โดย...ไม้ เมืองหอม
การเสียชีวิตของนางฉัตรสุดา นิลสุวรรณ คุณครูแห่งโรงเรียนบ้านตาโงะ ม.2 ต.มะรือโบออก อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส เป็นการเสียชีวิตศพที่ 155 ของครูใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งต้อง “พลีชีพ” ให้แก่ขบวนการแบ่งแยกดินแดนที่ลุกขึ้นมาก่อการร้าย ทำสงครามประชาชนครั้งใหม่นับตั้งแต่ต้นปี 2547 เป็นต้นมา ส่วนครูที่พิการ และบาดเจ็บอีกจำนวนมากยังไม่นับ นั่นคือ ผลพวงของ “สงครามประชาชน” ที่ใช้รูปแบบการก่อการร้ายแบบ “อสมมาตร” ที่เกิดขึ้นบนดินแดนด้ามขวานรวม 9 ปีที่ผ่านมา
ก่อนหน้าที่คุณครูฉัตรสุดาจะกลายเป็นเหยื่อสถานการณ์เพียง 1 สัปดาห์ คุณครูนันทนา แก้วจันทร์ ผอ.ร.ร.บ้านท่ากำชำ อ.หนองจิก จ.ปัตตานี คือเหยื่อที่ถูกเซ่นสังเวยคมกระสุนของ “อาร์เคเค” แห่งขบวนการแบ่งแยกดินแดนบีอาร์เอ็นโคออดิเนต เป็นศพที่ 154 และผลพวงของการเสียชีวิตของครูนันทนาคือ การเคลื่อนไหวของสมาพันธ์ครู 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ด้วยการมีมติปิดโรงเรียน 300 กว่าแห่งใน จ.ปัตตานี เพื่อกดดันให้ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องปรับแผนการ รปภ.ครูใน จ.ปัตตานีเสียใหม่ เพราะเห็นว่าแผนที่ใช้อยู่มีช่องโหว่ รอยรั่ว ที่เป็นช่องว่างให้อาร์เคเคปฏิบัติการต่อครูได้
และก่อนที่จะมีการตกลงกันได้ระหว่างสมาพันธ์ครู 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ด้วยการปรับแผน รปภ.ครูจาก กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า โดย พล.ท.อุดมชัย ธรรมสาโรรัชต์ แม่ทัพภาคที่ 4 และ ผอ.กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า มีการตกปากรับคำจากรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการในการเพิ่มเบี้ยเสียงภัยอีก 1,000 บาทให้แก่ครู รวมเป็น 3,500 บาท ทำให้สมาพันธ์ครูพอใจ และเปิดเรียนในวันที่ 3 ธ.ค.ที่ผ่านมา
แต่ในขณะที่โรงเรียนทั้งหมด 300 กว่าโรงปิดการเรียนการสอนเพื่อรอมาตรการ รปภ.ครูจาก กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้านั้น ปรากฏว่า เมื่อวันที่ 29 พ.ย.ที่ผ่านมา อาร์เคเคได้ทำการเผาโรงเรียนบ้านบางมะรวด ต.บางมะรวด อ.ปะนาเระ จ.ปัตตานี เสียหายหมดสิ้นทั้งอาคารเรียน และอุปกรณ์การเรียนการสอน
และก่อนที่จะมีการเปิดโรงเรียนเพียงไม่กี่ชั่วโมง กลางดึกของวันที่ 2 ธ.ค.ที่ผ่านมา อาร์เคเค จำนวน 20 คนก็ปฏิบัติการตบหน้าเจ้าหน้าที่รัฐด้วยการแต่งเครื่องแบบเลียนแบบทหารพรานไล่ต้อน ชรบ.ที่ทำหน้าที่ รปภ.โรงเรียน และทำการวางเพลิงโรงเรียนบ้านทาซู หมู่ 3 ต.น้ำบ่อ อ.ปะนาเระ จ.ปัตตานี ห้องพักครู และห้องเรียนเสียหายไปจำนวนหนึ่ง
