xs
xsm
sm
md
lg

“ร.ร.ท่ากำชำ” ในวันที่ไม่มีครู แต่มีน้ำใจจากรอบข้าง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ขาดครู - ครูโรงเรียนบ้านท่ากำชำที่เหลืออยู่ 4 คน หลังจากผู้อำนวยการถูกคนร้ายยิงเสียชีวิตและข้าราชการครูขอย้ายออกไป 3 คน
ฮัสซัน โตะดง โรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้(DSJ)


ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - เปิดใจครูท่ากำชำ ในวันที่ไม่มี ผอ.และข้าราชการครูย้ายออกไปหมด กับการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า และโรงเรียนปอเนาะที่ส่งครูมาช่วยสอน 
 
“เมื่อผู้อำนวยการถูกยิงเสียชีวิต โรงเรียนท่ากำชำก็ไม่ได้มีผลกระทบแค่ขาดผู้อำนวยการไปคนเดียวเท่านั้น เพราะหลังเกิดเหตุ ข้าราชการครูที่มีอยู่ 3 คนของโรงเรียนขอย้ายออกภายใน 24 ชั่วโมง”
 
นายมะลาเซ็น อาสัน รักษาการผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านท่ากำชำ อ.หนองจิก จ.ปัตตานี พูดถึงปัญหาเกิดขึ้นหลังจาก ครูนันทนา แก้วจันทร์ ผู้อำนวยการโรงเรียนถูกคนร้ายถูกยิงเสียชีวิตเมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2555
 
เมื่อขาดครู ภาระการเรียนการสอนจึงตกอยู่กับครู 4 คนที่เหลือ และเป็นเพียงพนักงานราชการ ส่วนตัวของนายมะลาเซ็น แม้เป็นข้าราชการ แต่ก็ได้ทำเรื่องขอย้ายออกไปก่อนที่เกิดเหตุยิงครูนันทนาเสียอีก และได้รับการอนุมัติแล้ว
 
“ผมจำเป็นที่จะต้องอยู่ที่นี่ไปอีกสักระยะหนึ่ง เพื่อรอให้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ส่งครูมาแทนครูที่ย้ายออกไป และเพื่อช่วยประคับประคองโรงเรียนให้ผ่านวิกฤตช่วงนี้ไปก่อน”
 
สำหรับครูที่เหลืออยู่ ได้แก่ ครูมะลาเซ็น ครูจิตราวดี มุขยวัฒน์ ครูกอยา หะยีบาซอ และครูอิสมาแอ แวยูโซะครู ในจำนวนนี้ เป็นคนในหมู่บ้านท่ากำชำ 2 คน
 
ตอนนี้ ครูทั้ง 4 คนนี้ ต้องแบ่งไปดูแลชั้นอนุบาล 1 คน ส่วนที่เหลืออีก 3 คน ต้องรับผิดชอบดูแลชั้นประถมศึกษาตั้งแต่ ป.1 ถึง ป.6 คือ ครู 1 คน ดูแล 2 ห้องเรียน จำนวนนักเรียนทั้งหมด 110 คน
 
เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2555 ที่ผ่านมา เป็นวันแรกของการเปิดเรียน หลังจากหยุดมา 1 สัปดาห์อันเนื่องจากจากครูนันทนาถูกยิง วันนั้น พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) มาร่วมรับประทานอาหารเที่ยงกับนักเรียน มีข้าราชการสังกัดต่างๆ มาด้วยมากมาย
 
ทว่า เด็กๆ กลับเห็นว่าครูของพวกเขาหายไป 3 คน
 
ครูจิตราวดี บอกว่า นักเรียนถามถึงครู 3 คนว่าไปไหน ทำไมครูเหล่านั้นไม่มาโรงเรียน ครูที่เหลืออยู่ตอบว่า ครูมีธุระไม่สามารถมาโรงเรียนได้ ไม่กล้าที่จะบอกนักเรียนตรงๆ ว่า ครูเหล่านั้นได้ย้ายไปสอนที่อื่นแล้ว เพราะกลัวว่าจะทำให้นักเรียนเสียขวัญ และกำลังใจ
 
