xs
xsm
sm
md
lg

ถอดบทเรียนรื้อถอนอาคารเรียนไม้หลุมพอ ร.ร.วัดหูแร่ กว่าถั่วจะสุก..งาก็ไหม้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายกรีฑา อนุรักษ์ ผอ.โรงเรียนวัดหูแร่
โดย...ศูนย์ข่าวหาดใหญ่
 
จากปัญหาที่ยึดยื้อเป็นเวลานานของข้อพิพาทเกี่ยวกับการรื้อถอนอาคารเรียนเก่าแก่อายุกว่า 46 ปีของโรงเรียนวัดหูแร่ ต.ทุ่งตำเสา อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ซึ่งสร้างด้วยไม้หลุมพอ คุณภาพดีเยี่ยม ล่าสุด ทางคณะอนุกรรมการด้านสิทธิชุมชน และฐานทรัพยากร คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน นำโดย นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ ได้จัดประชุมชี้แจงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการรื้อถอนอาคารเรียน เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2555 ณ ห้องประชุมเทศบาลเมืองทุ่งตำเสา เพื่อให้ทุกภาคส่วนเข้าใจตรงกัน แม้ว่าอาคารดังกล่าวจะถูกชิงรื้อถอนไปแล้ว ทั้งที่มีหนังสือจากหน่วยงานต่างๆ เพื่อขอให้พิจารณาระงับการรื้อถอน แต่ถึงอย่างไรกระบวนการหาทางออกร่วมกันของปัญหาก็ยังต้องดำเนินต่อไป เพื่อยุติความขุ่นใจทางด้านความรู้สึกของกลุ่มชาวบ้านที่ผูกพันกับอาคารแห่งนี้มาเนิ่นนาน
นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ กรรมการสิทธิมนุษยชน
ย้อนไปเมื่อวันที่ 9 เมษายน 2554 ทางกลุ่มศิษย์เก่าของโรงเรียนวัดหูแร่ได้จัดงานมุทิตาจิต กตัญญูครูของเราเป็นครั้งแรก ในโอกาสครบรอบ 80 ปี ของโรงเรียนวัดหูแร่ ในขณะเดียวกัน ก็เริ่มมีกระแสข่าวว่า ทางโรงเรียนจะทำการรื้อถอนอาคารเรียนหลังแรก แบบ สข 024 ซึ่งทำด้วยไม้หลุมพอที่มีคุณภาพดี ที่ชาวบ้านร่วมเสียสละหยาดเหงื่อแรงกายตัดไม้ในป่าลึก และก่อสร้าง ทำให้บรรดาศิษย์เก่าหลายคนไปดูอาคารทั้งภายนอก และภายใน ปรากฏว่า สภาพอาคารยังดีและใช้งานได้ โดยมีการปรับปรุงพื้นปูด้วยกระเบื้อง และเปลี่ยนตะแกรงระบายลมของอาคารเสียใหม่ทั้งหมด ซึ่งความความเก่าแก่ของอาคารที่ยังมีความแข็งแรง และไม้หลุมพอนั้นยิ่งมีอายุมากราคาในตลาดยิ่งสูง ความผูกพันเหล่านี้ทำให้กลายเป็นความภาคภูมิใจที่จะอนุรักษ์ไว้ และแสดงถึงความสามัคคีของบรรพบุรุษที่เสียสละเพื่อสร้างอนาคตทางการศึกษาให้ลูกหลาน

ความคิดเห็นที่ไม่สอดคล้องกันนี้ จึงนำไปสู่การทำประชาพิจารณ์ขอความคิดเห็นของศิษย์เก่า และคนในหมู่บ้านในเวลาต่อมา แต่ก็ไม่มีการยอมรับผลของคะแนนเสียงซึ่งกันและกันด้วยเหตุผล ตลอดจนมุมมองที่ต่างกัน โดยครั้งแรกมีผู้ไม่เห็นด้วยกับการรื้อถอน และต้องการให้ปรับปรุง 238 คน และเห็นด้วยให้รื้อถอน 1 คน จากทั้งหมด 239 คน ประกอบกับสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (สพป.) สงขลา เขต 2 ซึ่งรับหนังสือขอรื้อถอนอาคารเรียนจากโรงเรียนก็ไม่เห็นด้วย จากข้อกังวลสภาพอาคารเรียนที่ยังดีอยู่ และยังไม่มีอาคารเรียนใหม่มาทดแทน เรื่องนี้จึงเงียบหายไป 1 ปีเต็ม
นายอาหมัด เบ็ญอาหลี รอง ผอ. สพป. สงขลา เขต 2
กระทั่งการขออนุญาตขอรื้อถอนจาก สพป. สงขลาเขต 2 ครั้งที่ 2 ประสบผลสำเร็จ เนื่องจากการก่อสร้างอาคารเรียน 4 ชั้นทดแทนนั้นทดแทนอาคารที่รื้อไปกำลังแล้วเสร็จ และสภาพอาคารเก่าชำรุดบางส่วน โดยทางโรงเรียนได้การทำประชามติครั้งที่ 2 ในวันที่ 5 พฤษภาคม 2555 ผลปรากฎว่า มีผู้ลงคะแนนให้รื้อถอน 383 เสียง ไม่ให้รื้อถอน 8 เสียง และเป็นบัตรเสีย 9 ใบ ในขณะที่กลุ่มคัดค้านไม่มาเข้าร่วม หรือเห็นด้วย และทำหนังสือคัดค้านมติดังกล่าว พร้อมกับเดินทางไป สพป.สงขลา เขต 2 เพื่อยื่นหนังสือระงับการรื้อถอนอาคารหลังนี้อีกครั้งด้วยเหตุผลเดิมที่ยังไม่ได้รับคำตอบว่าไม้ที่รื้อไปนั้นจะนำไปใช้ประโยชน์ใด หรือขายในราคาถูกเหมือนดังเช่นบ้านพักครู 2 หลังที่ดำเนินการไปก่อนแล้ว

