xs
xsm
sm
md
lg

ดับ “แม่พิมพ์” คนที่ 154 ความล้มเหลว “ที่รัฐบาล-กองทัพ” ต้องรับผิดชอบ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


คอลัมน์ : จุดคบไฟใต้
โดย...ไชยยงค์ มณีพิลึก

สถานการณ์การก่อการร้ายในจังหวัดชายแดนภาคใต้ซึ่งรุนแรงอยู่แล้ว ถูกกระพือให้รุนแรงขึ้นอีก เมื่อครูนันทนา แก้วจันทร์ ผอ.ร.ร.บ้านท่ากำชำ อ.หนองจิก จ.ปัตตานี ต้องกลายเป็น “เหยื่อ” สังเวยคมกระสุนของขบวนการแบ่งแยกดินแดนเป็นศพที่ 154 ในรอบ 9 ปี ที่เกิดเหตุรุนแรงระลอกใหม่ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยปัตตานีเป็นจังหวัดที่มีครูเสียชีวิตมากที่สุด จำนวน 66 ศพ และบาดเจ็บอีก 46 ราย

เหตุผลเนื่องจาก “ปัตตานี” เป็นสัญลักษณ์ของการต่อสู้ของขบวนการแบ่งแยกดินแดน การเกิดเหตุรุนแรงจึงมีความหมายใน “มิติ” ของความรู้สึก และของความมั่นคง ประการที่ 2 นับแต่ปี 2547 เป็นต้นมา การแก้ปัญหาการป้องกันเหตุร้ายในพื้นที่ จ.ปัตตานี อยู่ในลักษณะที่ล้มเหลวมาโดยตลอด สังเกตได้ว่าปัตตานีเป็นพื้นที่ก่อเหตุรุนแรงมาโดยตลอด เช่น การระเบิดโรงแรม เผาโชว์รูม ปิดถนนฆ่าเจ้าหน้าที่เช่นที่ อ.มายอ หรือการเผา และทำลายกล้องวงจรปิดจะเกิดที่ปัตตานีมากกว่าจังหวัดอื่นๆ

การประกาศปิดโรงเรียนใน 3 เขตการศึกษากว่า 300 แห่ง ซึ่งเป็นมติของสมาพันธ์ครู 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ หลังจากการเสียชีวิตของครูนันทนา แก้วจันทร์ คือสิ่งที่ตอกย้ำให้ทั่วโลกเห็นถึงความรุนแรงของสถานการณ์สงครามประชาชน และเห็นถึงความล้มเหลวของเจ้าหน้าที่รัฐในการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น ซึ่งไม่เคยเกิดขึ้นมานานแล้วในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพราะที่ผ่านมา จะปิดเฉพาะโรงเรียนที่เกิดเหตุ หรือเป็นเป็นโซนในแต่ละอำเภอ เพื่อเป็นการป้องกันเหตุร้ายที่อาจจะเกิดขึ้นแก่ครู และนักเรียน แต่ครั้งนี้เป็นการปิดทั้งจังหวัด และมีการขอความร่วมมือจากผู้บริหารโรงเรียน จ.ยะลา และ จ.นราธิวาส ให้หยุดการเรียนการสอนทั้งหมด

เหตุผลของการปิดโรงเรียน จำนวน 6 ข้อ ของสมาพันธ์ครู 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น สรุปสั้นๆ คือ ต้องการให้ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ปรับแผนรักษาความปลอดภัยในปัจจุบันที่ใช้ไม่ได้ผล เพราะตั้งแต่เริ่มเปิดภาคเรียนเพียงไม่ถึง 1 เดือน มีการพยายามฆ่าครูเกิดขึ้นหลายครั้ง และก่อนนี้ มีแม่พิมพ์อีก 2 ราย ที่เกือบต้องสังเวยชีพให้แก่ “อาร์เคเค” ที่ ต.เมาะมาวี อ.ยะรัง จ.ปัตตานี แต่โชคดีที่ครูทั้ง 2 ราย มีไหวพริบในการเอาชีวิตรอด ทำให้ครูคนหนึ่งเพียงบาดเจ็บจากคมกระสุนปืนของอาร์เคเค


การ รปภ.ครู ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น ผู้รับผิดชอบในแผน รปภ.ครู คือ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ซึ่งก่อนที่จะมีการเปิดภาคเรียนทุกครั้งก็จะมีการประชุมร่วมกันของครู และเจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายในการกำหนดแผนร่วมกัน แต่ก็ไม่เคยมีสักครั้งเดียวที่สามารถรักษาความปลอดภัยได้อย่างแท้จริง และทุกครั้งของการสูญเสีย สังคมจะได้รับฟังอยู่เนืองๆ คือ ครูที่เสียชีวิตไม่ปฏิบัติตามแผน มีการออกนอกเส้นทาง กลับก่อนเวลาที่กำลัง รปภ.ครู จะไปรับไปส่ง และปัญหาตรงจุดนี้ก็ไม่เคยได้รับการแก้ไขอย่างแท้จริง

ซึ่งวันนี้ เมื่อสมาพันธ์ครู 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้สั่งปิดโรงเรียนทั้งหมดใน จ.ปัตตานี และอาจจะมีการปิดเพิ่มในนราธิวาส และยะลาด้วย คงจะเป็นมาตรการกดดันให้ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ต้องปรับแผนการ รปภ.ครู เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงอีกครั้ง