มะลาเซ็น บอกว่า ตอนนี้ทางโรงเรียนไม่อาจคาดหวังว่าจะสามารถให้ความรู้ได้อย่างเต็มที่ แต่สิ่งสำคัญที่สุดคือ ทำอย่างไรก็ได้ให้นักเรียนมาโรงเรียนให้มากที่สุด โรงเรียนมีทางแก้ปัญหาเฉพาะหน้า คือ ให้นักเรียนทำกิจกรรมต่างๆ ที่ให้ความรู้ และให้ใบงานแก่นักเรียนนำกลับไปทำที่บ้าน โดยขอความร่วมมือจากผู้ปกครองให้ช่วยดูแลการทำใบงานของนักเรียน
 
ส่วนอีกเรื่องที่สำคัญ คือ จะต้องหาผู้อำนวยการโรงเรียนคนใหม่มาประจำการที่โรงเรียนให้เร็วที่สุด เพราะการขาดผู้อำนวยการโรงเรียน เสมือน “เรือที่ขาดหางเสือ” เนื่องจากไม่มีบุคลากรที่จะกำหนดทิศทางของโรงเรียนได้ และขาดบุคคลที่จะต้องติดต่อประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้
 
มะลาเซ็น บอกว่า จริงๆ แล้วปัญหาการขาดแคลนครูของโรงเรียนบ้านท่ากำชำมีมานานก่อนหน้านี้เสียอีก เนื่องจากตามหลักเกณฑ์ของ สพฐ.กำหนดให้ครู 1 คนต่อนักเรียน 25 คน ก่อนเกิดเหตุยิงครูนันทนา ที่นี่มีครู 7 คน นักเรียนมี 110 คน มีจำนวนชั้นเรียน 8 ห้อง จึงจำเป็นต้องรวมชั้นอนุบาล 1 กับอนุบาล 2 เป็นห้องเดียวกัน เพื่อให้จำนวนครูพอต่อจำนวนชั้นเรียน
 
แต่อย่างไรก็ตาม ทางโรงเรียนไม่อยากใช้ระบบครูประจำชั้นในการสอนนักเรียน โดยครูคนเดียวสอนทุกวิชา ระบบนี้จะส่งผลให้เด็กได้รับความรู้ไม่เต็มที่
 
ส่วนวิชาที่ครูคนใดไม่ถนัด ทางโรงเรียนก็จำเป็นที่ต้องรวมชั้น ป.4 กับชั้น ป.5 เป็นห้องเดียวกัน เพื่อให้เหลือชั้นเรียน 6 ห้อง แล้วให้ครูหมุนเวียนกันสอนตามรายวิชาที่ครูถนัด หรือตามสาขาวิชาที่ครูเรียนจบมา เพื่อให้นักเรียนได้รับความรู้อย่างเต็มที่ในรายวิชานั้นๆ
 
นอกจากนี้ ครูทุกคนยังต้องสอนมากกว่า 1 วิชา เช่น ครูอิสมาแอ ที่ต้องสอนวิชาภาษาอังกฤษ กับวิชาวิทยาศาสตร์ ชั้น ป.1- ป.6 ครูจิตราวดี สอนวิชาคอมพิวเตอร์ วิชาภาษาไทย ชั้นป.4-ป.6 วิชาศิลปะ ป.3-ป.6 ครูกอยา สอนวิชาประวัติศาสตร์ กับวิชาศาสนา ชั้นป.1-ป.6
 
ยังไม่รวมงานเอกสารของโรงเรียนที่ครูต้องทำ และงานบริหารทั่วไปที่ครูแต่ละคนต้องรักผิดชอบ อีกทั้งยังต้องรับภาระในเรื่องการซื้อกับข้าวมาทำอาหารกลางวันให้นักเรียนด้วย จากเดิมที่ครูสลับกันไปซื้อคนละวัน แต่ปัญหานี้ คณะกรรมการโรงเรียนจะเข้ามาช่วย โดยไม่ต้องรวบกวนเวลาสอน และไม่ต้องให้ครูออกนอกพื้นที่
 
