องให้ครูในพื้นที่ได้มีขวัญและกำลังใจที่จะสอนกันต่อไป แค่นั้นเองครับ ถ้ารัฐทำให้เรามั่นใจได้เมื่อไหร่ ครูก็จะออกไปสอนที่โรงเรียนกันตามปกติ” ประธานสมาพันธ์ประกาศเอาไว้หนักแน่นชัดเจน
ทำไมต้องครู?
ต้องยอมรับว่าการสังหาร นันทนา แก้วจันทร์ ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านท่ากำชำ จ.ปัตตานี เสียชีวิตลงอย่างโหดเหี้ยมเมื่อวันที่ 22 พ.ย.ที่ผ่านมา เป็นการก่อการร้ายที่ส่งผลกระทบต่อจิตใจของคนทำอาชีพ “ครู” ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างมากจนไม่อาจปฏิเสธได้
เนื่องจากก่อนเกิดเหตุเพียงหนึ่งวัน กลุ่มผู้ต้องสงสัยมีการแจกใบปลิวข่มขู่ไปทั่วทุกพื้นที่ว่าจะเด็ดหัวข้าราชการครูมาสังเวยเพื่อแก้แค้นให้เพื่อนของตน พร้อมคำประกาศท้าทายอำนาจรัฐเอาไว้ว่า “คำเตือน ถึงจะเป็นเวลาที่คุณคุ้มครองแน่นหนา แต่ถ้าเราต้องการ คุณก็ไม่อาจต้านเราได้” จุดชนวนให้ครูใต้สามัคคีลุกฮือกันขึ้นมาต่อรองกับรัฐบาลครั้งใหญ่อย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน ส่วนเหตุผลสำคัญอีกหนึ่งข้อสำหรับ
ปรากฏการณ์นี้ก็คือ ความอดทนที่เดินทางมาถึงขีดสุดแล้ว และนี่คือความในใจจากตัวแทนครูใต้ที่ ผอ.บุญสม ขอฝากเอาไว้
“วันที่ 4 พ.ย. คุณครูและข้าราชการที่ อ.มายอ ถูกยิงได้รับบาดเจ็บสาหัส วันที่ 9 ก.ย. คุณครูไทยพุทธ 2 ท่าน ที่ อ.ยะรัง ถูกยิงได้รับบาดเจ็บ เข้าไอซียู แล้วก็ยังมีภารโรงที่โดนเหมือนกัน ล่าสุดก็เกิดกับ ผอ.นันทนา คุณครูผู้หญิงตัวเล็กๆ โดนกระหน่ำยิงด้วยอาวุธสงคราม ถามว่าจะให้ผมมีความสุขกับสถานการณ์ได้ยังไง!
ทุกวันนี้ผมก็เป็นผอ.อยู่ที่โรงเรียนอนุบาล ปัตตานี แต่ละครั้งที่ก้าวขาออกจากบ้าน จะบอกตัวเองตลอดว่าเราคือคนที่ไม่ปลอดภัย ต้องป้องกันตัวเอง ต้องไม่ประมาท เตือนสติตลอดเวลาว่าเราอยู่ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นชีวิตของครูใต้ที่ต้องอยู่อย่างนี้มา 8 ปีแล้ว เราไม่เคยถามเลยว่าทำไมเราถึงเกิดที่นี่ เพราะเราเลือกเกิดไม่ได้ แต่เลือกที่จะทำความดีได้ เป็นครูให้ดีที่สุด
จริงๆ แล้วผมก็เคยถูกข่มขู่ให้ออกจากพื้นที่เหมือนกัน แต่ถามว่าเราอยู่กันยังไง เราอยู่กันด้วยความรัก ความเข้าใจ อยู่กันด้วยจิตวิญญาณของความเป็นครู ที่พยายามทำทุกวันนี้ก็เพื่อเสริมสร้างให้ครูทุกวันนี้เขามีขวัญและกำลังใจ อยู่เพื่อช่วยเหลือเด็กที่อ่อนแอด้านการศึกษาอยู่แล้ว ให้มีการศึกษาที่ดียิ่งขึ้น เชื่อไหม ทุกวันนี้ ผมเดินไปตลาด มีชาวบ้านมาให้กำลังใจ หลังจากทราบข่าว ผอ.นันทนา เสียชีวิต บางคนน้ำตาซึมเลยนะครับ เขาพูดกับผมคำเดียวว่า ทำไมถึงต้องทำกับครู?”
