xs
xsm
sm
md
lg

ต้นทุนจม (Sunk Cost)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


โดย...สมัย โกรทินธาคม

สมมติว่าคุณเจ็บป่วยต้องเข้ารักษาที่โรงพยาบาล หมอให้กินยา แล้วบอกให้คุณนอนพักในโรงพยาบาลอย่างน้อย 1 คืน พอเช้าวันรุ่งขึ้นรู้สึกทุเลาจนเกือบเป็นปกติ หมอมาดูอาการในตอนสายๆ บอกคุณว่าถ้าต้องการกลับบ้านก็กลับได้ เมื่อหมอออกจากห้องไปแล้วคุณนึกขึ้นได้ว่า ทางโรงพยาบาลคิดค่าห้องแบบเหมาจ่ายในราคา 3,000 บาท ซึ่งคุณจ่ายไปแล้ว (ยังไม่รวมค่ายา) และเขาให้พักอยู่ได้ไม่เกิน 3 คืน คุณจะตัดสินใจอยู่ต่อจนครบ 3 คืนหรือไม่ เพราะเหตุใด

เรื่องราวข้างต้นเป็นตัวอย่างหนึ่งที่ผู้เขียนใช้เป็นกรณีศึกษา ในงานสัมมนาครูผู้สอนเศรษฐศาสตร์ระดับมัธยมมาแล้วหลายครั้ง แต่ละครั้งจะแบ่งครูออกเป็นกลุ่ม กลุ่มละ 5-6 ท่าน ให้หารือกันแล้วระดมความเห็น ตอนนั้นครูหลายท่านพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า เหตุการณ์ที่สมมติขึ้นสามารถใช้ทดสอบความงก หรือไม่งกได้เป็นอย่างดี

ตอนนี้ผู้อ่านคงมีคำตอบอยู่ในใจแล้ว ลองดูว่าจะตรงกับความคิดเห็นเหล่านี้หรือไม่ ผู้เขียนได้รวบรวมความเห็นมาจากเมื่อคราวไปจัดสัมมนาครูจังหวัดกระบี่เมื่อหลายปีก่อน ความเห็นมี 2 กลุ่มดังนี้

กลุ่มแรก
ตัดสินใจนอนพักต่อ ด้วยเหตุผลว่า ถ้าไม่มีธุระสำคัญต้องทำในตอนนั้น กลัวอาการกำเริบ ขออยู่ใกล้หมอไว้ก่อน และเป็นการพักฟื้น เพราะดูจากโจทย์แล้วเห็นว่าแค่ “เกือบ” เป็นปกติ มีค่าเสียโอกาสที่จะไม่ได้พักต่ออีก 2 คืน คิดดูแล้วเสียดายเงิน ไหนๆ ก็จ่ายไปแล้ว ต้องอยู่ให้คุ้ม จะพาญาติไปอยู่เยอะๆ เพราะมีแอร์เย็นๆ มีทีวีให้ดูสบายๆ สุดท้ายเป็นเรื่องกระเซ้าเย้าแหย่บอกว่า จะอยู่ต่อถ้าพยาบาลหน้าตาดี (เป็นความเห็นของครูผู้ชายแน่นอน)

กลุ่มที่สอง
ไม่นอนต่อ เพราะมีรายได้ต่อวันสูง เวลา 2 วันนั้นอาจมีรายได้มากกว่า 3,000 บาท รีบกลับบ้านดีกว่า มีธุระสำคัญต้องทำ มีกิจการต้องดูแล บางท่านบอกว่าไม่อยากให้เพื่อนมีภาระต้องเข้าสอนแทน ญาติ และเพื่อนต้องมาเยี่ยมมาเฝ้า สิ้นเปลืองเวลา และเงินทอง กลัวค่าใช้จ่ายรายวันอื่นๆ จะเพิ่มขึ้นอีก บางท่านต้องการให้โอกาสคนที่เจ็บป่วยหนักกว่าได้ใช้ห้องต่อไป บรรยากาศโรงพยาบาลชวนหดหู่ ไม่น่ารื่นรมย์ กลัวผีที่โรงพยาบาล เหตุผลสุดท้ายมาแปลกคือ เกรงว่าอยู่หลายวันเข้า กลัวหมอ หรือพยาบาลจะเบลอ มาดูแลรักษาผิดห้อง ผิดอาการ ยิ่งจะไปกันใหญ่

จะเห็นว่าเหตุผลส่วนใหญ่มีความคุ้มค่าแฝงอยู่ มีทั้งเกี่ยวกับตัวเงิน และไม่ใช่ตัวเงิน แต่ถูกนำมาใคร่ครวญด้วย ซึ่งไม่เกี่ยวกับความงกหรือไม่งก คำตอบที่ได้มีลักษณะ “ก็แล้วแต่...” ซึ่งไม่ใช่คำตอบที่ตรงใจ และใช้ได้กับทุกคน แต่ท้ายสุดทุกคนต้องหาคำตอบที่เหมาะสมแก่ตนเอง ดังเพื่อนร่วมงานของผู้เขียนท่านหนึ่งบอกว่า ยินดีพักต่อ เพราะจะได้เงินชดเชยจากบริษัทประกันในอัตราคืนละ 1,000 เมื่ออยู่ครบก็ได้เงินค่าห้องคืนทั้งหมดพอดี