โดยข้อเท็จจริงในหลายปีที่ผ่านมา ยุทธการของ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า คือ การส่งกำลังจำนวนมากทำการยึดถนนสายหลักในพื้นที่ 3 จังหวัด และ 4 อำเภอของ จ.สงขลา บนถนนสายต่างๆ จะมีด่านตรวจ จุดตรวจ ป้อมยาม เป็นระยะๆ และจะมีกำลังลาดตระเวนด้วยรถฮัมวี่ รถหุ้มเกาะ รถกระบะ รถจักรยานยนต์ และชุดลาดตระเวนเดินเท้าในพื้นที่ล่อแหลม มีการตรวจยานพาหนะที่ต้องสงสัยบนถนนสายหลัก จนคนในพื้นที่มีการพูดกันมาโดยตลอดว่า ภารกิจของทหาร คือ ยึดวัด ยึดโรงเรียน และยึดถนน แต่ไม่ได้ยึดหัวใจคนเป็นศูนย์กลาง

และโดยข้อเท็จจริง การตายของเจ้าหน้าที่รัฐ และประชาชนที่ผ่านมาล้วนสังเวยชีพบนถนนร้อยละ 80 การที่กำลังทหารยึดถนนเป็นยุทธศาสตร์ที่ถูกต้อง แต่ที่ผิดพลาดอยู่ที่ไม่สำเร็จ เพราะยังปล่อยให้อาร์เคเคปฏิบัติการฝังระเบิด จุดระเบิด ประกบยิง ไล่ยิงประชาชน และโจมตีฐานปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่ซึ่งตั้งอยู่ริมถนนอยู่ตลอดเวลา จนหลายท้องที่ หลายอำเภอมีหลุมระเบิด มีวิญญาณของผู้เสียชีวิตอยู่ทุกกิโลเมตร ล้วนแต่เกิดจากความล้มเหลวในปฏิบัติการยึดถนนที่ไม่ประสบความสำเร็จของกองทัพ

ภารกิจหลักของกองทัพภายใต้ยุทธการของ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้าที่สำคัญที่สุด คือ การ รปภ.ครู และชีวิตทรัพย์สินของประชาชน ดังนั้น การที่ 9 ปี มีครูตาย 154 คน มีประชาชนสังเวยชีพเกือบ 5,000 คน คือ ความล้มเหลวครั้งยิ่งใหญ่ของกองทัพที่ผู้เป็นเสนาบดี แม่ทัพนายกองจะปฏิเสธไม่ได้ เพราะข้อเท็จจริงที่ประจักษ์ คือ กำลังในพื้นที่จำนวนกว่า 65,000 คน คุ้มครองครูไม่ได้ คุ้มครองคนไม่ได้ คุ้มครองทรัพย์สินของผู้บริสุทธิ์ไม่ได้ แล้วจะมาบอกว่า “เราเดินมาถูกทาง” แล้วจะให้ประชาชนเชื่อมั่นได้อย่างไร

หลายครั้งที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ. มักกล่าวด้วยความ “น้อยใจ” ว่าทำไมประชาชนไม่ให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ในการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น แต่ถ้ามองถึงสาเหตุที่เกิดขึ้น เช่น ความตายของครู ข้าราชการที่ดีๆ ทุ่มเทการทำหน้าที่ในพื้นที่อย่างเต็มที่ หรือ “สายข่าว” ของคนที่ช่วยเหลือราชการ ดังเช่นกรรมการอิสลาม และผู้นำศาสนาท่านหนึ่งที่ อ.ยะหา จ.ยะลา ที่ทุ่มเทเวลาช่วยเหลือ กอ.รมน.มาโดยตลอด แต่สุดท้าย เจ้าหน้าที่ไม่สามารถคุ้มครองชีวิตคนเหล่านี้ไว้ได้ และนั่นคือสาเหตุที่ทำไมประชาชนจึงไม่กล้าร่วมมือกับกองทัพ กับเจ้าหน้าที่หน่วยอื่นๆ และหากยังเป็นเช่นนี้ อย่าได้หวังว่ารัฐจะได้รับความร่วมมือจากประชาชนอย่างที่ต้องการ

วันนี้เรื่องเร่งด่วนของรัฐบาล และกองทัพ โดย กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า คือต้องปรับแผนการ รปภ.ครู อย่างเร่งด่วน ด้วยการนำเอากำลังจากภาคส่วนต่างๆ โดยเฉพาะจากภาคประชาชนมาเป็นเกราะป้องกันอันตรายให้แก่ครู เพื่อให้โรงเรียนสามารถเปิดสอนโดยเร็ว เพราะการปิดโรงเรียนมาก เและเปิดช้าเท่าไหร่ เท่ากับเป็นการเร่งสถานการณ์ความรุนแรงให้เข้มข้นยิ่งขึ้น

อย่าลืมว่าเมื่อ 2 เดือนก่อน อาร์เคเคสามารถ “สถาปนา”ความหวาดกลัวจนเกิดกรณีหยุดทำงานวันศุกร์มาแล้ว และขณะนี้ สถานการณ์หยุดวันศุกร์เพิ่งจะคลี่คลาย อาร์เคเคก็สถาปนาความหวังให้แก่ครูจนต้องมีการปิดโรงเรียน แม้จะยังไม่ใช่ชัยชนะของขบวนการแบ่งแยกดินแดน แต่คือคำยืนยันที่ชัดเจนถึง 9 ปีแห่งความล้มเหลวของการดับไฟใต้ ภายใต้อุ้งมือของกองทัพ โดย กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า

กำลังโหลดความคิดเห็น