การเปิดทำเนียบรัฐบาล เพื่อพูดคุยเรื่องแนวทางการแก้ปัญหาความไม่สงบเรียบร้อยในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ระหว่างฝ่ายรัฐบาล-ฝ่ายค้านและผู้บริหารหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องกับการแก้ปัญหาภาคใต้เมื่อวันอังคารที่ 18 กันยายนที่ผ่านมา ณ ทำเนียบรัฐบาล
เป็นไปตามคาดตั้งแต่ยังไม่ได้เปิดห้องนั่งประชุมกันด้วยซ้ำ ว่าถึงที่สุด ก็แค่การล้อมวงสนทนาสร้างภาพ ไร้ผลสรุปที่จะนำมาเป็นแนวทางปฏิบัติที่เป็นรูปธรรม ก็แค่น้ำลายแตกแล้วก็แยกทาง
ซึ่งงานนี้ นอกจากฝ่ายการเมืองเข้าร่วมประชุมกันจำนวนมากทั้งยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีที่นั่งเป็นประธานหัวโต๊ะการประชุม-พลเอกยุทธศักดิ์ ศศิประภา รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง ที่คุมศูนย์ปฏิบัติการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศปก.จชต.)-ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี กำกับดูแลสำนักงานตำรวจแห่งชาติ-ยงยุทธ วิชัยดิษฐ์ รมว.มหาดไทย-พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณฑัต รมว.กลาโหม-สุรพงษ์ โตวิจักษ์ชัยกุล รมว.ต่างประเทศ
หรือระดับบิ๊กในหน่วยงานภาครัฐ อาทิ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก - พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ว่าที่ ผบ.ตร.- พล.ต.อ.พงษ์พัศ พงศ์เจริญ รอง ผบ.ตร.รักษาการเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด- พล.ท.อุดมชัย ธรรมสาโรรัชต์ แม่ทัพภาคที่ 4 -พล.ท.ภราดร พัฒน ถาบุตร ว่าที่เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.)- พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้(ศอ.บต.)บนบรรยากาศที่ทั้งรัฐบาลและฝ่ายค้านบอกตรงกันว่า ราบรื่น การพูดคุยเป็นไปได้ด้วยดี
อย่างไรก็ตาม ท่าทีจากฝ่ายรัฐบาลพบว่าไม่ได้มีท่าทีตอบรับที่จะนำข้อคิดเห็นหรือข้อเสนอที่อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี-ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎรและกลุ่มส.ส.ภาคใต้ พรรคประชาธิปัตย์ที่ไปร่วมประชุมกันด้วยหลายสิบคน ซึ่งเสนอแนวทางการแก้ปัญหาภาคใต้ให้รัฐบาลไปปฏิบัติหรือรับไปพิจารณา
แถมยังบอกว่าหลายข้อเสนอของส.ส.ประชาธิปัตย์ เป็นเรื่องที่รัฐบาลคิดและทำอยู่แล้ว
อย่างที่ยิ่งลักษณ์ ชินวัตรบอกเอาไว้หลังประชุมเมื่อ 18 ก.ย. 55 ไว้หลังโดนถามว่าข้อเสนอที่ประชาธิปัตย์เสนอต่อรัฐบาล จะว่าอย่างไรและมีอะไรที่แตกต่างกับสิ่งที่รัฐบาลทำไปแล้วบ้าง?
“จริงๆ แล้วไม่ได้ต่าง เพียงแต่ว่าอาจจะเรื่องการสื่อสาร การทำงานด้วยกัน เช่น อยากเห็นความสงบ วิธีการดูแลประชาชน การพัฒนา ศอ.บต. เป็นหน่วยงานหลักในการพัฒนาอยู่แล้ว
ส่วนเรื่องความมั่นคงก็คงอยากจะให้พี่น้องประชาชนในพื้นที่มีส่วนร่วมกันดูแลกันเอง ก็มีแนวคิดเหมือนๆ กัน แต่ขั้นตอนในรายละเอียดบางอย่างก็อยู่ในขั้นตอนการดำเนินงาน ฝ่ายรัฐบาลก็ได้ชี้แจงว่าขณะนี้เรากำลังทำงานไปแล้ว ถือว่าเป็นการพูดคุยที่ดี”
ก็ต้องออกมาแบบนี้ เพราะรัฐบาลคงไม่รีบบอกทันทีว่าทุกข้อเสนอของประชาธิปัตย์ รัฐบาลเห็นด้วย เป็นเรื่องดีทั้งสิ้น และจะรีบนำไปหารือถึงความเป็นไปได้ในการปฏิบัติ เพราะหากออกมาแบบนั้น ก็ไม่เป็นผลดีกับรัฐบาล จะแสดงให้เห็นว่ารัฐบาลและนายกรัฐมนตรี คิดไม่เป็น แก้ปัญหาภาคใต้ผิดทางไม่ตรงจุด ต้องให้ฝ่ายค้านมาช่วยสั่งสอน