คำถามนี้ ผศ.ดร.ศรีสมภพ จิตร์ภิรมศรี ผอ.สถาบันวิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายทางวัฒนธรรมภาคใต้ สามารถตอบได้
“คนพวกนี้เขาไม่ใช่อาชญากรธรรมดาครับ ต้องเข้าใจก่อนว่าที่โรงเรียนและครูต้องกลายเป็นเป้าการโจมตีเนี่ย เป็นเพราะโรงเรียนเป็นตัวแทนของอำนาจรัฐไทย ซึ่งลงไปอยู่ในพื้นที่ ให้การศึกษา แต่ภาพลักษณ์ก็ยังเป็นไปในนามของรัฐไทยอยู่ดี ก็เลยกลายเป็นที่มาของการออกมาเรียกร้องในครั้งนี้ เมื่อผู้ก่อการร้ายต้องการจะต่อสู้เพื่อจะกำจัดอำนาจรัฐ ก็เลยต้องมาลงที่โรงเรียน มาลงที่ครู
แต่ผมเชื่อว่า ถ้าชาวบ้านที่นั่น ทั้งไทยและมุสลิม มองว่าโรงเรียนก็คือโรงเรียนของเขาเหมือนกัน ไม่ใช่โรงเรียนของรัฐบาล และครูที่อยู่ที่นั่น ไม่ใช่แค่ข้าราชการของรัฐ แต่คือคนที่ลงไปให้ความรู้ลูกๆ ของเขา คอยช่วยเหลือชาวบ้าน ถ้าเราทำให้ทุกคนเข้าใจว่าโรงเรียนและคุณครูในพื้นที่ไม่ได้ต้องการแบ่งแยก ต่อไปถ้าโจรจะเข้ามาข่มขู่ครู หรือเข้ามาทำร้ายโรงเรียน เขาก็ต้องระวังด้วยว่าถ้าทำแล้วชาวบ้านไม่เห็นด้วย เขาก็จะไม่ได้ประโยชน์ในทางการเมือง ไม่ได้แรงสนับสนุนจากชาวบ้าน การโจมตีโรงเรียนและครู มันเป็นการต่อสู้ในเชิงสัญลักษณ์ครับ ถ้าเราเข้าใจความหมายนี้ เราก็สามารถจะป้องกันและลดเงื่อนไขของการก่อเหตุได้ในอนาคต”
ขอแค่ “ความสุข”
“โจรใต้โหดไม่เลิก” “ยิงผู้บริสุทธิ์” “เคราะห์ร้ายรายวัน” และอีกหลากหลายถ้อยคำที่ใช้บรรยายเหตุการณ์ความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ซ้ำแล้วซ้ำเล่า เปรียบเหมือนแผลเก่าที่ถูกสะกิดเกาให้ช้ำเลือดช้ำหนอง ต่อให้หยิบยาชนิดไหนมาทาก็รักษาไม่หายเสียที
โดยเฉพาะกรณีความสูญเสียที่เกิดขึ้นกับวิชาชีพครู ทุกครั้งที่เกิดเหตุเศร้าสลดเช่นนี้ สังคมจะสะท้อนภาพเดิมๆ ออกมาคือ ยกย่องเชิดชูผู้เคราะห์ร้าย ร่วมไว้อาลัยในความเสียสละและความดี ติดตามความเคลื่อนไหวของคดี กระทั่งหน่วยงานรัฐออกมาแสดงความรับผิดชอบ ปูนบำเหน็จบำนาญให้ เลื่อนยศ และทดแทนเงินให้แก่ครอบครัว แต่ท้ายที่สุดแล้ว ปัญหาก็ไม่ได้รับการแก้อย่างตรงจุด ไม่ต่างไปจากกรณีของ “ครูจูหลิง” จุ้ย-จูหลิง ปงกันมูล ที่เหลือไว้เพียงความทรงจำและความโศกเศร้าอาลัย
ถ้าเลือกได้ ถึงแม้จะรักการสอนหนังสือเพียงใด แต่คงไม่มีครูคนไหนต้องการจบชีวิตในหน้าที่อย่างแน่นอน และบรรทัดต่อจากนี้คือความในใจอีกหนึ่งตอนจากผู้ทำหน้าที่ “ประทีบส่องสว่างแก่สังคม” และในฐานะประธานสมาพันธ์ครูสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ขอฝากเอาไว้
