xs
xsm
sm
md
lg

รัฐถกฝ่ายค้านดับไฟใต้ร่วม 4 ชม. “มาร์ค” ชง 9 ข้อ “ปู” ชูโอกาสดีได้แจงประสานงานเพิ่ม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี (แฟ้มภาพ)
นายกฯ ประธานถกแนวทางดับไฟใต้ร่วมหัวหน้าประชาธิปัตย์ ฝ่ายค้านเล็งชง 9 ข้อเสนอ ยึดมั่นแนวพระราชดำรัส ใช้การเมืองนำทหาร ใช้ พ.ร.บ.มั่นคงแทน ยกเลิกกำลังต่างถิ่น หนุนชาวชายแดนรับราชการ ให้ ศอ.บต.ทำงานหลัก จ่ายเยียวยาให้เท่าแดง ค้านตั้งเขตปกครองพิเศษ จี้ “ยิ่งลักษณ์” ทำหน้าที่ ด้าน “ปู” เผยหลังประชุมข้อเสนอตรงกัน ชูเป็นโอกาสแจงประสานงานร่วม ยันพร้อมรับฟังข้อเสนอ “เหลิม” ปัดรับคำเชิญลงใต้ บอกพร้อมไปอยู่แล้ว

วันนี้ (18 ก.ย.) ที่ทำเนียบรัฐบาล ที่ห้องประชุม 301 ตึกบัญชาการ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี ทำหน้าที่เป็นประธานการประชุมแนวทางการแก้ไขปัญหาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ พร้อมเชิญน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม ประกอบด้วย นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.มหาดไทย พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา รองนายกรัฐมนตรี พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัติ รมว.กลาโหม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ. พล.ท. อุดมชัย ธรรมสาโรรัชต์ แม่ทัพภาค 4 พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร ว่าที่เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติคนใหม่ พร้อมเชิญนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้นำฝ่ายค้าน หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และ ส.ส.ในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ของพรรคประชาธิปัตย์ เข้าร่วมประชุมตามคำเชิญ ซึ่งถือเป็นครั้งแรกที่ฝ่ายรัฐบาลเชิญให้พรรคประชาธิปัตย์มาเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งการประชุมครั้งนี้ ไม่อนุญาตให้สื่อมวลชนเข้าร่วมรับฟังแต่อย่างใด

ทืั้งนี้มีรายงานว่า ทันทีที่นายอภิสิทธิ์ นำทีม ส.ส.จังหวัดภาคใต้ มาถึงตึกบัญชาการ เพื่อเข้าร่วมประชุมตามคำเชิญของฝ่ายรัฐบาล ปรากฏว่า ฝนได้ตกลงมาอย่างหนักพร้อมมีเสียงฟ้าร้องเป็นระยะๆ จนน้ำท่วมฉับพลันบนผิวถนนภายในทำเนียบ เนื่องจากน้ำระบายลงไม่ทัน แต่หลังจากการประชุมเสร็จสิ้นฝนได้เริ่มซาและหยุดลงในที่สุด

โดยแนวทางแก้ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่ภาคใต้ ที่พรรคประชาธิปัตย์ได้เสนอแนวทางต่อรัฐบาลนั้นมีทั้งหมด 9 ข้อ ประกอบด้วย 1. ยึดมั่นในพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เข้าใจ เข้าถึง และพัฒนา 2. ใช้นโยบายการเมืองนำการทหาร และใช้นโยบายแก้ไขปัญหาและพัฒนาให้ต่อเนื่องจากรัฐบาลประชาธิปัตย์ 3. ให้ยกเลิกการใช้กฎหมายพิเศษทั้ง 2 ฉบับ และใช้ พรบ.การรักษาความมั่นคง แทน โดยเฉพาะการดำเนินการตามมาตรา 21 เพื่อความสงบสุขในพื้นที่ 4. ยกเลิกการใช้กำลังทหารจากต่างถิ่นให้เร็วที่สุด และให้ใช้กองกำลังจากกองทัพภาค 4 กองพลทหารราบที่ 15 ให้เต็มอัตรากำลัง ตำรวจ ชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน 5. สนับสนุน ส่งเสริมให้ประชาชนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ 4 อำเภอของสงขลารับราชการและทำหน้าที่ในฐานะเจ้าหน้าที่ของรัฐให้มากขึ้น

