สตูล - เกษตรกรที่เลี้ยงปูดำหันมาเลี้ยงปูนิ่มซึ่งมีราคาสูงกว่า หลังศึกษาชีวิตปูนิ่ม และปูนิ่มคือปูที่เพิ่งลอกคราบที่นิยมรับประทาน จึงเป็นที่ต้องการของตลาดเพราะรับประทานได้ทั้งตัว เป็นเมนูอาหารแสนอร่อยได้หลายชนิด
นายฮาหมาด จินดา อายุ 60 ปี อยู่บ้านเลขที่ 143 หมู่ 3 ต.คลองขุด อ.เมือง จ.สตูล เป็นเกษตรกรเลี้ยงปูนิ่ม และเป็นวิทยากรบรรยายเรื่องราวการเลี้ยงปูนิ่มให้เยาวชนและนักเรียน ชาวบ้านฟังอยู่บ่อยครั้ง นายฮาหมาดเล่าว่า ขณะนี้ผมเลี้ยงปูนิ่มบนพื้นที่ 3 ไร่หลังบ้าน ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีน้ำเค็มขึ้นถึง ไม่สามารถเพาะปลูกอะไรได้ นอกจากต้นไม้ที่ขึ้นในน้ำเค็ม และไม่สามารถนำมาใช้ประโยชน์อะไรได้ จึงมีแนวคิดในการเลี้ยงสัตว์น้ำเป็นการทำเกษตรประมงแบบธรรมชาติ เพื่อให้ป่าน้ำเค็มในบริเวณนี้เป็นป่าที่สมบูรณ์ ตามหลักเกษตรพอเพียงที่ว่า ป่าพึ่งคน คนพึ่งป่า
โดยเริ่มจากการขุดลอกดินให้เป็นร่องน้ำรอบๆ พื้นที่ ลึกประมาณ 1 เมตรครึ่ง เพื่อใช้สำหรับการเลี้ยงปูนิ่มในกล่องโดยให้น้ำสามารถไปไหลเวียนได้ และมีช่องให้น้ำทะเลไหลเข้าออกโดยใช้ตาข่ายกั้นเอาไว้ เพื่อไม่ให้ปูออก พร้อมกับปลูกป่าชายเลนตรงกลาง มีลักษณะคล้ายเกาะเล็กๆ บนเกาะมีพันธุ์ไม้ชนิดต่างๆ หลากสายพันธุ์ ประกอบไปด้วย ไม้โกงกาง ไม้พังกาหัวสุม ลำแพน ไม้ตุ่ม แสม โปรงแดง จากนั้นก็นำปนิ่มไปเลี้ยงในกล่องๆ ละ 1 ตัว ทั้งหมดที่ผมเลี้ยงอยู่มี 600 กล่อง และในร่องน้ำอีกหลายร้อยตัว อาศัยรวมกันอยู่ร่วมกับปลาทะเลหลายชนิด
นอกจากนี้ ยังขุดเป็นบ่อพักฟื้นปูอีก 1 บ่อ การเลี้ยงปูนิ่มในลักษณะนี้เป็นการเลี้ยงเชิงธรรมชาติ เพียงแค่เราเรียนรู้ธรรมชาติของมัน ซึ่งปูเป็นสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ อาศัยอยู่ในป่าชายแลน เลี้ยงแบบนี้ก็เหมือนการสร้างที่อยู่ให้มัน มีดิน น้ำ ป่า ปูก็จะเติบโตตามธรรมชาติ มันสามารถผ่านวิกฤตทางธรรมชาติไปได้ ทั้งน้ำท่วม ภัยแล้ง และยังเป็นการประหยัดต้นทุนด้วย