อุทาหรณ์จากเรื่องนี้มีอยู่ว่า ประการแรก ค่าห้องแบบเหมาจ่ายเป็นข้อสมมติ ซึ่งถูกกำหนดมาเป็นเงื่อนไขหนึ่งในการวิเคราะห์ แต่ความสมจริง หรือไม่สมจริงของข้อสมมติไม่สำคัญมากเท่ากับการได้รู้ว่าผู้ร่วมสัมมนาตัดสินใจอย่างไรในสถานการณ์นั้น เงื่อนไขเป็นอย่างไร เหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น และให้ลองนึกว่าคำตอบของเด็กนักเรียนจะต่างจากผู้ใหญ่หรือไม่ อย่างไร เถ้าแก่ร้านอะไหล่รถยนต์หรูราคาแพงน่าจะตัดสินใจอย่างไร

ประการที่สอง เมื่อให้เวลาถกเถียงกันพอสมควร ผู้เขียนค่อยชี้ชวนให้พิจารณาหลักพื้นฐานต่อไปว่า เงิน 3,000 ที่จ่ายไป ในทางเศรษฐศาสตร์เรียกว่า “ต้นทุนจม” กลายเป็นอดีต ไม่ควรนำมาเกี่ยวพันกับการตัดสินใจว่าจะอยู่ต่อหรือไม่ ท่านจะต้องชั่งประโยชน์ที่ได้หากอยู่ต่อ กับการเสียโอกาสไปทำอย่างอื่น ตรองดูว่าอันไหนสำคัญมากกว่ากัน ซึ่งก็สุดแท้แต่ เพราะแต่ละคนก็ตีค่าของสิ่งที่จะได้มา กับสิ่งที่จะเสียไปแตกต่างกัน

ประการสุดท้าย ผู้เขียนถือวิสาสะฝากครูทุกท่านกลับไปตั้งคำถามกับนักเรียนมัธยมศึกษาต่อไป แต่สำหรับนักศึกษาระดับมหาวิทยาลัย ลองนึกดูว่าถึงวันนี้มีต้นทุนที่จมลงไปในการศึกษาของท่านเป็นเงินเท่าใดแล้ว เป็นเวลากี่เดือน กี่ปีมาแล้ว การใช้ชีวิตในมหาวิทยาลัยล้วนมีต้นทุน หรือค่าใช้จ่ายที่จมลงไปอยู่ทุกเมื่อ ทุกวันนี้พ่อแม่รอคอยอยู่ว่า เมื่อใดหนอสิ่งที่ท่านได้ลงทุนลงแรงไปจะออกดอกออกผล

ชีวิตในมหาวิทยาลัยไม่ใช่เรื่องยาก หากเป็นไปตามทำนองคลองธรรม รับประกันได้ว่า ทุกคนล้วนอยู่รอด และสำเร็จ แต่ก็ไม่ง่ายนัก บางเรื่องต้องแลกมาด้วยหยาดเหงื่อ หรือกระทั่งน้ำตา ตอนนี้ขอให้นึกถึงวันรับปริญญาเข้าไว้ แม้บางคนอาจรู้สึกเฉยๆ แต่เมื่อวันนั้นมาถึงนักศึกษาจะเห็นว่า ผู้ที่มีความสุขมากที่สุดคือ พ่อแม่ ผู้ปกครองที่ส่งเสียมา และเดิมพันได้เลยว่า พ่อแม่ต้องจ่ายเงินก้อนโตตัดชุดใหม่มางานรับปริญญา ถ่ายรูปเก็บไว้เป็นที่ระลึก พานักศึกษา และญาติไปเลี้ยงฉลองอาหารค่ำมื้อพิเศษ ซึ่งแปลว่าแพงเป็นพิเศษด้วยเช่นกัน และโอกาสพิเศษแบบนี้ก็มีไม่บ่อยนัก

ส่วนผู้มีถิ่นภูมิลำเนามาจากต่างจังหวัด พ่อแม่จะลงทุนเหมารถตู้ พาญาติพี่น้องลูกหลานรอนแรมมาร่วมแสดงความยินดี แน่นอนว่าค่าใช้จ่ายทั้งหลายในวันนั้นก็เป็นต้นทุนจมอีกตามเคย แต่พ่อแม่ต้องดีใจที่งานของท่านสำเร็จไปอีกขั้นหนึ่ง แม้นักศึกษายังไม่ได้งานทำ แต่หลังจากนั้น นักศึกษาก็โตพอ พร้อมเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ จากการทำงาน และหารายได้ตอบแทนท่านในวันหน้าต่อไป

สุดท้ายขอชวนนักศึกษาลงมือพิสูจน์ด้วยตนเองหน่อยว่า จะเป็นอย่างไร กับคำกล่าวที่ว่า “ความอดทน แม้จะเป็นสิ่งที่ขมขื่น แต่ผลลัพธ์ของมันมักจะหวานชื่นเสมอ”

หมายเหตุ : บทความนี้เคยตีพิมพ์แล้วในคู่มือปฐมนิเทศนักศึกษา คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และในวารสาร มธบ.สื่อสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ โดยมีการปรับบางคำเล็กน้อย

ข้อมูลจาก “เศรษฐ์ตังค์” จุลสารเพิ่มพูนความรู้เศรษฐศาสตร์ ปีที่ 4 ฉบับที่ 1 มกราคม-มีนาคม 2555 คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

กำลังโหลดความคิดเห็น