xs
xsm
sm
md
lg

จากสัมปทานปิโตรเลียมถึงระบบ 3G : โศกนาฏกรรมประเทศไทย/ประสาท มีแต้ม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


คอลัมน์ : โลกที่ซับซ้อน
โดย...ประสาท มีแต้ม
 
ข่าวการประมูลคลื่นความถี่ในระบบโทรศัพท์มือถือรุ่นที่ 3 หรือที่เรียกกันสั้นๆ ว่า “ระบบ 3G” ซึ่งเปรียบเสมือนอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงบนระบบมือถือ เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ได้สร้างความรู้สึกที่ผิดหวังให้แก่สังคมไทยอย่างรุนแรง
      
ผมพยายามนึกถึงคำศัพท์ที่จะใช้อธิบายปรากฏการณ์ดังกล่าว ทั้งในภาษาไทย และภาษาอังกฤษ ในที่สุดก็ไปพบคำว่า “โศกนาฏกรรม” และ “tragedy” หลังจากประมวลความหมายแล้วผมสรุปออกมาได้ความว่า
      
“โศกนาฏกรรม (tragedy)” เป็นคำที่ใช้อธิบายปรากฏการณ์ในละคร หรือวรรณกรรมในเวลาที่ต่างกัน แต่ในที่สุดก็จบลงด้วยความเศร้า หรือไม่สมหวัง ตัวเอกในเรื่องมักจะตายในที่สุด
      
เฮ้ย! ตัวเอกในเรื่องมักจะตายในที่สุด
      
นั่นมันในละคร หรือวรรณกรรม (นี่หว่า) แต่ในเรื่องจริงนี้ผู้ที่ไม่สมหวังคือ ประชาชน และเป็นตัวเอกในเรื่องเสียด้วย ประชาชนจะตายได้อย่างไรกัน
      
ชีวิตจริงต่างจากละครก็ตรงที่ ประชาชนของประเทศตายไม่ได้ ไม่มีประชาชนก็เป็นประเทศไม่ได้ ดังนั้น หน้าที่ของประชาชนคือ การเรียนรู้แล้วสรุปเป็นบทเรียนเพื่อ “reset” หรือจัดระเบียบประเทศไทยกันใหม่ในทุกด้าน
      
ผมเองไม่ได้ติดตามรายละเอียดในการประมูล 3G มากนัก ไม่รู้ขั้นตอน ไม่รู้เทคนิคอะไรทั้งนั้น แต่ผมรับรู้ว่าเหตุผลที่คณะกรรมการจัดประมูลระบบ 3G นำมาอ้างนั้น ช่างเหมือนกันกับเหตุผลในการให้สัมปทานแหล่งปิโตรเลียมที่มีมูลค่านับหลายล้านล้านบาทเมื่อ 20 กว่าปีมาแล้วเปี๊ยบเลย
      
นั่นคือ เหตุผลที่ว่า ถ้าตั้งราคาประมูลขั้นต้นไว้ในราคาสูง เกรงจะไม่มีใครมาประมูล เกรงว่าภาระจะไปตกกับผู้บริโภค และหากจะมีการเลื่อนการประมูลออกไปตามที่มีผู้เรียกร้องก็จะเกิดความเสียหายต่อการพัฒนาประเทศ เสียหายต่อประชาชน อะไรทำนองนั้น พร้อมมีตัวเลขให้ดูชวนเวียนหัวนี่คือ สาระที่ผมสรุปได้จากกรณีการประมูล 3G
      
คราวนี้มาถึงการประมูลสัมปทานปิโตรเลียมบ้าง แต่เพื่อความเข้าใจ ผมขอลำดับเหตุการณ์โดยย่อดังนี้ก่อน
      
เดิมที (2514-2524) ผลประโยชน์ที่ประเทศได้รับจากการให้สัมปทานคือ (1) ค่าภาคหลวง 12.5% ของมูลค่าปิโตรเลียม และ (2) ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม (50-60% ของกำไรสุทธิ หรือของมูลค่าปิโตรเลียมหักด้วยค่าภาคหลวง และหักด้วยค่าลงทุน หรือค่าใช้จ่าย แต่เก็บภาษีจริงที่ 50% มาตลอด) ระบบนี้เรียกย่อๆ ว่า Thailand I
      
ต่อมา (2525-2531) ได้มีการเพิ่มเงื่อนไขไปอีก 2 ข้อ คือ (1) ค่าใช้จ่ายที่หักได้ต้องไม่เกิน 20% ของมูลค่าปิโตรเลียม (คิดแบบเดียวกับประเทศมาเลเซีย) และ (2) โบนัสรายปีในอัตราก้าวหน้า (ไม่ขอกล่าวรายละเอียด) ระบบนี้เรียกย่อๆ ว่า Thailand II
      
ต่อไปนี้เป็นเหตุผลที่เหมือนกับเหตุผลของการประมูล 3G ในการยกเลิกระบบ Thailand II ผมลอกมาเลยครับ “หากประเทศไทยยังเชิญชวนเอกชนให้มาลงทุนภายใต้เงื่อนไขของระบบ Thailand II ต่อไป ก็คงไม่มีผู้สนใจมาขอสัมปทาน ทั้งจะส่งผลให้นโยบายการเร่งรัดการสำรวจและผลิตขาดความต่อเนื่อง ดังนั้น จึงมีความคิดที่จะแก้ไขปรับปรุงระบบการจัดเก็บรายได้ของรัฐ” (จากรายงานประจำปี 2554 กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ หน้า 34)
      