ในที่สุด สพป. สงขลาเขต 2 ก็ได้ออกหนังสือชะลอการรื้อถอนเพื่อทบทวนใหม่อีกครั้งหนึ่ง ขณะเดียวกัน ทางกลุ่มคัดค้านก็ได้ทำหนังสือถึงคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงอย่างเร่งด่วนที่สุด ต่อมา ได้ส่งหนังสือแจ้งทั้ง สพป.สงขลาเขต 2 และโรงเรียนวัดหูแร่ได้พิจารณาชะลอการรื้อถอนเพื่อเปิดเวทีรับฟังข้อเท็จจริงร่วมกันกับทุกฝ่ายในวันที่ 30 ต.ค.

ทว่า ในงานวันสารทเดือนสิบเมื่อวันที่ 1 ต.ค. ปีนี้ ได้มีการเชิญชวนให้ชาวบ้านร่วมกันรื้อถอนอาคารเรียนในวันที่ 8 ตุลาคม ให้เสร็จสิ้นสมบูรณ์ โดยผู้อำนวยการโรงเรียนวัดหูแร่ได้ออกหนังสือเป็นลายลักษณ์อักษร เพื่อยืนยันในการรื้อถอนอาคารดังกล่าวในวันที่ 5 ตุลาคม 2555 อาคารกว่า 46 ปี จึงถูกรื้อสิ้นซากก่อนที่จะหาทางออกเพื่อยุติข้อขัดแย้งแคลงใจของทุกฝ่ายเสียด้วยซ้ำ

ในการประชุมชี้แจงครั้งนี้ นายกรีฑา อนุรักษ์ ผู้อำนวยการโรงเรียนวัดหูแร่ เปิดเผยถึงสาเหตุที่รื้อถอนอาคารเรียน โดยไม่รั้งรอการเข้ามาตรวจสอบข้อเท็จจริงของคณะกรรมการสิทธิฯ ที่กำลังจะมีขึ้นในวันที่ 30 ต.ค.คือ 1.เป็นการวางแผนด้านอาคารสถานที่ของโรงเรียนในอนาคต เพราะที่ดินมีน้อย โดยได้ปรึกษากับพระครูมนูญธรรมมานุวัตร หรือเจ้าอั้น เจ้าอาวาสวัดหูแร่ เนื่องจากโรงเรียนใช้ที่ดินของวัด และวัดหูแร่ได้สนับสนุนงบประมาณในการพัฒนามาโดยตลอด จนกลายเป็นโรงเรียนศูนย์กลางของเทศบาลเมืองทุ่งทำเสาในที่สุด 2.เนื่องจากอาคารมีสภาพที่ชำรุดมากแล้ว และมีการทยอยรื้อถอนมาโดยตลอด จนกระทั่งเหลือเพียงผนัง จึงต้องรีบดำเนินการต่อโดยไม่รอการลงพื้นที่ตรวจสอบของคณะกรรมการสิทธิฯ เพราะห่วงความปลอดภัยนักเรียน

3.รื้อเพื่อนำวัสดุที่แข็งแรงไปใช้ประโยชน์ต่อโดยไปสร้างอาคารใหม่ โดยปรับยกพื้นเพื่อป้องกันปัญหาน้ำท่วมถึง 4.ขณะนี้นักเรียนอนุบาลต้องเรียนที่อาคารอเนกประสงค์ ถ้ารื้ออาคารนี้แล้วไปสร้างอาคารเรียนใหม่ให้นักเรียนชั้นอนุบาล และปรับปรุงอาคารอเนกประสงค์ให้เป็นหอประชุมที่โรงเรียนแห่งนี้ไม่มี 5.เพราะปรับปรุงถนนภายในโรงเรียนให้สัญจรสะดวกขึ้น