มะลาเซ็น บอกอีกว่า การที่ครูมีจำกัดทำให้แต่ละคนต้องสอนอย่างน้อย 21 คาบต่อสัปดาห์ ส่งผลให้ครูไม่มีเวลาตรวจใบงานของนักเรียน บางทีครูต้องพาใบงานกลับไปตรวจที่บ้าน ครูไม่สามารถอธิบายใบงานที่นักเรียนทำผิดได้ทันที แตกต่างจากโรงเรียนประจำอำเภอ หรือจังหวัด ที่ครูมีคาบสอนสัปดาห์ละ 15 คาบ ทำให้ครูมีเวลาที่ดูใบงานของนักเรียนอย่างเต็มที่ และสามารถอธิบายนักเรียนได้ทันที
 
อย่างไรก็ตาม ปัญหาที่เกิดขึ้น เป็นที่รู้ดีของ พ.ต.อ.ทวี จึงสั่งการให้ นายอดินันท์ ปากบารา รองเลขาธิการ ศอ.บต.ร่วมกันหาทางออกให้แก่ครูที่เหลืออยู่
 
แนวทางหนึ่งในการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าในเรื่องการขาดครู คือ ขอความร่วมมือจากโรงเรียนส่งเสริมอิสลามศึกษา ซึ่งอยู่ห่างจากโรงเรียนบ้านท่ากำชำ ประมาณ 1 กิโลเมตร เนื่องจากนักเรียนส่วนใหญ่ของโรงเรียนบ้านท่ากำชำ จะเข้าเรียนต่อที่โรงเรียนเอกชนสอนศาสนาแห่งนี้
 
นายอดินันท์ขอให้ผู้บริหารโรงเรียนส่งเสริมอิสลามศึกษา ช่วยส่งครูมาสอนแทนครูที่ขาดไปชั่วคราว ก่อนที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะส่งหาครูมาประจำได้ โดยศอ.บต.จะออกค่าใช้จ่ายทั้งหมด โดยที่โรงเรียนไม่ต้องรับภาระค่าตอบแทน
 
ซึ่งนายอัดนัน สุหลง ผู้รับใบอนุญาตโรงเรียนส่งเสริมอิสลามศึกษา ระบุว่า ทางโรงเรียนยินดีให้ความร่วมมือ
 
สำหรับครูที่โรงเรียนส่งเสริมอิสลามศึกษาจะส่งมาช่วยสอน ได้แก่ วิชาคณิตศาสตร์ ภาษาไทย และภาษาอังกฤษ ระยะเวลาประมาณ 2-3 เดือน หรือหนึ่งเทอม
 
ทั้งนี้ ให้จัดตารางสอนในช่วงเช้าเท่านั้น เนื่องจากช่วงบ่ายเป็นเวลาที่ครูเหล่านี้ต้องกลับมาสอนที่โรงเรียนเดิม เนื่องจากโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามแห่งนี้ได้แบ่งเวลาในการสอนศาสนาในช่วงเช้า ส่วนบ่ายสอนวิชาสามัญ เช่นเดียวกับโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามหลายแห่งในพื้นที่
 
นายอดินันท์ บอกว่า อย่างน้อยก็ช่วยมาปูพื้นฐานให้นักเรียนที่จะเข้าเรียนต่อที่โรงเรียนส่งเสริมอิสลามศึกษาด้วย เป็นการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ระหว่างโรงเรียน ชุมชน และโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามในพื้นที่
ดีใจ - นักเรียนโรงเรียนบ้านท่ากำชำ อ.หนองจิก จ.ปัตตานี ยิ้มน้อยยิ้มใหญ่หลังได้รับแจกขนม แม้ว่าพวกเขาเพิ่งจะสูญเสียผู้อำนวยการโรงเรียนไปและมีครูย้ายออกไปถึง 3 คน

กำลังโหลดความคิดเห็น