xs
xsm
sm
md
lg

3 จชต.เดินรณรงค์ “1 เสียงร่วมยุติความรุนแรงต่อเด็กและสตรี”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ปัตตานี - องค์กรภาคประชาสังคม-หน่วยงานภาครัฐ 3 จังหวัดชายแดนใต้ จัดกิจกรรมรณรงค์ 1 เสียงร่วมยุติความรุนแรงต่อเด็กและสตรี เนื่องในโอกาส 25 พฤศจิกายน เป็นวันยุติความรุนแรงต่อเด็กและสตรี ประจำปี 2555 พร้อมยื่นข้อเสนอไปยังรัฐบาล

เครือข่ายผู้หญิงยุติความรุนแรงแสวงสันติภาพ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และมูลนิธิเพื่อนหญิง จัดกิจกรรม “เวที ผู้หญิงส่งเสียงให้ดัง ยุติความรุนแรง และการเลือกปฏิบัติ” ปีที่ 3ในหัวข้อ “เครือข่ายผู้หญิงพบรัฐบาล พลังหญิง พลังขับเคลื่อนการพัฒนาสู่สันติภาพชายแดนใต้ที่ยั่งยืน” เนื่องในโอกาส 25 พฤศจิกายน วันยุติความรุนแรงต่อเด็กและสตรี ประจำปี 2555 ระหว่างวันที่ 17-18 พฤศจิกายน ณ หอประชุมสำนักงานอธิการบดี ม.อ.ปัตตานี มีองค์กรภาคประชาสังคม หน่วยงานภาครัฐ 20 องค์กร ผู้เข้าร่วมกว่า 600 คน

โดยได้รับการสนับสนุนจากคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า สหภาพยุโรป และสถานทูตฟินแลนด์ ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดการรณรงค์อย่างแพร่หลาย สร้างจิตสำนึกความตระหนักร่วมกันของทุกภาคส่วนให้มีการยุติการใช้ความรุนแรงต่อเด็กและสตรีในทุกรูปแบบ และเพื่อเปิดโอกาสให้ผู้หญิงได้มีโอกาสเรียนรู้ แลกเปลี่ยนประสบการณ์ร่วมกัน และมีส่วนร่วมนำเสนอความคิดเห็นเกี่ยวกับแผนงาน รวมทั้งแนวทางการแก้ไขปัญหาของเด็ก เยาวชน

ภายในงานมีกิจกรรมการประชุมเชิงปฏิบัติ การพัฒนาความร่วมมือภาครัฐ-ประชาสังคม เพื่อการเข้าถึงสิทธิ และคุณภาพชีวิตที่ดีของผู้หญิง เด็กชายแดนใต้ การเดินรณรงค์ 1 เสียงร่วมยุติความรุนแรงต่อสตรี การอภิปรายหัวข้อ “เครือข่ายผู้หญิงพบรัฐบาล พลังหญิง พลังขับเคลื่อนการพัฒนาสู่สันติภาพชายแดนใต้ที่ยั่งยืน” มีแขกรับเชิญ ดร.จรัสโรจน์ บถดำริห์ ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีฝ่ายข้าราชการประจำด้านสังคม สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี อ.ปิยะ กิจถาวรรอง เลขาธิการ ศอ.บต. พล.ต.สุเมธ ไมตรีประสานส์ ผอ.ศูนย์บูรณาการพื้นที่พิเศษ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ดำเนินรายการโดย คุณธนวดี ท่าจีน ผอ. มูลนิธิเพื่อนหญิง

