xs
xsm
sm
md
lg

ภาคเอกชนอุบลฯ สับเละค่าแรง 300 บาททำคนตกงานเพิ่ม ทุนใหญ่ยืมมือรัฐฆ่า SMEs

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ปลัดกระทรวงแรงงานพบปะและร่วมเวทีเสวนากับผู้ประกอบการและผู้ใช้แรงงานกรณีขึ้นค่าแรง 300 บาท
อุบลราชธานี - หอการค้าและสภาอุตสาหกรรมเมืองดอกบัวสับเละ! นโยบายค่าแรง 300 บาท รัฐบาลออกนโยบายแต่เอกชนเป็นผู้จ่าย จะทำให้ธุรกิจ SMEs ตายทั้งระบบ ส่งผลดีต่อผู้ประกอบการรายใหญ่ที่ยืมมือรัฐบาลมาฆ่า แต่สุดท้ายแรงงานก็ไม่ได้รับประโยชน์จากนโยบายหาเสียงดังกล่าว

วันนี้ (29 พ.ย.) ที่สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงานภาค 7 จ.อุบลราชธานี นายสมเกียรติฉายะศรีวงศ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน พบปะและร่วมเวทีเสวนากับผู้ประกอบการและผู้ใช้แรงงาน โดยปลัดกระทรวงแรงงานระบุว่า การปรับขึ้นค่าแรง 300 บาทในวันที่ 1 ม.ค. 2556 ย่อมส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการขนาดเล็กในรูปแบบต่างๆ รัฐบาลจึงออกมาตรการช่วยเหลือรวม 6 ประการ ทั้งการให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ ลดภาษีการซื้อขายเครื่องจักรเก่า ลดภาษีนิติบุคคลเหลือร้อยละ 20% และกระตุ้นการใช้จ่ายในภาครัฐในภาคบริการให้สูงขึ้น

ขณะที่ นายชาญณรงค์ เจียรกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดอุบลราชธานี กล่าวว่า ปัจจุบันค่าแรงในจังหวัดมีอัตราการจ้างเฉลี่ยที่ 190-235 บาท ซึ่งอยู่ในเกณฑ์เหมาะสมที่ทุกฝ่ายยอมรับได้ แต่หากต้องปรับขึ้นค่าแรงเท่ากันหมด ผู้ประกอบการจะปรับลดแรงงานที่ไม่มีฝีมือออก ก็จะส่งผลกระทบกับจำนวนแรงงานในระบบต้องตกงาน

ส่วนระยะยาวผู้ประกอบการขนาดเล็กจะทยอยปิดกิจการลง อนาคตจะเหลือเพียงผู้ประกอบการรายใหญ่ที่มีกำลังเงินสูง และสามารถซื้อเครื่องจักรใหม่เข้ามาทดแทนแรงงานที่ลดลงไปได้

นอกจากนี้ การอะลุ้มอล่วยระหว่างนายจ้างกับแรงงานจะไม่เกิดขึ้น ต่อไปแรงงานจะเข้าทำงานสายไม่ได้ เวลาการขอเข้าห้องน้ำก็ลดลง เพราะนายจ้างก็ต้องการได้งานอย่างเต็มทีตามที่ได้จ่ายเงินค่าจ้างไป

“ธุรกิจขนาดเล็กที่กระจายอยู่ทั่วประเทศกว่า 50% ไปไม่รอดแน่นอน เพราะต้นทุนการผลิตสูง ไม่สามารถแข่งขันกับประเทศอื่นได้ เพราะไม่มีใครซื้อสินค้าชนิดเดียวกัน แต่มีราคาแพงกว่าแน่นอน”

ขณะที่ นายประชา กิจตรงศิริ รองประธานหอการค้าจังหวัดอุบลราชธานี กล่าวเสริมว่า มาตรการที่รัฐบาลบอกให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการรายย่อยและ SMEs ขณะนี้ยังไม่เกิดเป็นจริง เพราะผู้ประกอบธุรกิจใน 7 จังหวัดนำร่องที่ขึ้นค่าแรงไปแล้วตั้งแต่เดือน เม.ย. 2555 แม้จะยื่นขอรับเงินทุนดอกเบี้ยต่ำ จนถึงปัจจุบันยังไม่ได้รับเงินกู้ดังกล่าว เพราะเครดิตที่มีต่อสถาบันการเงินได้ใช้ไปเต็มวงเงินแล้ว

