xs
xsm
sm
md
lg

จากสัมปทานปิโตรเลียมถึงระบบ 3G : โศกนาฏกรรมประเทศไทย

เผยแพร่:   โดย: ประสาท มีแต้ม

ข่าวการประมูลคลื่นความถี่ในระบบโทรศัพท์มือถือรุ่นที่ 3 หรือที่เรียกกันสั้นๆ ว่า “ระบบ 3G” ซึ่งเปรียบเสมือนอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงบนระบบมือถือ เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาได้สร้างความรู้สึกที่ผิดหวังให้กับสังคมไทยอย่างรุนแรง

ผมพยายามนึกถึงคำศัพท์ที่จะใช้อธิบายปรากฏการณ์ดังกล่าว ทั้งในภาษาไทยและภาษาอังกฤษ ในที่สุดก็ไปพบคำว่า “โศกนาฏกรรม” และ “tragedy” หลังจากประมวลความหมายแล้วผมสรุปออกมาได้ความว่า

“โศกนาฏกรรม (tragedy)” เป็นคำที่ใช้อธิบายปรากฏการณ์ในละครหรือวรรณกรรมในเวลาที่ต่างกัน แต่ในที่สุดก็จบลงด้วยความเศร้าหรือไม่สมหวัง ตัวเอกในเรื่องมักจะตายในที่สุด

เฮ้ย! ตัวเอกในเรื่องมักจะตายในที่สุด

นั่นมันในละครหรือวรรณกรรม (นี่หว่า) แต่ในเรื่องจริงนี้ผู้ที่ไม่สมหวังคือประชาชน และเป็นตัวเอกในเรื่องเสียด้วย ประชาชนจะตายได้อย่างไรกัน


ชีวิตจริงต่างจากละครก็ตรงที่ ประชาชนของประเทศตายไม่ได้ ไม่มีประชาชนก็เป็นประเทศไม่ได้ ดังนั้น หน้าที่ของประชาชนคือการเรียนรู้แล้วสรุปเป็นบทเรียนเพื่อ “reset” หรือจัดระเบียบประเทศไทยกันใหม่ในทุกด้าน

ผมเองไม่ได้ติดตามรายละเอียดในการประมูล 3G มากนัก ไม่รู้ขั้นตอน ไม่รู้เทคนิคอะไรทั้งนั้น แต่ผมรับรู้ว่าเหตุผลที่คณะกรรมการจัดประมูลระบบ 3G นำมาอ้างนั้น ช่างเหมือนกันกับเหตุผลในการให้สัมปทานแหล่งปิโตรเลียมที่มีมูลค่านับหลายล้านล้านบาทเมื่อ 20 กว่าปีมาแล้วเปี๊ยบเลย

นั่นคือเหตุผลที่ว่า ถ้าตั้งราคาประมูลขั้นต้นไว้ในราคาสูง เกรงจะไม่มีใครมาประมูล เกรงว่าภาระจะไปตกกับผู้บริโภค และหากจะมีการเลื่อนการประมูลออกไปตามที่มีผู้เรียกร้องก็จะเกิดความเสียหายต่อการพัฒนาประเทศเสียหายต่อประชาชน อะไรทำนองนั้น พร้อมมีตัวเลขให้ดูชวนเวียนหัวนี่คือสาระที่ผมสรุปได้จากรณีการประมูล 3G

คราวนี้มาถึงการประมูลสัมปทานปิโตรเลียมบ้าง แต่เพื่อความเข้าใจ ผมขอลำดับเหตุการณ์โดยย่อดังนี้ก่อน

เดิมที (2514-2524) ผลประโยชน์ที่ประเทศได้รับจากการให้สัมปทานคือ (1) ค่าภาคหลวง 12.5% ของมูลค่าปิโตรเลียมและ (2) ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม (50-60% ของกำไรสุทธิหรือของมูลค่าปิโตรเลียมหักด้วยค่าภาคหลวงและหักด้วยค่าลงทุนหรือค่าใช้จ่าย แต่เก็บภาษีจริงที่ 50% มาตลอด) ระบบนี้เรียกย่อๆ ว่า Thailand I

ต่อมา (2525-2531) ได้มีการเพิ่มเงื่อนไขไปอีก 2 ข้อ คือ (1) ค่าใช้จ่ายที่หักได้ต้องไม่เกิน 20% ของมูลค่าปิโตรเลียม (คิดแบบเดียวกับประเทศมาเลเซีย) และ (2) โบนัสรายปีในอัตราก้าวหน้า (ไม่ขอกล่าวรายละเอียด) ระบบนี้เรียกย่อๆ ว่า Thailand II

ต่อไปนี้เป็นเหตุผลที่เหมือนกับเหตุผลของการประมูล 3G ในการยกเลิกระบบ Thailand II ผมลอกมาเลยครับ “หากประเทศไทยยังเชิญชวนเอกชนให้มาลงทุนภายใต้เงื่อนไขของระบบ Thailand II ต่อไป ก็คงไม่มีผู้สนใจมาขอสัมปทาน ทั้งจะส่งผลให้นโยบายการเร่งรัดการสำรวจและผลิตขาดความต่อเนื่อง ดังนั้น จึงมีความคิดที่จะแก้ไขปรับปรุงระบบการจัดเก็บรายได้ของรัฐ” (จากรายงานประจำปี 2554 กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ หน้า 34)