สำหรับการเลี้ยงปูนิ่ม 1,000 กล่อง จะใช้ต้นทุนซื้อกล่องใส่ปูในราคากล่องราคา 18 บาท จะตกอยู่ที่ 18,000 บาท ปู 1 ตัวต่อ 1 กล่อง ส่วนอื่นๆ ก็จะเป็นค่าวัสดุทำแพลอยน้ำ ส่วนพันธุ์ปูจะซื้อจากชาวบ้านที่ไปตกปูจากธรรมชาติ ในราคา กิโลกรัมละ 75 บาท ซึ่งมีประมาณ 10 ตัว ปัจจุบันพบว่า พันธุ์ปูมีน้อยมาก ถือว่าเป็นปัญหาปูน้อยลง ต้องเพาะพันธุ์ปูขึ้นมา
ส่วนปูที่ผมเลี้ยง มี 3 ชนิด คือ ปูดำเนื้อ ปูดำไข่ ปูดำนิ่ม ซึ่งจะมีราคาต่างกัน ปูดำนิ่มจะขายส่งพ่อค้าคนกลางในราคา 185 บาท ขายปลีกกิโลกรัม 220-240 บาท ปูดำเนื้อขนาด 5 ขีด ราคา 220 บาท 4 ขีด ราคา 160 บาท (ขายส่ง) ซึ่งในแต่ละเดือนจะมีรายได้ประมาณ 7,000-8,000 บาท
ส่วนปูไข่ขนาด 8-10 ตัวต่อกิโลกรัม ราคา 200 กว่าบาท ปูไข่นี้ไม่ได้ขาย จะขุนไว้เป็นแม่พันธุ์ และเลี้ยงไว้เป็นของฝากให้แก่พรรคพวกที่เข้ามาเยี่ยม หรือเอาไปฝากญาติๆ ปูดำจะกินลูกปลาเป็นอาหาร จะให้อาหารบนผิวน้ำ 3 วันต่อครั้ง เฉลี่ยประมาณ 7 กิโลกรัม ปูจะเติบโตด้วยการลอกคราบ ลอก 1 ครั้งก็จะโตขึ้น 1 ครั้ง ตัวไหนกินอิ่มจนเนื้อเต็มตัวก็จะลอกก่อน จึงทำให้ปูลอกคราบไม่พร้อมกัน เราจึงมีปูนิ่มขายทุกวัน จะมาก หรือน้อยขึ้นอยู่กับการลอกคราบของปู
นายฮาหมาด กล่าวอีกว่า ก่อนที่จะหันมาเลี้ยงปูนิ่มตามธรรมชาติ ได้เริ่มศึกษาธรรมชาติของมัน บวกกับได้รับคำแนะนำจากเจ้าหน้าที่ป่าชายเลยที่ 34 ว่าธรรมชาติของปูพวกนี้จะอาศัยอยู่ในป่าชายเลน ผมจึงแบ่งพื้นที่สำหรับปลูกพันธุ์ไม้ป่าชายเลน และศึกษาวิถีชีวิตของมัน การเติบโต การลอกคราบ การล่าเหยื่อ ทำให้วันนี้รู้จักปูดีพอสมควร และก็ปรับการเลี้ยงโดยอิงธรรมชาติ จึงพบว่าการเลี้ยงแบบนี้ทำให้ลดความเสี่ยงการตายของปู และเป็นการประหยัดต้นทุนด้วย
จึงค้นพบว่า บนพื้นที่ 3 ไร่หลังบ้านซึ่งเป็นป่าเลนเหมาะที่สุดที่จะเลี้ยงปูนิ่มแบบอิงธรรมชาติตามหลักเกษตรพอเพียง จึงสร้างรายได้ให้แก่ครอบครัวมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ ผมก็ยินดีหากใครสนใจเรียนรู้การเลี้ยงปูอิงธรรมชาติ เพราะผมตั้งใจตั้งแต่ต้นแล้วว่า จะเลี้ยงนำร่องให้แก่เกษตรกรรายอื่นๆ หากใครสนใจเลี้ยงปูดำเชิงธรรมชาติต้องการความรู้เพิ่ม สามารถติดต่อ โทร.08-9463-2994