ที่น่าสังเกตคือ การเผาโรงเรียน 2 แห่งที่ อ.ปะนาเระเกิดติดต่อกัน และเกิดในขณะที่ จ.ปัตตานีอยู่ในสภาวะฉุกเฉิน ตึงเครียด จากการที่มีการปิดโรงเรียนกว่า 300 แห่ง ซึ่งแสดงให้เห็นว่า เจ้าหน้าที่บ้านเมืองไม่ว่าจะเป็นทหาร ตำรวจ ปกครอง และอื่นๆ ไม่ได้มีความ “ตื่นตัว” ในการป้องกันเหตุร้ายที่จะเกิดขึ้นกับโรงเรียนในแต่ละพื้นที่ ทั้งที่ใน อ.ปะนาเระมีกองกำลังทหารรักษาความสงบอยู่ในพื้นที่เป็นจำนวนมาก
ที่ต้องสังเกตในเวลาต่อมาคือ วิธีการของอาร์เคเคที่นำมาใช้ในการเผาโรงเรียน เผาสถานที่ราชการ หรือบุกเข้าโจมตีฐานปฏิบัติการต่างๆ ในพื้นที่คือ การแต่งกายเลียนแบบเจ้าหน้าที่รัฐ เช่น แต่งเป็นทหารพราน แต่งเป็นตำรวจ และใช้ยานพาหนะเลียนแบบเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งปฏิบัติการได้ผลทุกครั้ง แต่เจ้าหน้าที่รัฐ โดยเฉพาะ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ไม่เคย “สำเหนียก” และไม่เคยป้องกันได้แม้แต่ครั้งเดียว และที่สำคัญ ไม่มีวิธีการป้องกันที่ชัดเจนว่า จะรับมือกับวิธีการ “เลียนแบบ” ของอาร์เคเคอย่างไร ดังนั้น รัฐจึงตกอยู่ในสภาพที่สูญเสียแล้ว สูญเสียอีก กับวิธีการเก่าๆ ของอาร์เคเค ซึ่งใน 9 ปีที่ผ่านมา อาร์เคเคไม่ได้มีการพัฒนาการอะไรมากมาย
เพราะวิธีการที่อาร์เคเคนำมาใช้ในการทำสงครามประชาชนตลอดระยะเวลา 9 ปีที่ผ่านมาคือ ยิงเจ้าหน้าที่เพื่อเก็บอาวุธปืน ขุดหลุมริมถนนวางระเบิดเจ้าหน้าที่ตำรวจทหาร ทำ จยย.บอบบ์ คาร์บอมบ์ และพัฒนามาเป็นซาเล้งบอมบ์ เพื่อก่อวินาศกรรมในชุมชนย่านเศรษฐกิจ การวางเพลิงทำลายเศรษฐกิจการลงทุนในตัวเมือง เช่น โชว์รูมรถยนต์ และโรงงานอุตสาหกรรม โจมตีฐานปฏิบัติการเพื่อปล้นอาวุธ ซุ่มโจมตีเจ้าหน้าที่ขณะลาดตระเวน ใช้เอ็ม 79 ยิงใส่ฐานปฏิบัติการเวลาดึกๆ ประกบยิงประชาชน เจ้าหน้าที่รัฐ นักการเมืองท้องถิ่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน อส.และ ชรบ. การฆ่าพระ
และสุดท้าย อาวุธที่ได้ผลที่สุดของอาร์เคเคคือ การฆ่าครู และเผาโรงเรียน ทั้งหมดคือปฏิบัติการของอาร์เคเค ซึ่งไม่ได้พัฒนารูปแบบที่ใหม่ขึ้น
