xs
xsm
sm
md
lg

หวั่นค่าแรง 300 ทำธุรกิจขนาดเล็กปิดกิจการ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ตรัง - หวั่นการปรับขึ้นค่าแรง 300 บาท กระทบต่อธุรกิจขนาดเล็กในตรัง ซึ่งมีกำลังน้อย และขยายตลาดยากจนอาจต้องยอมปิดกิจการ ต่างไปจากธุรกิจขนาดใหญ่ที่ปรับตัวมาล่วงหน้าแล้ว

นายวิถี สุพิทักษ์ ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดตรัง เปิดเผยว่า ผลพวงการปรับขึ้นค่าแรงเป็นวันละ 300 บาทนั้น ได้ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการรายใหญ่ในระดับหนึ่ง โดยบางส่วนได้ปรับขึ้นค่าแรงมาตั้งแต่เมื่อ 6 เดือนก่อน หรือบางส่วนก็มีค่าแรงที่สูงกว่าวันละ 300 บาทอยู่แล้ว รวมทั้งได้ปรับเปลี่ยนระบบการจ้างงานแบบรายวันมาเป็นแบบจ้างเหมา แต่ในอีกหลายผู้ประกอบการก็ไม่สามารถปรับตัวสู้ได้ เช่น ธุรกิจเฟอร์นิเจอร์จากไม้ยางพารา และธุรกิจ SME เพราะคุณภาพของแรงงานไม่ได้ตรงตามที่ต้องการ หรือมีต้นทุนสูง

ดังนั้น จึงทำให้โรงงานไม้ยางพาราหลายแห่งต้องลดกำลังผลิตลง ขณะที่ออเดอร์หรือยอดการสั่งซื้อจากต่างประเทศก็ยังไม่ค่อยจะดีนัก โดยเฉพาะตลาดจีนที่กำลังถึงจุดอิ่มตัวแล้ว ส่งผลให้ราคาไม้ยางพาราปรับตัวลดลงเกือบ 50% จากลูกบาศก์เมตรละ 500 บาท เหลือแค่ลูกบาศก์เมตรละ 300 บาทเศษ และมีแนวโน้มจะลดต่ำลงไปมากกว่านี้ในช่วงต้นปีหน้า เมื่อต้องมาประสบปัญหาเกี่ยวกับการปรับขึ้นค่าแรงซ้ำเติม ซึ่งรวมไปถึงยางพาราที่ยังคงจะมีราคาตกต่ำอยู่อย่างนี้ต่อไปอีก เนื่องจากโรงงานต่างๆ ต้องแบกรับต้นทุนค่าแรงที่สูงขึ้น

ทั้งนี้ เนื่องจากภาพรวมของอุตสาหกรรมในจังหวัดตรัง จะเกี่ยวเนื่องกับการเกษตร หากแต่ละโรงงานต้องเผชิญกับปัญหาค่าแรงวันละ 300 บาท ต้นทุนก็จะลงไปสู่วัตถุดิบ คือ ยางพารา หรือไม้ยางพารา ซึ่งขณะนี้ด้วยอำนาจต่อรองที่ลดลง และสภาวะเศรษฐกิจที่ถดถอย จึงไม่อาจปรับขึ้นราคายางพารา หรือไม้ยางพาราได้ ท้ายสุด ภาระทั้งหมดจึงต้องตกไปอยู่ที่เกษตรกร และถ้าหากธุรกิจ SME หรือร้านค้ารายย่อยสู้ไม่ไหวด้วย ก็จะส่งผลไปถึงค่าครองชีพที่ถีบตัวสูงขึ้น เนื่องจากผู้ประกอบการต้องปรับขึ้นราคาสินค้าเพื่อความอยู่รอด

นายบุญชู ศัยศักดิ์พงษ์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ตรังผลิตภัณฑ์อาหารทะเล จำกัด (มหาชน) หรือ TRS เปิดเผยว่า โรงงานที่มีขนาดใหญ่ หรือมีแรงงานตั้งแต่ 100-1,000 คน ส่วนใหญ่ได้มีการเตรียมความพร้อมไว้ล่วงหน้า และปรับขึ้นค่าแรงไปแล้วตั้งแต่เมื่อกลางปี เพื่อให้ก้าวทันต่อความเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจโลก และค่าครองชีพ โดยดูได้จากประเทศเพื่อนบ้านที่มีค่าแรงวันละ 400-500 บาทขึ้นไปแล้ว ซึ่งหากโรงงานใดไม่ยอมปรับเปลี่ยน ท้ายสุดคนงานก็จะไหลออกไปหมด และเมื่อเทียบกับผลกำไรแล้วถือว่ายังคงคุ้มค่า

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของธุรกิจ SME หรือร้านค้ารายย่อย คงไม่มีกำลังมากพอที่จะแบกรับค่าแรงที่ปรับขึ้นวันละ 300 บาท เนื่องจากแต่ละแห่งก็มีรายได้เข้ามาในวันหนึ่งๆ ไม่มากนัก ขณะที่การขยายตลาดให้มีกำไรเยอะๆ ก็ทำได้ยาก และยังมีการแข่งขันสูง จึงห่วงว่าธุรกิจที่มีคนงานตั้งแต่ 5-50 คน จะไปไม่รอด หากต้องแบกภาระขาดทุนต่อเนื่อง ก็จำต้องยอมปิดกิจการ ประกอบกับชาวตรังยุคใหม่นิยมมีลูกแค่คนเดียว จึงตั้งความหวังในด้านต่างๆ ไว้สูง เช่น ให้รับราชการ อันส่งผลให้เกิดภาวะการขาดแคลนแรงงาน
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น