รัฐบาลก็ต้องออกลีลา ขอบคุณ พร้อมรับฟัง และพยายามยืนยันว่ารัฐบาลมาถูกทางแล้ว ส่วนเรื่องจะเห็นด้วยและนำไปปฏิบัติ คงยากจะเกิดขึ้น
“ทีมข่าวการเมือง”เห็นด้วยกับรูปแบบการพูดคุยเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลและความคิดเห็นในการแก้ปัญหาไฟใต้ดังกล่าว เป็นเรื่องดีแน่นอน เพียงแต่เมื่อคุยกันแล้ว ทุกคนที่ร่วมวงสนทนา ต้องปล่อยวาง เรื่อง อัตตาการเมืองเอาไว้แล้วเอาผลประโยชน์ส่วนรวมเป็นตัวตั้ง เลิกคิดยึดติดกับความเป็นรัฐบาลหรือฝ่ายค้าน เพราะไม่เช่นนั้น ให้คุยกันเป็นสิบๆรอบ ก็ไร้ประโยชน์
อย่างไรก็ตาม หากวิเคราะห์แนวทางแก้ไขปัญหาสามจังหวัดชายแดนใต้ของพรรคประชาธิปัตย์ซึ่งมีเนื้อหาหลัก 9 ข้อ ประกอบด้วย
1.ยึดมั่นในพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เข้าใจ เข้าถึง และ พัฒนา
2.ใช้นโยบายการเมืองนำการทหาร และใช้นโยบายแก้ไขปัญหาและพัฒนาให้ต่อเนื่องจากรัฐบาลประชาธิปัตย์
3.ให้ยกเลิกการใช้กฎหมายพิเศษทั้งกฎ อัยการศึก และ พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน และใช้ พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงในราชอาณาจักรแทน โดยเฉพาะการดำเนินการตามมาตรา 21 เพื่อความสงบสุข ในพื้นที่
4.ยกเลิกการใช้กำลังทหารจากต่างถิ่น ให้เร็วที่สุด และให้ใช้กองกำลังจากกองทัพภาค ที่ 4 กองพลทหารราบที่ 15 ให้เต็มอัตรากำลัง ตำรวจ ชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน อาสาสมัครรักษาความสงบเรียบร้อยในหมู่บ้าน อาสารักษาดินแดนกรมการปกครอง และกองกำลังประจำถิ่นอื่นๆ แทน
5.สนับสนุน ส่งเสริมให้ประชาชนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ 4 อำเภอของสงขลา รับราชการและทำหน้าที่ในฐานะเจ้าหน้าที่ของรัฐให้มากขึ้น รวมถึงการให้กองกำลังประจำถิ่นมีโอกาสก้าวหน้าในสายงานฝ่ายปกครอง ตำรวจ ทหารด้วย
6.ให้ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) เป็นหน่วยงานหลักในการพัฒนา การให้ความยุติธรรม การฟื้นฟู เยียวยาแก่ประชาชนในพื้นที่ 3 จังหวัด 4 อำเภอของสงขลา โดยให้ กอ.รมน.เป็นหน่วยงานหลักด้านความมั่นคง
7.ให้รัฐบาลจ่ายเงินเยียวยาให้ พลเรือน ตำรวจ ทหาร และประชาชนผู้บริสุทธิ์ที่ได้รับ ผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบจังหวัดชายแดนภาคใต้เท่ากับผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมืองระหว่างปี 2548-2553
8.คัดค้านการจัดตั้งเขตปกครองพิเศษ ร่าง พ.ร.บ.ปัตตานีมหานคร และการเลือกตั้ง ผู้ว่าราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ เนื่องจาก มี ศอ.บต.เป็นหน่วยหลักในการพัฒนา การให้ความยุติธรรม เป็นธรรม การฟื้นฟูเยียวยา แก่ประชาชนในพื้นที่ และ กอ.รมน.ดูแลด้าน ความมั่นคงและความสงบเรียบร้อยอยู่แล้ว
9.ให้นายกรัฐมนตรีทำหน้าที่ในฐานะ ผอ.รมน. และ ผอ.ศอ.บต.รับผิดชอบการพัฒนาและแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นวาระแห่งชาติ ซึ่งจะทำให้เกิดเอกภาพทั้งการบังคับบัญชา การกำหนดนโยบายและนำนโยบายไปสู่ปฏิบัติ
จะพบว่า แม้จะมีหลายข้อเสนอแต่หากให้สรุปประเด็นที่ประชาธิปัตย์ต้องการเห็นมากที่สุดจากฝ่ายรัฐบาลผ่านคำให้สัมภาษณ์ของอภิสิทธิ์และแกนนำพรรคที่ดูแลพื้นที่เลือกตั้ง 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างถาวร เสนเนียม อดีตรมช.มหาดไทย -เจะอามิง โตะตาหยง ส.ส.นราธิวาส -สุรเชษฐ์ แวอาแซ ส.ส.นราธิวาส ที่นำเสนอความเห็นผ่านสื่อ