การเสียชีวิตเป็นศพที่ 155 ของครูในจังหวัดชายแดนภาคใต้ สิ่งที่ติดตามมาคงเหมือนกับทุกครั้ง นั่นคือ การปิดโรงเรียนตามมติของผู้นำครู เพื่อกดดันให้ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้ารับผิดชอบกับสิ่งที่เกิดขึ้น นั่นคือ การปิดช่องว่าง ถมช่องโหว่ ซึ่งแน่นอนว่าถมเท่าไหร่ไม่รู้จักเต็ม และกองทัพก็จะมามองว่าไม่สามารถดูแลครูตลอด 24 ชั่วโมง ทำได้เพียงรับ-ส่งครูจากที่พักไปโรงเรียนตามกำหนดเวลา ส่งครูจากโรงเรียนไปยังบ้านพัก และการลาดตระเวนเส้นทางสายหลัก ซึ่งเป็นปฏิบัติการปกติของกำลังทหารในพื้นที่
สุดท้าย กองทัพก็จะบอกแก่สังคมว่า ครูส่วนใหญ่ที่เสียชีวิตเป็นเพราะอยู่นอกเวลาในการคุ้มครองของทหาร เช่นเดียวกับครูนันทนาที่มีธุระต้องไปร่วมงานศพของคนที่รู้จัก และครูฉัตรสุดาที่ต้องปฏิบัติหน้าที่ในโรงเรียนหลังเลิกเรียนเพื่อรองรับการประเมินสถานศึกษา
แต่อย่างไรก็ตาม ความเสียหายที่เกิดขึ้นกับครู กับบุคลากรทางการศึกษา และความสูญเสียที่เกิดขึ้นกับสถานศึกษา เรื่องนี้ต้องมีผู้รับผิดชอบ และ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้าคือ ผู้ที่ปฏิเสธความรับผิดชอบนี้ไม่ได้ เนื่องจากเป็น “หน้าที่” โดยตรง
ดังนั้น กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้าจะต้องปรับขบวนคิด ปรับวิธีการในการคุ้มครองครู ดูแลโรงเรียนเสียใหม่ โดยดึงเอาทุกภาคส่วนราชการ โดยเฉพาะฝ่ายปกครอง ผู้นำท้องถิ่น ผู้นำท้องที่ ให้เข้ามาร่วมรับผิดชอบในการคุ้มครองครู และรักษาโรงเรียน อย่าปล่อยให้เป็นภารกิจของกองทัพเพียงฝ่ายเดียว เพราะ 9 ปีที่ผ่านมา ได้เห็นอย่างชัดเจนแล้วว่า วิธีคิด และวิธีการของกองทัพประสบกับความล้มเหลว ทั้งด้าน “การเมือง” และด้าน “การทหาร”
วันนี้ กองทัพต้องให้หน่วยงานด้านการปกครองคิดแทน และกองทัพร่วมปฏิบัติ บางทีอาจจะเป็นการ “คิดถูก” และ “แก้ได้” และได้ผลกว่าที่กองทัพ “คิดผิด” และ “ทำผิด” มาโดยตลอด 9 ปี ที่ผ่านมา
ครู และโรงเรียนคือ โจทย์สำคัญ อีกทั้งคือ “จุดอ่อน” ที่สุดในสงครามประชาชนและในการรบแบบ “อสมมาตร” ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพราะเมื่อครูถูกทำร้าย โรงเรียนหยุดการเรียนการสอน นั่นคือ การหยุดการศึกษาในพื้นที่ เมื่อคนไม่มีการศึกษาย่อมถูกควบคุมทางสติปัญญา ย่อมตกเป็น “แนวร่วม” ของขบวนการได้ง่ายขึ้น และโรงเรียนคือ สัญลักษณ์ของรัฐไทย ถ้าแผ่นดินปลายด้ามขวานไม่มีครู ไม่มีโรงเรียน ไม่มีวัด ไม่มีพระสงฆ์ นั่นคือ ชัยชนะของขบวนการแบ่งแยกดินแดน
โจทย์นี้เป็นโจทย์เก่าๆ ที่รัฐบาล และกองทัพใช้เวลา 9 ปี แต่ยังแก้ไม่ได้ และหากรัฐบาล และกองทัพยังไม่จริงจังในการที่จะแก้โจทย์นี้ สุดท้ายจะไม่มีครูเหลืออยู่ในพื้นที่ และนั่นคือ “การเสียอธิปไตย” โดยไม่ต้องแบ่งแยกดินแดนที่ปลายด้ามขวาน