โอลิมปิกเล็กๆ สำหรับนักศึกษาที่ร่ำเรียนในสาขาด้านอุตสาหกรรมเกษตร หรือวิทยาศาสตร์การอาหาร คือ งานเปิดกระป๋อง (open can) ซึ่งเป็นกิจกรรมเชื่อมความสัมพันธ์ของมหาวิทยาลัย คณาจารย์ และนักศึกษาในสาขาด้านนี้จากมหาวิทยาลัยชั้นนำทั่วประเทศกว่า 19 สถาบันเข้าร่วม กิจกรรมมีทั้งการแข่งขันกีฬาเชื่อมความสามัคคี การประกวดกองเชียร์ การตอบปัญหาทางวิชาการ การแข่งขันพัฒนาผลิตภัณฑ์ เป็นต้น
งานเปิดกระป๋อง ล่าสุด ครั้งที่ 21 ซึ่งสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้า เจ้าคุณทหาร ลาดกระบัง เป็นเจ้าภาพ ระหว่างวันที่ 25-28 ตุลาคมที่ผ่านมา มีข่าวเล็กๆ ที่น่ายินดีสำหรับวงการศึกษาในพื้นที่ปลายด้ามขวาน เมื่อนักศึกษาภาควิชาวิทยาศาสตร์การอาหารและโภชนาการ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ได้รับรางวัลชมเชยจากการแข่งขันด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์ หรือเป็นผลงานลำดับที่ 3 รองจากนักศึกษาจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
ผลิตภัณฑ์ที่ได้รับรางวัลครั้งนี้ ก็คือ “เครื่องดื่มธัญญาหารผสมนมแพะผง” ซึ่งเป็นผลงานของกลุ่มนักศึกษาภาควิชาวิทยาศาสตร์การอาหารและโภชนาการ ม.อ.ปัตตานี
นาวาวี โตะเยง นักศึกษาหัวหน้าทีมพัฒนาผลิตภัณฑ์เล่าว่า โจทย์ของงานพัฒนาผลิตภัณฑ์ปีนี้คือ “ข้าว” จึงคิดทำเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของข้าวซึ่งเป็นธัญญาหารประเภทหนึ่งกับวัตถุดิบอื่นที่เสริมคุณประโยชน์ทางโภชนาการ โดยมี ผศ.ดร.เทวี คาร์ริลา และ ผศ.ดร.พัชรินทร์ ภักดีฉนวน เป็นอาจารย์ที่ปรึกษากิจกรรม
อย่างไรก็ดี ความยากของการแข่งขันครั้งนี้ก็คือ เวลาที่จำกัดเพียง 2 เดือน จากเดิมที่จะมีอย่างน้อย 3-4 เดือนที่ทางสถาบันเจ้าภาพจะแจ้งโจทย์ออกมา แต่เนื่องจากปัญหาการปรับเปลี่ยนเจ้าภาพจึงทำให้เวลาการแก้โจทย์จำกัดด้วย เมื่อได้รับโจทย์นี้มาความคิดแรกของกลุ่มนักศึกษาจากวิทยาเขตปัตตานีกลุ่มนี้คิดถึงก็คือ การทำ สนีกเกอร์ (Sneaker) อาหารว่าง หรืออาหารเสริมที่วัยรุ่นกำลังฮิตต่อยอดจากภูมิปัญญาการทำกระยาสารท หรือยาขนมแบบปักษ์ใต้ แต่ด้วยเวลาที่จำกัด จึงคิดประยุกต์ใช้องค์ความรู้ที่ทางภาควิชาวิทยาศาสตร์การอาหารและโภชนาการของพวกเขามีอยู่แทน
นาวาวี เล่าว่า เวลานั้นทางภาควิชาฯ มีงานวิจัยที่สำคัญอยู่ 2 เรื่อง คือ 1.) การพัฒนาข้าวเป็นผลิตภัณฑ์แบบพรีเจล (pregel) หรือแป้งพรีเจลาติไนซ์ (pregelatinized starch) ในหลากหลายรูปแบบเพื่อการใช้ในทางอุตสาหกรรม 2.) การพัฒนาผลิตภัณฑ์จากน้ำนมแพะ ทั้งการทำนมแพะผง และการพัฒนาผลิตภัณฑ์ต่อเนื่องอื่นๆ เขา และเพื่อนๆ น้องๆ จึงคิดที่จะต่อยอด 2 องค์ความรู้ดังกล่าวของภาควิชาฯ
ทั้งหมดจึงมาลงตัวที่เครื่องดื่มธัญญาหารผสมนมแพะผง งานแรกที่กลุ่มนักศึกษาภาควิชาวิทยาศาสตร์การอาหารฯ ทำก็คือ การตระเวนซื้อผลิตภัณฑ์ หรือสินค้าประเภทเดียวกัน หรือใกล้เคียงกันในท้องตลาดว่ามีอะไรบ้าง รสชาติใดที่เป็นที่ยอมรับ รวมถึงตัวธัญญษหารอื่นๆ ที่ต้องการจะนำมาผสม ตั้งแต่ข้าวสังข์หยด จนถึงงาดำ ก่อนจะลงลึกศึกษาส่วนผสม หรือสูตรในแต่ละผลิตภัณฑ์ เพื่อใช้เป็นแนวทางในการพัฒนาให้เป็นเครื่องดื่มธัญญาหารผสมนมแพะผงในแบบของพวกเขาเอง
