มรภ.สงขลา ส่ง 2 งานวิจัย ข้าวยำกรอบและปลาหวานสมิหลา คว้ารางวัลนวัตกรรมดีเด่น มหกรรมวิชาการ สกว. ปี 2555 ชูต่อยอดผลงานจากหิ้งสู่ห้าง ภายใต้คอนเซ็ปต์ธุรกิจสร้างสรรค์ จากท้องถิ่นสู่สากล
ดร.แสนศักดิ์ ศิริพานิช รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและชุมชนสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา (มรภ.สงขลา) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 20-24 มิถุนายน ที่ผ่านมา ศูนย์บ่มเพาะธุรกิจ มรภ.สงขลา (SKRU-UBI) ได้สนับสนุนงบประมาณในการนำเสนอผลงานวิจัยที่สามารถนำมาต่อยอดเป็นเชิงพาณิชย์ ในงานมหกรรมวิชาการ สกว. โครงการธุรกิจสร้างสรรค์ จากท้องถิ่นสู่สากล ณ ฮอลล์ 7-8 ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพค เมืองทองธานี จ.นนทบุรี โดยศูนย์บ่มเพาะธุรกิจ มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา ได้เข้าร่วมออกบูธจำหน่ายสินค้าและร่วมกิจกรรมประกวดแผนธุรกิจ
ซึ่ง สกว. ได้คัดเลือกผลงานวิจัยของ มรภ.สงขลา 2 ผลงาน คือปลาหวานสมิหลาและข้าวยำกรอบสมิหลา รับรางวัลนวัตกรรมดีเด่น ปี 2555 ซึ่งงานวิจัยปลาหวานสมิหลา กรณีศึกษาปลาหวานผลิตภัณฑ์กลุ่มแม่บ้าน ต.หัวเขา อ.เมือง จ.สงขลา ผู้รับผิดชอบ คือ ดร.ครวญ บัวคีรี, อ.สุเพ็ญ ด้วงทอง, อ.นพรัตน์ วงศ์หิรัญเดชา, อ.มีพร ชัยสุขสกุล และ อ.ณิศา มาชู ส่วนงานวิจัยข้าวยำปลากรอบ ผู้รับผิดชอบ คือ นายดำรงค์เกียรติ ศรีเทพ และ ดร.ทัศนา เมฆเวียน
น.ส. อมราวดี วงศ์เทพ ผู้จัดการศูนย์บ่มเพาะธุรกิจ มรภ.สงขลา กล่าวว่า คณะผู้วิจัยทั้ง 2 ผลงานได้เสนอผลิตภัณฑ์และแผนธุรกิจเข้าประกวดด้านธุรกิจสร้างสรรค์ และท้องถิ่นสู่สากล ร่วมกันในนามของมรภ.สงขลา โดยความร่วมมือของคณาจารย์ นักศึกษาและเจ้าหน้าที่คณะเทคโนโลยีการเกษตร คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี คณะวิทยาการจัดการ และศูนย์บ่มเพาะธุรกิจ มรภ.สงขลา จนได้รับรางวัลดีเด่นด้านนวัตกรรม (Innovation) ธุรกิจสร้างสรรค์ จากท้องถิ่นสู่สากล ซึ่งกิจกรรมในครั้งนี้ทำให้งานวิจัยท้องถิ่นได้รับการยกระดับความสำคัญในการนำไปใช้ประโยชน์อย่างแท้จริง โดยศูนย์บ่มเพาะธุรกิจจะให้การสนับสนุนงานวิจัยที่สามารถต่อยอดผลงานจากหิ้งสู่ห้าง ซึ่งงานวิจัยที่ได้รับรางวัลในครั้งนี้ มีการพัฒนารูปแบบการจัดกระบวนการเรียนการสอน ให้นักศึกษามีความรู้ความสามารถในอันที่จะนำไปสู่การประกอบอาชีพธุรกิจอาหารต่อไป
ด้าน นายดำรงค์เกียรติ ศรีเทพ อาจารย์ประจำโปรแกรมวิชาคหกรรมศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มรภ.สงขลา หนึ่งในคณะผู้วิจัย กล่าวถึงงานวิจัยข้าวยำกรอบสมิหลา ว่า เป็นการต่อยอดจากโครงการวิจัยความหลากหลายทางวัฒนธรรมการผลิต และการบริโภคข้าวยำปักษ์ใต้ โดยทำงานร่วมกับ ดร.ทัศนา เมฆเวียน ภายใต้แนวคิดที่ว่าข้าวยำเป็นอาหารพื้นบ้านของภาคใต้ที่มีคุณค่าทางโภชนาการ มีความสมดุล (Balance diet) ของสารอาหารต่างๆ ส่วนประกอบหลัก คือ ข้าว น้ำบูดู และพืชผักพื้นบ้านนานาชนิด ข้าวยำมีความแตกต่างกันตามวัฒนธรรมการกินของแต่ละชุมชน นิยมบริโภคเป็นอาหารหลัก และต้องบริโภคเป็นของสด ไม่สามารถเก็บรักษาไว้ได้นาน
ซึ่งในวิถีชีวิตของคนในสังคมปัจจุบันที่มีความเร่งรีบ ต้องการความสะดวกในการจัดหาอาหารเพื่อการบริโภค ข้าวยำกรอบสมิหลา จึงเป็นทางเลือกหนึ่งสำหรับผู้ที่ต้องการบริโภคอาหารพื้นเมืองที่ทรงคุณค่าทางโภชนาการ เป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นภาคใต้ สมควรแก่การอนุรักษ์ไว้ ด้วยการนำมาแปรรูปในรูปของข้าวยำกรอบสมิหลา ที่ยังคงรสชาติของข้าวยำแท้ๆ สามารถเก็บรักษาได้ยาวนานกว่าของสด อีกทั้งยังสะดวกในการบริโภค เหมาะเป็นของขบเคี้ยวที่อุดมไปด้วยคุณค่าทางอาหารและสมุนไพรไทย และเหมาะเป็นของฝากอย่างยิ่ง
“วิธีการทำข้าวยำกรอบสมิหลา ขั้นแรกนำข้าวสวยไปอบด้วยเตาอบลมร้อนที่อุณหภูมิ 65 องศาเซลเซียส เป็นเวลา 3 ชั่วโมง จากนั้นนำข้าวที่ผ่านการอบมาทอดด้วยน้ำมันที่ร้อนจัดให้พองกรอบ และนำเส้นหมี่ไปทอดในน้ำมันที่ร้อนจัด โดยเส้นหมี่ผ่านการอบที่อุณหภูมิ 65 องศาเซลเซียสเป็นเวลา 2 ชั่วโมง ลำดับต่อมานำผักข้าวยำทั้งหมดมาอบด้วยตู้อบลมร้อน ที่อุณหภูมิ 50 องศาเซลเซียส เป็นเวลา 5 ชั่วโมง จากนั้นนำข้าว เส้นหมี่ และผักข้าวยำทั้งหมดมาผสมเข้าด้วยกันอย่างเบามือ ส่วนการทำน้ำข้าวยำ ตั้งกระทะไฟอ่อนใส่บูดูแบะแซและน้ำตาลปี๊บ เคี่ยวจนงวดแล้วปิดไฟ นำส่วนผสมทั้งหมดที่เตรียมไว้มาคลุกเคล้าให้เข้ากัน แล้วนำไปขึ้นรูปด้วยพิมพ์ ก็จะได้ข้าวยำกรอบสมิหลาที่สามารถเก็บไว้ได้นาน และหน้าตาน่ารับประทานอย่างที่เห็น” นายดำรงค์เกียรติกล่าว