แนวคิดหลักที่ประชาธิปัตย์นำเสนอก็คือการให้ฝ่ายการเมืองซึ่งก็คือไล่ตั้งแต่ตัว ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง ต้องเป็นตัวหลักในการแก้ปัญหาภาคใต้ด้วยวิธีการเมืองนำการทหาร มีการทำงานเชิงรุก ต้องบูรณาการทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ทำงานร่วมกันได้และต้องทำต่อเนื่อง ไม่ใช่ระเบิดที คาร์บอมบ์ที ยิงทหาร-ตำรวจตายที ก็มาทำเป็นตื่นตัวสนใจแก้ปัญหากันที แถมชี้ว่าที่ผ่านมาหลายหน่วยงานยังทำงานซ้ำซ้อนกันอีก
“ทีมข่าวการเมือง”เห็นว่า อะไรที่ทำแล้วปัญหาภาคใต้ดีขึ้น คลี่คลายลงได้ รัฐบาลก็ควรต้องทำ อย่าได้คิดว่าทำแล้ว จะเสียหน้า
เช่นหากแนวคิดเรื่องการเลือกตั้งผวจ.ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่เฉลิม อยู่บำรุง พยายามนำเสนอ เมื่อถูกท้วงติงว่ายังไม่ถึงเวลาและไม่ได้ทำให้ปัญหาดีขึ้น แถมการพยายามเสนอแนวคิดดังกล่าวยิ่งทำให้คนในพื้นที่สับสนต่อทิศทางการแก้ปัญหาภาคใต้ของรัฐบาล ก็ควรที่คนในรัฐบาลอย่างเฉลิม จะรับไปทบทวนตัวเองด้วย
หรืออย่างการเสนอให้รัฐบาลจ่ายเงินเยียวยาให้ พลเรือน ตำรวจ ทหาร และประชาชนผู้บริสุทธิ์ที่ได้รับ ผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบจังหวัดชายแดนภาคใต้เท่ากับผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมืองระหว่างปี 2548-2553
ก็เป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายเรียกร้องมานานแล้วเพราะปัจจุบันแม้รัฐบาลจะมีการจ่ายเงินเยียวยาให้ประชาชน-ทหาร-ตำรวจผู้บริสุทธิ์ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ภาคใต้ แต่จำนวนเงินก็ยังห่างจากที่รัฐบาลจ่ายเงินให้กับคนเสื้อแดงค่อนข้างมาก
แม้ก่อนหน้านี้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อ 14 สิงหาคม 2555 จะมีการพิจารณาปรับเพิ่มการจ่ายเงินเยียวยาประชาชนที่เสียชีวิตและทุพพลภาพจากเหตุการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ตามที่กระทรวงยุติธรรมเสนอจากเดิมที่รัฐบาลเคยให้การช่วยเหลือหากว่าเสียชีวิตจาก 100,000 บาท ก็ปรับเพิ่มเป็น 500,000 บาท และหากทุพพลภาพจากเดิมได้รับการช่วยเหลือเป็นเงินจำนวน 80,000 บาท เพิ่มเป็น 500,000 บาทแต่เมื่อเทียบกับที่รัฐบาลจ่ายเงินให้กับผู้เสียชีวิต-บาดเจ็บในช่วงชุมนุมเสื้อแดงเมื่อปี 53 จะเห็นได้ว่ามีความแตกต่างกันอย่างมาก เช่น เสียชีวิตที่ได้ร่วม 7.5 ล้านบาท
ทั้งที่ประชาชนผู้บริสุทธิ์ที่ต้องมาเสียชีวิตจากเหตุการณ์ความไม่สงบเรียบร้อยในภาคใต้เพราะฝีมือผู้ก่อเหตุเช่นระเบิดคาร์บอมบ์-การลอบยิงหรือการทำร้ายทหาร ตำรวจ จนเสียชีวิตขณะปฏิบัติหน้าที่ กลุ่มคนเหล่านี้สมควรได้รับเงินเยียวยาช่วยเหลือมากกว่าที่รัฐบาลจ่ายให้กับพวกคนเสื้อแดงเสียอีก
การเปิดทำเนียบรัฐบาลให้ฝ่ายค้านมาร่วมเสนอแนวทางการแก้ปัญหาภาคใต้ จะไม่ถูกมองว่าเป็นการสร้างภาพของนายกรัฐมนตรีและรัฐบาล ก็เมื่อรัฐบาลมีความจริงใจในการแก้ปัญหาภาคใต้อย่างจริงจัง และพร้อมรับฟังทุกข้อเสนอที่เป็นเรื่องดีไปปฏิบัติหากทำแล้วประโยชน์จะเกิดขึ้น
หากรัฐบาลไม่จริงใจ ทำเป็นบอกว่าเปิดกว้างรับฟังทุกข้อคิดเห็น แต่สุดท้ายก็ไม่เคยสนใจเพราะเกรงจะเสียหน้า เอาการเมืองเป็นตัวตั้งมากกว่าส่วนรวม
แบบนี้ ประชุมกันไปกี่ครั้งเอาใครมาร่วมวงด้วย ก็ป่วยการ เสียเวลาเปล่า