แล้วในปี 2532 ก็แก้ไขกฎหมายเดิม คือยกเลิก Thailand I แล้วจึงมี Thailand III ดังที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน (แต่ไม่ขอลงรายละเอียด ส่วนที่เปลี่ยนแปลงไปจาก Thailand I คือ ผลประโยชน์ตอบแทนพิเศษ)

ถ้าอยากทราบว่าการยกเลิกระบบ Thailand II โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนที่ยกเลิกเพดานค่าใช้จ่ายของบริษัทรับสัมปทานแล้วเกิดความเสียหายอย่างไร ลองพิจารณาข้อมูลจากตารางข้างล่างนี้ครับ

ตารางนี้เป็นมูลค่าปิโตรเลียมและรายการต่างๆ จากการสัมปทานในปี 2553-2554
รายการ(ล้านบาท) ปี 2553ร้อยละของ(1) ปี 2554ร้อยละของ(1)
(1)มูลค่าปิโตรเลียม365,650100.00421,627100.00
(2)ค่าภาคหลวง44,53612.2051,04412.11
(3)เงินลงทุน136,54537.34144,87834.36
(4)ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม81,24022.2281,77819.40
(5)ผลประโยชน์ตอบแทนพิเศษ3,3890.933,9860.95

ที่มา คำนวณจากรายงานประจำปี 2554 กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กระทรวงพลังงาน

จากตารางดังกล่าว เราจะเห็นได้ทันทีว่า บริษัทผู้รับสัมปทานได้หักค่าใช้จ่ายไปในอัตรา 37.34% และ 34.36% ของมูลค่าปิโตรเลียมในปี 2553 และ 2554

แม้ว่าจะมีกฎเกณฑ์มากมายในการอนุญาตให้หักรายจ่ายได้ตามที่เป็นจริงและจำเป็น แต่ไม่พบว่ามีเพดานจำกัดไว้เลย ในขณะที่ประเทศมาเลเซียกำหนดว่า “ผู้ลงทุนสามารถหักค่าใช้จ่ายในการลงทุนแต่ละปีได้ไม่เกินร้อยละ 20 ของมูลค่าผลผลิต ค่าใช้จ่ายที่หักไม่หมดให้ทบในปีต่อไปได้”

ผมลองกดเครื่องคิดเลขดูพบว่า ถ้ามีการกำหนดค่าใช้จ่ายแบบประเทศมาเลเซีย ต้นทุนของบริษัทในปี 2553 จะลดลงไปถึงกว่า 6 หมื่นล้านบาท มากกว่าค่าภาคหลวงเสียอีก

การอนุญาตให้บริษัทเบิกค่าใช้จ่ายได้โดยไม่มีการจำกัดจำนวนก็ไม่ต่างอะไรกับการเซ็นเช็คว่างแล้วให้ผู้ถือเติมตัวเลขเอาเอง ใจถึงจริงๆ!

นอกจากไม่มีการกำหนดเพดานค่าใช้จ่ายแล้ว ยังสามารถนำเข้าอุปกรณ์และเครื่องมือต่างๆ โดยไม่ต้องเสียภาษีอากรและภาษีมูลค่าเพิ่มอีกด้วย นอกจากนี้บริษัทยังได้รับผลประโยชน์จากการส่งเสริมการลงทุนทำให้ไม่ต้องเสียภาษีเงินได้อีก 8 ปี

อีกประเด็นหนึ่งที่กระทรวงพลังงานมักอ้างว่าผู้รับสัมปทานได้รับผลประโยชน์น้อย โดยอิงอยู่กับวิธีคิดที่ถูก “ผู้เชี่ยวชาญ” หลอกให้หลงกลและดีใจเล่น

ลองมาดูวิธีคิดกำไรขาดทุนที่เป็นวิชาเลขคณิตเบื้องต้นดูซิว่าจะเป็นอย่างไร

ในปี 2553 บริษัทรับสัมปทานลงทุน 136,545 ล้านบาท มีกำไรสุทธิ 99,883 ล้านบาท นั่นคือกำไรสุทธิร้อยละ 73.15 ของทุนที่ลงไป ทำนองเดียวกัน ปี 2554 บริษัทมีกำไรสุทธิถึงร้อยละ 96.6

คำถามก็คือมีธุรกิจใดบ้างมีกำไรสุทธิในอัตราที่สูงขนาดนี้บ้าง นอกจากสามารถเรียกทุนคืนได้หมดในปีเดียวแล้วยังมีกำไรเหลืออีก 73-96% ของเงินลงทุน

อ้อ! อาจจะมีนะคืออาชีพค้ายาเสพติดกับอาชีพนักการเมือง (ในประเทศไทยยุคหลังๆ)

เป็นโศกนาฏกรรมไหมครับ

แต่อย่างที่ว่าแล้วครับ ประชาชนจะมัวแต่ผิดหวังไม่ได้ ประชาชนไม่มีวันตาย ประชาชนตายก็ไม่เป็นประเทศ

จึงต้อง reset ประเทศไทย แต่ไม่ใช่ restart ที่แค่เริ่มต้นใหม่โดยไม่ทำอะไรอื่นเลย แต่ต้อง reset ต้องเป็นการจัดระเบียบประเทศไทยกันใหม่ในทุกด้านและพร้อมๆ กันด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น