ขณะนี้ผู้ประกอบการทำได้เพียงช่วยเหลือตัวเอง และต้องทยอยปรับลดคนงานลงเรื่อยๆ และก็ต้องเลิกกิจการไปในที่สุด ซึ่งรัฐบาลยังไม่มีมาตรการช่วยเหลือแรงงานที่ต้องตกงานเพิ่มขึ้นในปีหน้า และแรงงานทั้งหมด ต้องไปอยู่กับผู้ประกอบการรายย่อยที่ไม่เข้าอยู่ในระบบ และไม่ได้รับค่าแรงวันละ 300 บาท ตามที่รัฐบาลต้องการแน่นอน

สิ่งที่หอการค้าอุบลราชธานีเป็นห่วงมากที่สุดขณะนี้ คือ ผู้ประกอบการรายย่อย SMEs หากยังจำกันได้เมื่อคราวประเทศไทยประสบภาวะเศรษฐกิจตกต่ำเมื่อปี 2540 ผู้ประกอบการรายย่อยคือ ผู้ที่ช่วยให้ประเทศรอดพ้นภาวะล้มละลาย เพราะเป็นผู้เข้ามาพยุงประเทศชาติเอาไว้

“แต่มาตรการขึ้นค่าแรง 300 บาท ไม่อยากพูดว่าผู้ประกอบการธุรกิจขนาดใหญ่ยืมมือรัฐบาลมาฆ่าผู้ประกอบการรายเล็ก เพราะผู้ประกอบการรายใหญ่มีการจ้างงานแรงงานที่มีคุณภาพในราคาสูงกว่าวันละ 300 บาทอยู่แล้ว จึงไม่ได้รับผลกระทบ รวมทั้งมีสายป่านยาวสามารถซื้อเครื่องจักรใหม่มาใช้แทนแรงงานคนได้ ตรงข้ามกับธุรกิจขนาดเล็กที่ไม่มีทุน”

ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานจากกลุ่มตัวอย่างจากผู้ประกอบการจำนวน 1,707 แห่ง หลังปรับขึ้นค่าแรง 300 บาท เมื่อเดือน เม.ย. มีธุรกิจขนาดใหญ่ที่ไม่ได้รับผลกระทบเลยจำนวน 299 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 17.52 ส่วนอีก 1,408 แห่ง ซึ่งเป็นผู้ประกอบการ SMEs ได้รับผลกระทบคิดเป็นร้อยละ 82.48 โดยทำให้ต้นทุนสูงคิดเป็นร้อยละ 70 ขายสินค้าได้น้อยลงร้อยละ 20 และไม่สามารถขยายกิจการได้อีกร้อยละ 10

จึงมีการเสนอให้รัฐบาลตั้งกองทุนอัดฉีดเงินเข้ามาช่วยเหลือในการขึ้นค่าแรง ในปี 2556 ขอให้รัฐบาลเป็นผู้จ่ายเงินร้อยละ 75 ของจำนวนเงินที่ปรับขึ้น โดยเอกชนจ่ายร้อยละ 25 ส่วนในปี 2557 ให้การสนับสนุนของรัฐบาลลดลงเหลือร้อยละ 50 ส่วนอีก 50 เอกชนจะเป็นผู้จ่าย และในปีต่อมาคือปี 2558 รัฐบาลจ่ายเงินลดลงเหลือร้อยละ 25 เอกชนจ่ายร้อยละ 75 และในปีต่อไปคือ 2559 เอกชนเป็นผู้จ่ายเงินค่าแรงในส่วนที่ปรับขึ้นทั้งหมดเอง เพื่อให้เวลาปรับตัวของธุรกิจขนาดเล็กที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายขึ้นค่าแรงดังกล่าว

แต่ข้อเสนอดังกล่าวรัฐบาลยังไม่เห็นชอบ ทำให้ภาระทั้งหมดตกอยู่กับเอกชน จึงมีการคาดการณ์หลังขึ้นค่าแรงทั่วประเทศในวันที่ 1 ม.ค. 2556 จะส่งผลต่อการประกอบการและการแข่งขันของผู้ประกอบการขนาดเล็กดังกล่าว
นายชาญณรงค์ เจียรกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดอุบลราชธานี
นายประชา กิจตรงศิริ รองประธานหอการค้าจังหวัดอุบลราชธานี
กำลังโหลดความคิดเห็น