6. ให้ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ ศอ.บต. เป็นหน่วยงานหลักในการพัฒนา การให้ความยุติธรรม เป็นธรรม การฟื้นฟู เยียวยา โดยให้ กอ.รมน.เป็นหน่วยงานหลักด้านความมั่นคง 7. ให้รัฐบาลจ่ายเงินเยียวยาให้พลเรือน ตำรวจ ทหาร และประชาชนผู้บริสุทธิ์ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบจังหวัดชายแดนภาคใต้เท่ากับผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมืองระหว่างปี 2548-2553 8. คัดค้านการจัดตั้งเขตปกครองพิเศษ หรือร่าง พ.ร.บ.ปัตตานีมหานคร หรือเลือกผู้ว่าราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ และ 9. ให้นายกรัฐมนตรีทำหน้าที่ในฐานะ ผอ.รมน. และ ผอ.ศอ.บต. เพื่อรับผิดชอบต่อการพัฒนาและแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้อันเป็นวาระแห่งชาติซึ่งจะเกิดเอกภาพทั้งการบังคับบัญชา การกำหนดนโยบายและนำนโยบายไปสู่ปฏิบัติ

ขณะที่ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี ระบุว่าการหารือร่วมกันในวันนี้ (18 ก.ย.) จะไม่มีประธานการประชุม แต่เป็นการล้อมวงเสวนาเพื่อหาแนวทางร่วมกันในการแก้ปัญหาความไม่สงบ ซึ่งฝ่ายค้านจะมีข้อเสนอเพิ่มเติมที่จะหารือกันนอกรอบเฉพาะฝ่ายการเมือง หลังการประชุมร่วมกับข้าราชการระดับสูงที่รับผิดชอบในพื้นที่แล้ว

ภายหลังเสร็จสิ้นการประชุมร่วมกันนานกว่า 4 ชั่วโมง นายกรัฐมนตรีเปิดเผยว่า ข้อเสนอของฝ่ายค้านโดยรวมถือว่าตรงกับแนวทางแก้ไขปัญหาของรัฐบาลที่ได้ดำเนินการอยู่แล้ว จึงเป็นโอกาสดีที่ได้ชี้แจงทำความเข้าใจและประสานการทำงานร่วมกันมากขึ้น ด้วยการนำรายละเอียดต่างๆมาปรับเป็นแนวทางเดียวกัน ขณะเดียวกันฝ่ายค้านห่วงใยขอให้รัฐบาลเน้นการรักษาความสงบเรียบร้อย ป้องกันการก่อเหตุ ดูแลความปลอดภัยของประชาชน และการพัฒนาพื้นที่ ซึ่งได้รับข้อเสนอมาและมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปดำเนินการ โดยเบื้องต้นมี ศอ.บต.และสมช.ดูแลประชาชนในพื้นที่อยู่แล้ว ทั้งนี้หาก ส.ส.ในพื้นที่ต้องการเสนอแนะแนวทางการก้ไขปัญหาเพิ่มเติม สามารถใช้กลไกของสภาผู้แทนราษฏร ที่เปิดรับฟังข้อเสนอตลอด นอกจากนี้มี ศอ.บต.และแม่ทัพภาคที่ 4 ดูแลและประสานงานร่วมกันอยู่แล้ว จึงมอบหมายให้ทำงานร่วมกับ ส.ส.ในพื้นที่ด้วย อย่างไรก็ตามการหารือกันครั้งนี้ถือว่าเป็นไปได้ด้วยดี

ด้าน ร.ต.อ.เฉลิมกล่าวว่า นายกฯ น้อมรับข้อเสนอแนะเพื่อประมวลการทำงาน หาแนวทางมาแก้ไขปัญหาร่วมกัน ส่วนที่ ส.ส.ใต้เชิญตนเองลงพื้นที่ภาคใต้นั้น ยืนยันว่าไม่ต้องเชิญ เพราะพร้อมลงพื้นที่อยู่แล้ว
กำลังโหลดความคิดเห็น