“ทุกวันนี้ เวลารู้ข่าวการเสียชีวิตของครูด้วยกัน ทุกครั้งก็จะคิดในใจว่าต้องทำความดี คุยกันให้เข้าใจ หาโอกาสพบปะ แลกเปลี่ยน เรียนรู้กัน ที่สำคัญต้องดูแลตัวเองและให้กำลังใจกันและกันด้วย ตัวผมเองก็กลัว แต่ต้องทำใจให้เข้มแข็ง ยึดสิ่งศักดิ์สิทธิ์ สักการะให้อุ่นใจ และทำความดี สร้างความเข้าใจให้คนทุกกลุ่ม ไม่ว่าไทยพุทธมุสลิม หรือคริสต์ อยากให้ทุกคนเข้าใจว่าครูก็แค่คนที่ตั้งใจอยากจะมอบแต่สิ่งดีๆ ให้เด็กๆ และสังคมของเรา
ตอนนี้มีหลายคนไม่พอใจที่สมาพันธ์ฯ ร้องให้ปิดโรงเรียน แต่ถามว่ามีใครรับผิดชอบครูที่เสียชีวิตหรือพิการบ้างไหม ไม่มีเลย ทางรัฐก็ต้องทบทวนตัวเองว่าจะทำยังไงให้สามารถเรียกความเชื่อมั่นจากพวกเรากลับมาให้ได้ เราไม่ถึงกับหมดความเชื่อมั่นในอำนาจรัฐ แต่เขาก็ต้องแสดงออกมาให้เห็นด้วยว่าคุ้มครองพวกเราได้ ทำไมภาคอื่นๆ เกิดคดีความขึ้นมา สามารถจับตัวคนร้ายได้ แต่พอคดีเกิดในสามจังหวัดชายแดน จับไม่ได้เลย จับได้ก็น้อยมาก อยากรู้เหมือนกันว่ามันเกิดอะไรขึ้นบนแผ่นดินเกิดของผม ลองไปดูสถิติดูก็ได้ มีครูที่ไหนที่จะเสียชีวิตมากเท่ากับครูภาคใต้ ไม่มีแล้ว!
อยากฝากรัฐบาลว่า ให้หันกลับมาดูแลคุณภาพการศึกษาในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ หันกลับมาดูคุณภาพชีวิตของครู ดูว่าพวกเราจะทำหน้าที่ขับเคลื่อนสถาบันการศึกษาได้ยังไง ถ้าเรายังต้องใช้ชีวิตที่ไม่ปลอดภัย สิ่งที่เรียกร้องออกไป เราก็เรียกร้องออกไปตามความเป็นจริง ไม่ได้เรียกร้องเพียงเพื่อประโยชน์ของครูอย่างเดียว ผมเองเคยคาดหวังที่จะเห็นการเปลี่ยนแปลงจากรัฐตลอดเวลา และหลายครั้งก็ผิดหวังตลอดเวลาเหมือนกัน บางทีก็ท้อแท้ แต่มาถึงวันนี้แล้ว ต้องลุยอย่างเดียว จะเรียกร้องต่อสู้เพื่อครูในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ให้ได้
เราอยู่ปัตตานี ในพื้นที่สามจังหวัด เผินๆ อาจจะรู้สึกเหมือนไม่มีอะไร เหตุการณ์เงียบสงบ แต่ในท่ามกลางความไม่มีอะไร มันก็มีอะไรอยู่ เพราะมันจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ก็ไม่รู้ เรารู้ว่าเราไม่ทำอะไร แต่เราไม่รู้ว่าเขาคิดยังไง นี่คือความน่ากลัวและเป็นภัยมืดที่ทุกคนต้องระมัดระวัง
ที่เรียกร้องตรงนี้ก็ขอแค่อยากเรียกร้องเสรีภาพให้ครูปลอดภัย ส่วนเรื่องค่าชดเชย ความก้าวหน้าทางด้านวิชาชีพ ตายแล้วได้ยศได้ขึ้นเพิ่ม มันไม่ใช่สิ่งที่เราพึงปรารถนาหรอกครับ พวกเราแค่อยากมีชีวิตที่สมบูรณ์เหมือนอย่างคนอื่นเขาเท่านั้นเอง”
ข่าวโดย ASTV ผู้จัดการ LIVE