นายกรีฑา ยังกล่าวว่า การที่คนในชุมชนมาคัดค้านไม่ได้ผิด แต่ไม่ถูกต้องที่ใช้คำพูดรุนแรงที่กระทบกับตัวเองมากมาย ด้านกลุ่มผู้คัดค้านที่ทวงถามเรื่องการใช้ไม้หลุมพอจากโรงเรียนก็เพิ่งทราบว่า จะนำไปสร้างอาคารเรียนใหม่ในโอกาสนี้เอง จึงเกิดความพอใจในระดับหนึ่ง หลังจากที่ทั้ง 2 ฝ่ายเคยเผชิญหน้าแล้วสาดอารมณ์กันจนยากที่จะพูดคุยอย่างปกติ

ด้านนายอาหมัด เบ็ญอาหลี รองผู้อำนวยการสำนักงานพื้นที่การศึกษาสงขลาเขต 2 ได้ชี้แจงที่มาของการออกหนังสือให้มีการรื้อถอนอาคารเรียนโรงเรียนวัดหูแร่ เพราะตรวจพบว่า อาคารเรียนอยู่ในสภาพที่ชำรุดบางส่วนจริง และโรงเรียนได้ดำเนินการถูกต้องตามระเบียบขออนุญาตรื้อถอนอาคารและสิ่งก่อสร้าง ซึ่งได้ขึ้นทะเบียนกับกรมธนารักษ์ ในขณะที่มีอาคารเรียนใหม่รองรับให้แก่นักเรียนแล้ว จึงให้สิทธิแก่โรงเรียนในการดำเนินการ
ศิษย์เก่าโรงเรียนวัดหูแร่ ร่วมชี้แจงและซักถามข้อเท็จจริง
นายประสาท มีแต้ม อนุกรรมการด้านสิทธิชุมชนและฐานทรัพยากร ให้ความเห็นว่า โรงเรียนกับชุมชนไม่น่ามีความขัดแย้งกัน เพราะอยู่กันมาหลายปีแล้ว และที่ผ่านมาชุมชนก็ได้ให้ความช่วยเหลือโรงเรียนมาโดยตลอด ในเรื่องสิทธิของชุมชนนั้น กฎหมายรัฐธรรมนูญให้ให้ความสำคัญ ดังนั้น แม้จะเป็นหนึ่งเสียงส่วนน้อยก็ต้องรับฟังนำมาสู่การหาข้อยุติความขัดแย้งที่ทุกฝ่ายต่างพอใจได้ดีกว่านี้ ที่ไม่ต้องลงท้ายด้วยการรื้ออาคารเรียนบนความไม่เห็นด้วยของชาวบ้าน

เช่นเดียวกับนายประยงค์ ดอกลำไย อนุกรรมการด้านสิทธิชุมชนและฐานทรัพยากร ได้แสดงความคิดเห็นว่า ปัญหานี้ใช้มาตรฐานในการแก้ไขคนละอย่าง กล่าวคือ ทางโรงเรียนเน้นให้เป็นไปตามกฎระเบียบราชการ ขณะที่ชุมชนนั้นมองในเรื่องของสิทธิชุมชนที่จะต้องมีการรับฟัง ซึ่งช่องว่างนี้ทำให้ปัญหาที่มาจากความค้างคาใจไม่จบ สะท้อนการมีส่วนร่วมที่ไม่สมบูรณ์ตั้งแต่ต้น ในขณะที่ผู้อำนวยการโรงเรียนนั้นทำงานที่นี่แค่ช่วงเวลาหนึ่งแล้วจากไป ซึ่งหากทั้ง 2 ฝ่ายได้ชี้แจงข้อเท็จจริงให้รอบด้าน และประนีประนอมหาทางออกร่วมกัน เพื่อให้พึงพอใจทั้ง 2 ฝ่าย โดยอาจจะไม่ต้องรื้ออาคารทั้งหมด หรือชี้แจงชาวบ้านว่ารื้อทั้งหมดแล้วจะนำไปสร้างอาคารใหม่ในกรณีที่วัสดุยังมีความแข็งแรงอยู่เสียตั้งแต่ต้น เชื่อว่าปัญหานี้ก็ยุติได้โดยดี และคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนไม่ต้องลงมาตรวจสอบข้อเท็จจริงเสียด้วยซ้ำ
นายชาญวิทย์ อร่ามฤทธิ์ อนุกรรมการสิทธิชุมชน
สุดท้ายแล้ว ขณะนี้อาคารเรียนก็ได้รื้อถอนไปแล้ว ซึ่งไม่สามารถที่จะแก้ไขอะไรได้แล้ว นอกจากว่าจะเก็บมันไปเป็นบทเรียนเพื่อหาทางแก้ไขกันต่อไป ว่าจะปรองดองกันอย่างไร เมื่อมันเป็นเช่นนี้แล้วก็ต้องหาวิธีแก้ไขกันต่อไป ถ้าขืนปล่อยไว้ ก็จะเป็นปัญหาระยะยาว ส่งผลกระทบต่อความรู้สึกของชาวบ้าน สุดท้ายก็จะกลายเป็นความบาดหมางที่ต่อกันไม่ติด

กำลังโหลดความคิดเห็น