แล้วในปี 2532 ก็แก้ไขกฎหมายเดิม คือ ยกเลิก Thailand I แล้วจึงมี Thailand III ดังที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน (แต่ไม่ขอลงรายละเอียด ส่วนที่เปลี่ยนแปลงไปจาก Thailand I คือ ผลประโยชน์ตอบแทนพิเศษ)
      
ถ้าอยากทราบว่าการยกเลิกระบบ Thailand II โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนที่ยกเลิกเพดานค่าใช้จ่ายของบริษัทรับสัมปทานแล้วเกิดความเสียหายอย่างไร ลองพิจารณาข้อมูลจากตารางข้างล่างนี้ครับ
      
นี่เป็นมูลค่าปิโตรเลียม และรายการต่างๆ จากการสัมปทานในปี 2553-2554
รายการ (ล้านบาท)  ปี 2553 ร้อยละของ(1)  ปี 2554 ร้อยละของ(1) 
(1) มูลค่าปิโตรเลียม 365,650/ 100.00/ 421,627 /100.00
(2) ค่าภาคหลวง 44,536/ 12.20 /51,044 /12.11
(3) เงินลงทุน 136,545 / 37.34/ 144,878 /34.36
(4) ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม 81,240/ 22.22 /81,778 /19.40
(5) ผลประโยชน์ตอบแทนพิเศษ 3,389 /0.93 /3,986/ 0.95
ที่มา คำนวณจากรายงานประจำปี 2554 กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กระทรวงพลังงาน
      
จากข้อมูลดังกล่าว เราจะเห็นได้ทันทีว่า บริษัทผู้รับสัมปทานได้หักค่าใช้จ่ายไปในอัตรา 37.34% และ 34.36% ของมูลค่าปิโตรเลียมในปี 2553 และ 2554
      
แม้ว่าจะมีกฎเกณฑ์มากมายในการอนุญาตให้หักรายจ่ายได้ตามที่เป็นจริงและจำเป็น แต่ไม่พบว่ามีเพดานจำกัดไว้เลย ในขณะที่ประเทศมาเลเซียกำหนดว่า “ผู้ลงทุนสามารถหักค่าใช้จ่ายในการลงทุนแต่ละปีได้ไม่เกินร้อยละ 20 ของมูลค่าผลผลิต ค่าใช้จ่ายที่หักไม่หมดให้ทบในปีต่อไปได้”
      
ผมลองกดเครื่องคิดเลขดูพบว่า ถ้ามีการกำหนดค่าใช้จ่ายแบบประเทศมาเลเซีย ต้นทุนของบริษัทในปี 2553 จะลดลงไปถึงกว่า 6 หมื่นล้านบาท มากกว่าค่าภาคหลวงเสียอีก
      
การอนุญาตให้บริษัทเบิกค่าใช้จ่ายได้โดยไม่มีการจำกัดจำนวนก็ไม่ต่างอะไรกับการเซ็นเช็คว่างแล้วให้ผู้ถือเติมตัวเลขเอาเอง ใจถึงจริงๆ!
      
นอกจากไม่มีการกำหนดเพดานค่าใช้จ่ายแล้ว ยังสามารถนำเข้าอุปกรณ์และเครื่องมือต่างๆ โดยไม่ต้องเสียภาษีอากร และภาษีมูลค่าเพิ่มอีกด้วย นอกจากนี้ บริษัทยังได้รับผลประโยชน์จากการส่งเสริมการลงทุนทำให้ไม่ต้องเสียภาษีเงินได้อีก 8 ปี
      
อีกประเด็นหนึ่งที่กระทรวงพลังงานมักอ้างว่าผู้รับสัมปทานได้รับผลประโยชน์น้อย โดยอิงอยู่กับวิธีคิดที่ถูก “ผู้เชี่ยวชาญ” หลอกให้หลงกล และดีใจเล่น
      
ลองมาดูวิธีคิดกำไรขาดทุนที่เป็นวิชาเลขคณิตเบื้องต้นดูสิว่าจะเป็นอย่างไร
      
ในปี 2553 บริษัทรับสัมปทานลงทุน 136,545 ล้านบาท มีกำไรสุทธิ 99,883 ล้านบาท นั่นคือกำไรสุทธิร้อยละ 73.15 ของทุนที่ลงไป ทำนองเดียวกัน ปี 2554 บริษัทมีกำไรสุทธิถึงร้อยละ 96.6
      
คำถามก็คือ มีธุรกิจใดบ้างมีกำไรสุทธิในอัตราที่สูงขนาดนี้บ้าง นอกจากสามารถเรียกทุนคืนได้หมดในปีเดียวแล้ว ยังมีกำไรเหลืออีก 73-96% ของเงินลงทุน
      
อ้อ! อาจจะมีนะคือ อาชีพค้ายาเสพติด กับอาชีพนักการเมือง (ในประเทศไทยยุคหลังๆ)
      
เป็นโศกนาฏกรรมไหมครับ
      
แต่อย่างที่ว่าแล้วครับ ประชาชนจะมัวแต่ผิดหวังไม่ได้ ประชาชนไม่มีวันตาย ประชาชนตายก็ไม่เป็นประเทศ
      
จึงต้อง reset ประเทศไทย แต่ไม่ใช่ restart ที่แค่เริ่มต้นใหม่โดยไม่ทำอะไรอื่นเลย แต่ต้อง reset ต้องเป็นการจัดระเบียบประเทศไทยกันใหม่ในทุกด้านและพร้อมๆ กันด้วย
 
 
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น