การเสวนา เรื่อง “ผู้หญิงส่งเสียงให้ดังยุติความรุนแรงและการเลือกปฏิบัติในพื้นที่ชายแดนใต้” โดย พญ.เพชรดาว โต๊ะมีนา ผอ.ศูนย์สุขภาพจิตที่ 15 นางมัรยัม สาเมาะ รองประธานเครือข่ายผู้หญิงยุติความรุนแรงแสวงสันติภาพ นางฉลวย บุญเพชรศรี ผู้ได้รับผลกระทบ จ.ปัตตานี นายอุสมาน ดานิ ผู้ประสานงานองค์กรเยาวชน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ดำเนินรายการโดย คุณติชิลา พุทธสาระพันธ์ ผู้สื่อข่าวทีวีไทย (ไทยพีบีเอส) การแสดงทางวัฒนธรรม การจัดแสดงนิทรรศการ และการมอบทุนการศึกษาให้แก่เด็กกำพร้าที่ได้รับผลกระทบฯ โครงการใต้ฟ้าเดียวกัน

นางรอซิดะห์ ปูซู ประธานเครือข่ายผู้หญิงยุติความรุนแรงแสวงสันติภาพ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ กล่าวว่า ปัญหาความไม่สงบที่เกิดในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ตั้งแต่เดือนมกราคม 2558 เป็นต้นมา ได้ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตของพี่น้องประชาชนในพื้นที่ในทุกด้าน ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม การศึกษา ขนบธรรมเนียมประเพณี ในรอบ 9 ปี ที่ผ่านมา พบว่ามีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บ มากกว่า 13,734 คน มีหญิงหม้าย 2,300 กว่าคน และมีเด็กกำพร้ามากกว่า 4,942 คน และสิ่งที่น่าเป็นห่วงก็คือว่า มีผู้หญิง และเด็กตกเป็นเหยื่อของความรุนแรงจากสถานการณ์ความไม่สงบโดยตรงมากขึ้น

เครือข่ายผู้หญิงยุติความรุนแรงแสวงสันติภาพ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ มูลนิธิเพื่อนหญิง ซึ่งเป็นองค์กรภาคประชาสังคม มีบทบาทในการส่งเสริมบทบาท สิทธิหน้าที่ การให้ความรู้ และพัฒนาศักยภาพผู้หญิงในด้านต่างๆ การช่วยเหลือเยียวยา การให้ความช่วยเหลือด้านอาชีพแก่สตรี สนับสนุนทุนการศึกษาให้แก่เด็กกำพร้าที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ และกำพร้าทั่วไป รวมทั้งการให้ความช่วยเหลือเหยื่อความรุนแรงทางสังคม และการค้ามนุษย์ ประกอบกับเนื่องด้วยในวันที่ 25 พฤศจิกายนของทุกปี เป็นวันยุติความรุนแรงต่อเด็กและสตรีสากล ซึ่งทางเครือข่ายผู้หญิงฯ และมูลนิธิเพื่อนหญิงได้มีการจัดกิจกรรมทุกปี

สำหรับกิจกรรมในปีนี้ เรารณรงค์ให้ทุกภาคส่วนได้ร่วมยุติความรุนแรง 1 เสียงร่วมหยุดความรุนแรงต่อเด็กและสตรี และยื่นข้อเสนอไปยังรัฐบาลคือ
 
1.ชดเชยเงินเยียว และกระบวนการเยียวยาที่ยั่งยืน

1.1 การจ่ายเงินเยียวยาต้องคำนึงถึงคนที่อุปการะเลี้ยงดูในครอบครัวตามความเป็นจริง โดยตรวจสอบจากพยานหลักฐาน และพยานแวดล้อม ไม่ใช่ยึดตามเกณฑ์การเยียวยาเพียงอย่างเดียว

1.2 หน่วยงานเยียวยาของรัฐต้องแก้ปัญหาด้วยความจริงใจ ไม่เลือกปฏิบัติ และให้ถือว่าประชาชนมีสิทธิเท่าเทียมกัน รวมถึงการติดตามประเมินผลเงินเยียวยาที่มีการจัดสรรให้อย่างเป็นธรรม

