xs
xsm
sm
md
lg

นักวิชาการ ม.อ.เตือนอากาศเปลี่ยนแปลงกระทบพืชเศรษฐกิจ-อาหารภาคใต้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

รศ.ดร.สายัณห์ สดุดี
ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - นักวิชาการ ม.อ.เตือนการเปลี่ยนของอากาศเริ่มส่งผลต่อพืชเศรษฐกิจ และพืชอาหารของภาคใต้ เร่งให้เกษตรกรศึกษา และรับมือการเปลี่ยนแปลง โดยขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างการทำวิจัยเพื่อนำข้อมูลมาใช้ให้เกิดประโยชน์

รศ.ดร.สายัณห์ สดุดี ภาควิชาพืชศาสตร์ คณะทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เปิดเผยว่า การเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศโลกในระยะหลายที่ผ่านมา นอกจากจะทำให้เกิดผลกระทบทางภูมิศาสตร์ เช่น การกัดเซาะชายฝั่ง ดินถล่ม และภัยพิบัติต่างๆ แล้ว ยังมีผลต่อพืชเศรษฐกิจ และพืชอาหารของภาคใต้ โดยเฉพาะข้าว ยางพารา และไม้ผล เนื่องจากต่อไปมีแนวโน้มว่าผลผลิตทางการเกษตรจะลดลง เพราะความเปลี่ยนแปลงของฤดูกาล

ปรากฏการณ์เช่นนี้เห็นได้ชัดเจนขึ้นในระยะ 3-4 ปี ตัวอย่างจากที่มีปริมาณฝนมากใน 2 ปีที่ผ่านมา กลับกลายเป็นฝนแล้งในปีนี้ คาดการณ์ว่า ปรากฏการณ์เอลนีโญและลานีญาจะเกิดบ่อยขึ้น ฤดูกาลจะเปลี่ยนจากมี “หน้าร้อน” กับ “หน้าฝน” เป็น “แล้ง” กับ “ท่วม” ตอนนี้อยู่ระหว่างรอยต่อของการเปลี่ยนแปลง ซึ่งยังไม่ทราบว่าจะไปในทิศทางใด แต่ที่น่าสังเกตคือสภาพอากาศของจังหวัดสงขลาปัจจุบันจะคล้ายกัวลาลัมเปอร์ เมืองหลวงของประเทศมาเลเซีย ซึ่งเกิดจากการขยายตัวที่กว้างขึ้นของเขตร้อนชื้นของโลก ฤดูของการออกผลของผลไม้ของสงขลากับมาเลเซียและอินโดนีเซีย จะเริ่มตรงกัน คือ จะออกในช่วงปีใหม่ ส่วนอากาศของภาคใต้จะขยับขึ้นไปแถวจันทบุรี และระยอง ทำให้ผลไม้ในแถบนั้นจะให้ผลช่วงเวลาเดียวกับภาคใต้

ความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวทำให้เกิดปัญหากับเกษตรกรมาก จะเห็นได้จากพืชไม้ผลที่อายุยืน และให้ผลตามฤดูกาล เช่น ลองกอง เงาะ มังคุด กลับมาออกผลนอกฤดู ไม้ผลดังกล่าวต้องการความแห้งแล้งในเดือนมีนาคม เพื่อกระตุ้นการออกดอก เมื่อหน้าร้อนขยับมาเป็นเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม จึงเปลี่ยนเป็นกระตุ้นให้ออกดอกเดือนตุลาคม และจะไปออกผลในช่วงปลายปีต่อต้นปีถัดไป การเปลี่ยนแปลงยังกล่าวในขณะนี้ยังไม่ทราบแน่นอนว่าจะคงอยู่ตลอดไป หรือเป็นเฉพาะช่วงเวลานี้

นอกจากนั้น ยังกระทบกับเกษตรกรผู้ปลูกยางพาราเช่นกัน จากที่เมื่อก่อนใบยางจะร่วงในหน้าแล้ง และจะเริ่มผลิใบใหม่เดือนเมษายนเพื่อรับหน้าฝน แต่หากมีฝนตกในหน้าแล้ง ใบใหม่จะชื้น และเกิดโรคทำให้ใบร่วง เช่นปีที่ผ่านมา ทำให้วันเปิดกรีดเลื่อนจากพฤษภาคมเป็นกรกฎาคม ทำวันกรีดลดลง จากประมาณ 150 วัน เหลือประมาณ 110 วัน หรือบางพื้นที่อาจจะน้อยกว่านั้น

ซึ่งขณะนี้ รองศาสตราจารย์ ดร.สายัณห์ สดุดี กำลังทำโครงการวิจัยผลกระทบของโลกร้อนที่มีต่อยางพาราในภาคใต้ โดยทุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ซึ่งจะสิ้นสุดโครงการในเดือนมีนาคม 2556 ใช้เวลาศึกษาวิจัย 2 ปี

“เกษตรกรควรเตรียมการเพื่อรับมือต่อความเปลี่ยนแปลงดังกล่าว โดยเกษตรกรทำนาควรเปลี่ยนเป็นปลูกข้าวอายุสั้น ส่วนการปลูกไม้ผลต้องปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงช่วงเวลาการออกผล หรือเปลี่ยนเป็นปลูกพืชที่ ส่วนที่จะกระทบกับยางคือ โรคระบาด เช่นโรครากขาว ซึ่งสามารถทำให้ยางตายทั้งสวนได้ นี่เป็นเหตุผลหนึ่งที่ประเทศมาเลเซียเปลี่ยนการปลูกพืชเศรษฐกิจจากการปลูกยางมาเป็นการปลูกปาล์ม เพราะการเปลี่ยนของอากาศจะกระตุ้นเชื้อโรคบางอย่างให้เจริญเติบโตขึ้น จึงมองว่าต่อไปปาล์มน่าจะพืชเศรษฐกิจของภาคใต้ที่น่าสนใจมากกว่ายาง เพราะไม่กระทบกับปริมาณฝนที่มากขึ้น ส่วนยางนั้นในภาคตะวันออกเฉียงเหนือบางพื้นที่จะมีช่วงวันกรีดมากกว่าภาคใต้” รองศาสตราจารย์ ดร.สายัณห์ กล่าว

กำลังโหลดความคิดเห็น