นาวาวี บอกว่า จุดเด่นของเครื่องดื่มธัญญาหารผสมนมแพะผง ที่ทำให้ได้รับรางวัลระดับประเทศครั้งนี้ น่าจะเป็นเพราะเป็นอาหารเพื่อสุขภาพที่ใช้อัตลักษณ์ของวัตถุดิบในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ คือ น้ำนมแพะ มาใช้เป็นส่วนประกอบสำคัญ ร่วมกับส่วนประกอบอื่นที่มีคุณค่าทางโภชนาการที่โดดเด่นเช่นกัน คือ ข้าวหอมมะลิ ข้าวสังข์หยด ข้าวโพด ถั่วดำ ถั่วแดง และงาดำ
ผลิตภัณฑ์ชิ้นนี้ทำขึ้นเป็นชนิดชงละลาย เป็นอาหารเสริมที่มีใยอาหาร มีคุณค่าทางวิตามิน สารต้านอนุมูลอิสระ และเกลือแร่ที่สำคัญ เช่น แคลเซียม ฟอสฟอรัส โพแทสเซียม และซีลีเนียม
ความน่าสนใจอีกด้านหนึ่งก็คือ ผลิตภัณฑ์นี้กำลังได้รับการนำไปต่อยอดทางธุรกิจ โดยเอกชนในพื้นที่ คือ ห้างหุ้นส่วนจำกัด ไทย โกทส์ โปรดักส์ ซึ่งสนใจที่จะนำไปผลิต และวางจำหน่าย โดยมีศูนย์วิทยาศาสตร์อาหารฮาลาล ซึ่งเป็นหน่วยงานบริการวิชาการของภาควิชาวิทยาศาสตร์การอาหารและโภชนาการ ม.อ.ปัตตานี เป็นผู้ถ่ายทอดเทคโนโลยีให้
สุไฮลา แสงจันทร์ ผู้จัดการ หจก.ไทย โกทส์ โปรดักส์ บอกว่า ไทย โกทส์ โปรดักส์ ตั้งอยู่ที่ อำเภอยี่งอ จังหวัดนราธิวาส ปัจจุบัน ผลิตน้ำนมแพะพาสเจอไรซ์ สบู่โลชัน และครีมบำรุงผิวที่มีส่วนผสมของน้ำนมแพะ ที่ผ่านมาเราต้องการขยายธุรกิจไปในผลิตภัณฑ์อาหารแห้ง ซึ่งมีอายุการเก็บนานขึ้น เพราะสามารถทำตลาดได้ง่าย จึงได้เข้าประกวดแผนธุรกิจในโครงการ “สหกรณ์สร้างสรรค์” ของสันนิบาตสหกรณ์ร่วมกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ จากนั้นจึงได้เข้ามาปรึกษาเรื่องผลิตภัณฑ์กับศูนย์วิทยาศาสตร์อาหารฮาลาล ม.อ.ปัตตานี และ ผศ.ดร.พัชรินทร์ เพื่อขอรับการถ่ายทอดเทคโนโลยี ผลงานเครื่องดื่มธัญญาหารผสมนมแพะผงของน้องๆ นักศึกษาที่ได้รับรางวัลในครั้งนี้ก็จะเป็นสินค้าอีกตัวหนึ่งที่ไทย โกทส์ โปรดักส์ สนใจนำไปต่อยอด
ผู้จัดการ หจก.ไทย โกทส์ โปรดักส์ เชื่อว่า ผลดีจากการต่อยอดครั้งนี้ ยังช่วยแก้ปัญหาสำคัญให้เกษตรกรผู้ผลิตนมแพะในพื้นที่ 3 จังหวัดภาคใต้ตอนล่างในการสร้างตลาดรองรับ ซึ่งสอดรับกับนโยบายพัฒนาอาชีพให้แก่ประชาชนในพื้นที่ของ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) รวมถึงการที่ตัวผลิตภัณฑ์เองเป็นสินค้าที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูง ก็จะเป็นอีกแนวทางในการช่วยพัฒนาสุขอนามัยแก่เด็ก และเยาวชนในพื้นที่ 3 จังหวัดได้อีกทางหนึ่ง
“เครื่องดื่มธัญญาหารผสมนมแพะผง” กับรางวัลระดับประเทศแม้จะเป็นเพียงรางวัลชมเชย และผลงานของนักศึกษาจากภาควิชาเล็กๆ ในมหาวิทยาลัยพื้นที่ปลายด้ามขวาน แต่ก็น่าจะเป็นตัวอย่างที่ดีที่จะช่วยจุดประกายความหวังน้อยๆให้คนในแวดวงการศึกษาในพื้นที่ ในความพยายามที่จะต่อสู้กับข้อจำกัดนานัปการในการเรียนการสอนด้านวิทยาศาสตร์ และการพัฒนาผลิตภัณฑ์จากอัตลักษณ์ท้องถิ่นให้ได้รับการยอมรับต่อไปในอนาคต