1.3 รัฐต้องจัดตั้งองค์กรเยียวยาภาคประชาชน พร้อมสนับสนุนงบประมาณในการดำเนินงานองค์กรเยียวยาภาคประชาชน โดยให้หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องเป็นเพียงที่ปรึกษาองค์กร

1.4 รัฐ/ศอ.บต./กอ.รมน.ต้องส่งเสริม สนับสนุนทักษะอาชีพที่สอดคล้องกับความต้องการของกลุ่มสตรีแบบต่อยอด ไม่ว่าจะเป็น งบประมาณ ทรัพยากร และภูมิปัญญาในพื้นที่ เช่น การอบรม/เพิ่มทักษะด้านอาชีพ ส่งเสริมการตลาดรองรับผลผลิต และส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ วัฒนธรรม และสิ่งแวดล้อมที่ชุมชนมีทรัพยากร หรือวัตถุดิบที่ท้องถิ่นมีอยู่

1.5 รัฐต้องสนับสนุนให้มีการจัดตั้งกองทุนรูปแบบใหม่แบบ “กลุ่มเพื่อนช่วยเพื่อน” โดยสนับสนุนทั้งด้านงบประมาณ บุคลากรแกนนำ ผู้ผ่านพ้นที่ร่วมทำกิจกรรมกับเครือข่ายฯ เช่น การลงพื้นที่เยี่ยมผู้ประสบปัญหาความรุนแรงไม่ว่าจะเป็นสตรี และเด็ก หรือประชากรกลุ่มเปราะบาง เพื่อลงติดตามการช่วยเหลือ ในขณะเดียวกัน ก็เสริมพลัง และดูแลทางด้านจิตใจให้ลุกขึ้นยืนได้อย่างมั่นคงในครอบครัว ชุมชน และสังคม

1.6 รัฐต้องจัดตั้งคณะทำงานติดตามประเมินผลการใช้เงินเยียวยา กองทุนทางสังคม หรือการทำงานของเครือข่ายสตรีฯ ที่รับโครงการการช่วยเหลือ สนับสนุน จากรัฐ เพื่อให้เกิดการทำงานที่ตรวจสอบได้ โปร่งใส มีส่วนร่วม ดังหลักการการบริหารที่ใช้หลักธรรมาภิบาล

1.7 รัฐต้องจัดเวทีให้ความรู้ เช่น การอบรม/เสวนา/สัมมนา เพื่อทำความเข้าใจและกำหนดแนวทางเพื่อเกิดกระบวนการแก้ไขปัญหาด้วยความเป็นธรรม ไม่ว่าจะเป็นความรู้ด้านสิทธิประโยชน์ด้านกฎหมาย หรือการจัดอบรมเรื่องสื่อต่างๆ สำหรับผู้หญิงแบบ 2 ภาษา

2.แนวทางการพัฒนาเพื่อนำไปสู่สันติภาพ

2.1 รัฐต้องส่งเสริมการเตรียมความพร้อมแก่พ่อ แม่ ครอบครัว ของกลุ่มเด็ก เยาวชนที่เป็นกลุ่มเสี่ยง เช่น อบรมเสริมพลังแม่ให้มีความรู้เรื่องการเฝ้าระวังป้องกันไม่ให้ลูกหลานติดยาเสพติด

2.2 รัฐต้องส่งเสริมให้มีโครงการเตรียมความพร้อมแก่เด็ก และเยาวชนกลุ่มเสี่ยง โดยการสนับสนุนการมีอาชีพที่ต่อเนื่อง มั่นคง เช่น การจ้างงานเยาวชนในชุมชนมีส่วนร่วมในการเฝ้าระวังปัญหายาเสพติด “ทำรั้วชุมชน” เพื่อแก้ปัญหายาเสพติด และการรักษาความสงบร่วมกัน เช่น การสร้างหมู่บ้านเยาวชนกลุ่มเสี่ยง (รูปแบบเหมือนหมู่บ้านรอตันบาตูที่นราธิวาส)








กำลังโหลดความคิดเห็น